อาเซียนคุมเข้มสกัดโควิด-19 ฟิลิปปินส์เคอร์ฟิว-อินโดฯปิดร.ร.

อาเซียนคุมเข้มสกัดโควิด-19 ฟิลิปปินส์เคอร์ฟิว-อินโดฯปิดร.ร.

ส่องสถานการณ์ไวรัสอาเซียน กับความพยายามคุมเข้มสกัดการระบาดของโรค "โควิด-19" เช่น ฟิลิปปินส์ประกาศเคอร์ฟิว ส่วนอินโดนีเซียได้ประกาศปิดโรงเรียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ขณะนี้ หน่วยงานทุกแห่งในลาวไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนขอร้องให้บริษัทต่างๆหารือกันอย่างรอบคอบ ในการส่งแรงงานไปยังต่างประเทศ และการรับแรงงานต่างด้าวเพิ่ม รวมทั้งนายจ้างต้องให้ความรู้และความเข้าใจอย่างถูกต้องกับลูกจ้างทั้งที่เป็นชาวลาวและชาวต่างชาติ ในการป้องกันโรคโควิด-19 

ส่วนกัมพูชา ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประกาศห้ามเรือสำราญทั้งหมดเข้าประเทศโดยผ่านจุดตรวจผ่านแดน บริเวณชายแดนกัมพูชา-เวียดนาม “กาโอม ซัมนอร์” หวังสกัดกั้นไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 

“โมก ซิเดธ” อธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำ การเดินเรือทั่วไป และท่าเรือ สังกัดกระทรวงโยธาธิการและการขนส่งของกัมพูชา กล่าวว่า คำสั่งห้ามนี้มีผลบังคับใช้ทันทีจนกว่าจะมีการตัดสินใจครั้งใหม่

การดำเนินการครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากพบนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ 3 คนบนเรือล่องแม่น้ำโขง “ไวกิง ครูส เจอร์นีย์” ที่มีผลการทดสอบไวรัสเป็นบวก โดยเรือลำดังกล่าวพานักท่องเที่ยว 30 คนและลูกเรือ 34 คนออกจากท่าเรือมีเถ่อ ในโฮจิมินห์ซิตี้ ประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 5 มี.ค. และมาถึงกรุงพนมเปญเมื่อวันที่ 7 มี.ค. ผ่านกาโอม ซัมนอร์ ก่อนเดินทางมาถึงเมืองกำปงจาม ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกัมพูชาเมื่อวันที่ 9 มี.ค.

ผู้ป่วยชาวอังกฤษ 3 ราย เป็นสามีภรรยาคู่หนึ่งและผู้หญิง 1 คน ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษาและเฝ้าระวังอาการ ขณะที่ผู้โดยสารและลูกเรืออีก 61 รายซึ่งมีผลการทดสอบไวรัสเป็นลบ อยู่ระหว่างกักตัวที่โรงแรมในเมืองกำปงจาม เพื่อรอรับการตรวจสุขภาพต่อไป 

ขณะที่กรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย จะปิดโรงเรียนและให้สอนออนไลน์เป็นเวลาสองสัปดาห์ ตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป 

“อานีส บาสเวดัน” ผู้ว่าการกรุงจาการ์ตา แถลงว่า จะปิดโรงเรียนทุกแห่งและให้สอนออนไลน์อย่างน้อยสองสัปดาห์เริ่มตั้งแต่สัปดาห์หน้า เพื่อยับยั้งโรคโควิด-19 ระบาด หลังจากพบผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันแล้ว 69 คนทั่วประเทศ หลายคนอยู่ในกรุงจาการ์ตา ที่มีประชากรมากถึง 10 ล้านคน ส่วนตัวเลขผู้ต้องเฝ้าระวังในกรุงจาการ์ตา เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 129 คนเมื่อต้นเดือนนี้เป็น 586 คน จนถึงเมื่อวันที่ 12 มี.ค. และผู้ป่วยต้องสงสัยติดเชื้อเพิ่มจาก 39 คนเป็น 261 คน

ด้าน ศรี มุลยานี อินธราวตี รมว.กระทรวงการคลังของอินโดนีเซีย แถลงเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการช่วยเหลือทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเบื้องต้นคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบงบประมาณฉุกเป็นวงเงิน 120 ล้านล้านรูเปียะห์ คิดเป็นสัดส่วน 0.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในปัจจุบัน แต่อาจส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีรายหัวเพิ่มจาก 1.8% เมื่อปีที่แล้ว เป็น 2.5% ในปีนี้

แนวทางช่วยเหลือครั้งนี้ ครอบคลุมถึงการยกเว้นภาษีระยะเวลาหนึ่งให้กับลูกจ้างในบางสาขาของภาคอุตสาหกรรม และการลดหย่อนภาษีให้กับเจ้าของกิจการ โดยจีดีพีของอินโดนีเซียขยายตัว 5.2% เมื่อปีที่แล้ว ขณะที่ธนาคารกลางอินโดนีเซีย ยังคงแนวโน้มการขยายตัวของจีดีพีปีนี้ไว้ที่ 5.1% แต่ส่งสัญญาณว่ามีแนวโน้มปรับลดลง เนื่องจากวิกฤติโรคโควิด-19 โดยคณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางอินโดนีเซียมีกำหนดประชุมกันครั้งต่อไประหว่างวันที่ 18 ถึง 19 มี.ค.นี้

เมื่อวันศุกร์(13มี.ค.) นายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุง ของสิงคโปร์ กล่าวถึงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่ามีแนวโน้มจะระบาดไปอีกนาน แต่ยืนยันว่าสิงคโปร์เฝ้าระวังสถานการณ์นี้ในระดับสูง และยังควบคุมสถานการณ์

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสิงคโปร์ นับตั้งแต่มีการยืนยันผู้ป่วยคนแรกเมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ มีผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็นอย่างน้อย 187  ราย รักษาหายแล้ว 96 ราย และยังไม่มีผู้เสียชีวิต

ผู้นำสิงคโปร์ กล่าวถึงสถานการณ์ในประเทศว่าได้มาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก (ดับบลิวเอชโอ)ยกให้เป็นหนึ่งในประเทศแบบอย่างการรับมือกับโรคโควิด-19 แต่สถานการณ์ของสิงคโปร์ในปัจจุบันยังอยู่ในระดับวิกฤติ และมีความเป็นไปได้ที่จะพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก ทั้งจากผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และการแพร่กระจายของเชื้อโรคแบบเป็นกลุ่มก้อน

แต่ ลี  ก็ยืนยันว่า รัฐบาลยังไม่มีแผนปรับระดับการเตือนภัยจากโรคระบาดนี้จากสีส้ม ซึ่งเป็นขั้นที่ 3 ขึ้นเป็นขั้นที่ 4 คือสีแดง ซึ่งเป็นระดับสูงสุด พร้อมทั้งย้ำว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังสามารถควบคุมวิกฤติด้านสาธารณสุขครั้งนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังมีความโปร่งใส ในการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินในเวลานี้