'ก้าวไกล-กล้า' บทที่สองของการเมืองไทย

'ก้าวไกล-กล้า' บทที่สองของการเมืองไทย

เมื่อ “พรรคก้าวไกล” คือสังกัดใหม่ของ ส.ส.อดีตพรรคอนาคตใหม่ ที่มี “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคคนใหม่ ประกาศสานต่อ “บทที่สอง” ของพรรคอนาคตใหม่

 เป้าหมายของพรรค ย่อมถูกจับตาถึงการเดินตามอุดมการณ์ของ“ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ”และแนวทางของ “ปิยบุตร แสงกนกกุล”

เมื่อ พรรคกล้า” ที่นำโดย กรณ์ จาติกวณิช อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) หลายสมัย แยกทางจากพรรคปชป. จัดตั้งพรรคการเมืองของตัวเอง รวบรวม คนรุ่นเก่า-คนรุ่นใหม่-นักธุรกิจ หวังเป็นตัวเลือกในสนามการเมืองสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า

แม้ 2 พรรคการเมือง จะถือกำเนิดจากต่างกรรมต่างวาระ แต่ความเคลื่อนไหวของทั้ง 2 พรรค มีผลต่อเกมการเมืองในระยะยาว

สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า มองว่า พรรคก้าวไกลประกาศ สร้างความยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ และให้มีความเสมอภาคเท่าเทียม ไม่ได้มุ่งเน้นประชานิยม เน้นการมีชีวิตอยู่ในยุคหน้า ซึ่งมีความชัดเจนในนโยบาย และการประกาศสานต่องานของอดีตพรรคอนาคตใหม่ ก็มีความชัดเจน สามารถกำหนดทิศทางของพรรคได้ รักษาฐานมวลชนเอาไว้ และต่อยอดงานที่จะทำขึ้นมาใหม่

พรรคก้าวไกลจะนำบทเรียนของอดีตพรรคอนาคตใหม่มาปรับใช้ เขาจะไปทีละจุด เน้นการทำงานในสภา การแก้กฎหมายหลายฉบับ กฎหมายเกณฑ์ทหาร กฎหมายสุราพื้นบ้าน เขาจะเคลื่อนไหวในทางรัฐสภา ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มคนภายนอก ซึ่งค่อนข้างยาก ก็ต้องใช้เวลา ส่วนเป้าหมายใหญ่คือการต่อต้านรัฐประหาร ต่อต้านการสืบทอดอำนาจของทหาร ก็ต้องใช้เวลาเช่นกัน เขาอาจจะไม่รีบเร่งหักดิบเหมือนพรรคอนาคตใหม่

สำหรับข้อกล่าวหาที่จะถูกเชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวนอกสภาของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และนายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกลไม่สามารถหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะทั้งหมดเป็นคนที่มาจากอนาคตใหม่

“เขารู้ว่าหากไม่ใช้แนวทางของพรรคอนาคตใหม่ เขาคิดว่าการสานต่อภารกิจของอดีตพรรคอนาคตใหม่มาถูกทาง เขาก็ต้องระมัดระวัง หากมีกิจกรรมทางการเมืองในลักษณะแนวร่วมก็ต้องแยกกันให้ออกอย่างเด็ดขาด เพราะจะให้ นายธนาธรกับนายปิยบุตร มาครอบงำพรรคก้าวไกลไม่ได้ เนื่องจากโดนตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี”

นายสติธร กล่าวต่อว่า สำหรับพรรคกล้า ถือว่าเป็นแนวทางหนึ่งที่จะให้ประชาชนมีโอกาสมากขึ้นในการเลือกพรรคการเมือง เขาเน้นการทำงานให้เกิดผล ต้องการฉีกตัวออกจากพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ถ้าพูดกันตรงๆ พรรค ปชป.พูดมากกว่าทำ นายกรณ์เลยดึงจุดเด่นจากพรรคปชป.มาผสมผสานให้เน้นทำมากกว่าพูด

โดยพรรคกล้าเป็นพรรคการเมืองที่ตั้งไว้ เพื่อการเลือกตั้งครั้งต่อไป ช่วงก่อนการเลือกตั้งจะเน้นการทำงานนอกสภา อาจจะต้องเคลื่อนไหวหนักหน่วง เพราะการเมืองต่อไปขึ้นอยู่กับกระแส เชื่อว่าพรรคกล้าจะทำงานเป็นพรรคผู้ดี ไม่เอาการเมืองน้ำเน่ามาสู้ สร้างการเมืองน้ำใหม่ขึ้นมา

“คนจะมองว่า คุณกรณ์กล้าจริงหรือไม่ ตอนนี้คนก็จะมองว่า คุณกล้ากับทหารหรือไม่ แต่ผมมองว่าพรรคกล้าคงยังจะไม่กล้าแตะกับทหาร เอาแค่ 50-50 พอ ไม่หักเสียทั้งหมด จึงต้องชูความกล้าในด้านอื่น เช่น กล้าเปลี่ยนโฉมด้านเศรษฐกิจ กล้าแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ก็ต้องดูว่าพรรคกล้า จะกล้าตามชื่อพรรคหรือไม่”

ยุทธพร อิสรชัย อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มองว่า พรรคก้าวไกลยังไม่ค่อยชัดเจนในเชิงยุทธศาสตร์ของพรรค เห็นเพียงแค่การเปิดตัวของนายพิธา สิ่งที่เหลืออยู่มีไม่มากนัก นายพิธาไม่เป็นที่รู้จักมากพอ ดังนั้นจึงต้องติดตามว่าจะใช้เวลานานแค่ไหนในการฟูมฟัก ซึ่งอาจจะใช้เวลากว่า 1 ปี

หากพรรคก้าวไกลลดความเข้มข้นจากนโยบายของพรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกลมีคู่แข่งทางการเมืองเพิ่มขึ้น การตลาดทางการเมืองมีพรรคอื่นมากินส่วนแบ่ง พรรคอนาคตใหม่ประสบความสำเร็จในการทำการเมืองเชิงอุดมการณ์ ผมจึงไม่แน่ใจว่าพรรคก้าวไกล จะประสบความสำเร็จเหมือนพรรคอนาคตใหม่

พรรคก้าวไกลเจอบทพิสูจน์หนักแน่นอน เพราะหากละทิ้งอุดมการณ์เดิมก็จะถูกตั้งคำถาม แต่หากเคลื่อนไหวรุนแรง ก็อาจจะโดนบททดสอบทางการเมืองที่ไม่แตกต่างจากพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นพรรคที่ถูกกลืนได้

สำหรับพรรคกล้า เกิดขึ้นเพื่อปิดช่องว่างของพรรค ปชป. พรรคกล้ายังไม่มีอะไรโดดเด่น ซึ่งมีจุดคล้ายกับพรรคนำไทย ของนายอำนวย วีรวรรณ อาจจะมีภาพลักษณ์ดี แต่ไม่สามารถนำพาไปสู่ชัยชนะทางการเมือง พรรคนำไทย มีภาพลักษณ์ดี แต่ไม่มี ส.ส. เข้าสภา

ส่วนแนวนโยบายของพรรคกล้าไม่มีจุดเด่น นโยบายอาจจะโดนใจคนกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะฐานเสียงของพรรคปชป. แต่ยังไม่ใช่ฐานเสียงใหม่ เมื่อนโยบายทับซ้อนกับพรรคปชป. ก็เฉลี่ยคะแนนกันไป ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร