ยาดีบริหารธุรกิจ พิชิตโควิด-19

ยาดีบริหารธุรกิจ พิชิตโควิด-19

ข่าวคราวเรื่องไข้หวัดโควิด 19 ทำเอาเศรษฐกิจย่ำแย่ไปตามๆกันทั้งในประเทศและทั่วโลก หลาย ๆธุรกิจอาจถึงขั้นปิดกิจการ

หลังจากมีมาตรการที่เข้มงวดต่าง ๆเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการห้ามเดินทาง ห้ามชุมนุม และประชาชนทั่วโลกก็ตกอยู่ในสภาวะของความหวาดกลัว ความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน 

การจัดการทางด้านบริหารธุรกิจจึงไม่ใช่เรื่องของการจัดการสภาวะวิกฤติ (Crisis management) เท่านั้นแต่เป็นเรื่องของการจัดการสภาวะความตื่นตระหนกตกใจ (Panic management) ของผู้คนทั่วโลกด้วย

ผลที่ตามมาจากสภาวะความกลัวของผู้บริโภคที่มีต่อธุรกิจต่างๆคือ ยอดขายที่ลดลง ความชะงักงันของการดำเนินธุรกิจ หรืออาจต่อไปถึงขั้นหยุดและปิดกิจการ เนื่องจากลูกค้าไม่มีการซื้อหรือจับจ่ายใช้สอยสินค้าอีกต่อไป เนื่องจากองค์กรส่วนใหญ่ไม่เคยได้ทำ “แผนเผื่อฉุกเฉิน” (Contingency plan) หรือ Plan B แผนสำรองไว้นั่นเอง

ตรรกในการสร้างแผนหลักการและแนวทางที่ผู้บริหารองค์กรต่างๆควรปรับเอามาใช้ในช่วงนี้เพื่อการอยู่รอดและความต่อเนื่อง สามารถใช้ตาม CBS PLAN-B Model (Chulalongkorn Business School PLAN-B Model) ของคณะพาณิชยศาสตร์การบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นแนวทางการ “บริหารธุรกิจพิชิตโควิต-19”

ลำดับแรกคือ การ Retool เป็นการปรับเปลี่ยนเครื่องมือและวิธีการในการทำงานที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันให้เป็นเครื่องมือและวิธีการอื่นๆ อันนี้หลายๆหน่วยงานก็ได้เริ่มทำกันบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการนำเอาเทคโนโลยี การสื่อสารผ่านออนไลน์ หรือการใช้ดิจิทัลในการทำธุรกิจแทน หากสถานการณ์โควิต-19 ไม่ดีขึ้นถึงเฟส 3 ขั้นปิดประเทศ ธุรกิจต้องปิดดำเนินการ ผู้บริหารต้องมีนโยบายและวิธีการชัดเจนว่าจะทำอย่างไรตั้งแต่ตอนนี้ เมื่อเกิดขึ้นจริงทุกอย่างจะได้ไม่หยุดชะงักงัน

องค์กรส่วนใหญ่มักจะคิดถึงและทำในปัจจุบันแค่ระดับ Retool เท่านั้น แต่สิ่งองค์กรควรทำเป็นอย่างยิ่งคือ การ Re-Target การพิจารณาเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมาย ตัวอย่างเช่น ธุรกิจโรงแรม การนำเทคโนโลยีหรือดิจิทัลมาใช้ก็ไม่ช่วยให้ยอดขายเพิ่มขึ้นเพราะอย่างไรเสียนักท่องเที่ยวก็ไม่มา 

การเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายโดยมาดูสิ่งที่มีในมือ คือคนไทยที่อยู่ในละแวกนั้น ในจังหวัดนั้น เปลี่ยนจากโรงแรมที่มีชาวต่างชาติหรือนักท่องเที่ยวเป็นกลุ่มเป้าหมายเป็น คนไทยที่ต้องการ Service apartment หอพักนักศึกษา หรือให้เช่ารายชั่วโมงแทน เสมือนหนึ่งการร้องไห้ฟูมฟายคนรักที่ได้จากไปแล้วเพราะไข้โคโรน่าคงไม่มีประโยชน์อันใดเลย ที่ทำได้คือการหากลุ่มลูกค้าเป้าหมายใหม่

นอกจากนี้ การสร้าง Re-business อาจช่วยฟื้นฟูธุรกิจขึ้นมาได้มาก การพิจารณาว่าธุรกิจของเราคืออะไร แล้วปรับหารายได้จากธุรกิจอื่นๆแทน เช่น ธุรกิจโรงแรมที่ไม่มีรายได้จากการเข้าพัก ควรหารายได้จากการเปิดธุรกิจ ซัก อบ รีด แทนเพื่อค่าใช้จ่ายแม่บ้านจะได้ไม่สูญเปล่า หรือร้านอาหารในโรงแรมควรปรับเปลี่ยนสร้างรายได้จาก Food delivery แทน ธุรกิจสายการบินเองก็ไม่สามารถทำให้คนเดินทางได้ แต่มีภาระเรื่องต้นทุนอาหารก็นำอาหารจากสายการบินมาเป็น Food delivery แทน หรืออาจมุ่งไปที่การขนส่งสินค้าโลจิสติกส์แทนการขนผู้โดยสาร การ Re-business เช่นนี้จะทำให้ธุรกิจมีรายได้จากทรัพยากรที่มีอยู่แล้วและทำให้รายได้ดีขึ้นมาบ้าง

ประเด็นต่อมา คือ การ Re-process การปรับเปลี่ยนขั้นตอนและกระบวนการในการเข้าถึงลูกค้า ในหลายธุรกิจที่ลูกค้าไม่มาหรือไม่กล้ามา หากมีลูกค้ารายใหญ่มากพอแทนที่จะนั่งรอลูกค้าก็เปลี่ยนเป็นการไปรับลูกค้าถึงที่และทำให้ลูกค้ามั่นใจถึงความปลอดภัยทุกขั้นตอนของการบริการจนกระทั่งพาไปส่ง หัวใจของการ Proactive กระบวนการอย่างมีสุขอนามัยไม่มีโควิตจะเหนือกว่าธุรกิจที่มัวแต่นั่งรอลูกค้าเข้ามา (Reactive) ซึ่งไม่มีประโยชน์อันใด

ประการสุดท้ายที่สังคมประเทศชาติต้องการ คือการแสดงออกของทุกหน่วยงานถึงความร่วมมือกัน ให้ความช่วยเหลือกันไม่ได้คิดถึงแต่กำไรเท่านั้น แต่เป็นการช่วยกันประคับประคองกันให้ผ่านพ้นวิกฤตไปด้วยกัน สายการบินยอมให้คืนตั๋ว โรงแรมยอมเลื่อนการเข้าพัก ลูกค้ายอมจ่ายบางส่วน คนที่ไปต่างประเทศยอมกักตัวเองรัฐบาลควรยอมไม่จัดอีเว้นท์หรือสัมมนาเพื่อลดการชุมนุมและแพร่ระบาดของโรค ถึงเวลาแล้วที่เราควร Reunited ร่วมกันสามัคคีกัน

บทเรียนวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้คงเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้องค์กร ธุรกิจ ภาครัฐและประชาชนต่างๆต้องตระหนักถึงแผนสำรอง (Plan-B) ในธุรกิจและชีวิต ที่สำคัญที่สุดคือการที่ต้องมา Rethink และ Reform คิดกันใหม่ทำกันใหม่ เพราะถ้าหากไม่สามารถคิดและเปลี่ยนใหม่ในการทำงานได้ก็เหลือทางเลือกเดียว คือ...

Reborn รอการเกิดใหม่ในภพหน้า