สหภาพวิชาชีพด้านสุขภาพ อาจเป็นสิ่งจำเป็น

สหภาพวิชาชีพด้านสุขภาพ อาจเป็นสิ่งจำเป็น

ถึงเวลาหรือยังที่จะต้องมีต้องมีสหภาพวิชาชีพด้านสุขภาพ ที่มีสมาชิกมาจากบุคลากรสายสุขภาพทุก เพื่อพิทักษ์ปกป้องแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ที่จะได้รับอันตรายจากการปฏิบัติหน้าที่

อาจถึงเวลาที่เราต้องมีสหภาพวิชาชีพด้านสุขภาพ (Healthcare Confederation Union) ที่สมาชิกมาจากบุคลากรสายสุขภาพทุกสาขา เหตุผลก็คือองค์กรแต่ละสภาวิชาชีพนั้นไม่สามารถก้าวเข้ามาพิทักษ์ปกป้องแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับอันตรายจากการปฏิบัติหน้าที่ให้การรักษาพยาบาลผู้รับบริการได้ อย่างมากก็แค่เยียวยา ติดตั้งอุปกรณ์กล้องวงจรปิด เพิ่มพนักงานรักษาความปลอดภัย แล้วเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ก็เกิดขึ้นอีกครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะมันเกิดจากอารมณ์มันไม่มีเหตุผล

ความรุนแรงที่เกิดจากการกระทำของผู้ป่วย และผู้รับบริการทางการแพทย์ต่อผู้ให้บริการนั้น เป็นเรื่องที่ปรากฏชัดในเกือบทุกประเทศ

Patient Violence หรือความรุนแรงที่เกิดจากการกระทำของผู้ป่วย และผู้รับบริการทางการแพทย์ต่อผู้ให้บริการนั้น เป็นเรื่องที่ปรากฏชัดในเกือบทุกประเทศ ที่สหรัฐนั้นถึงกับมีความพยายามออกกฎหมายช่วยปกป้องผู้ให้บริการทางการแพทย์ที่โดนผู้รับบริการประทุษร้าย ตั้งแต่ผรุสวาท ด่าทอ ตบตี หยิกข่วน ถีบเตะ ขู่ทำร้าย จนถึงเข้าทำร้ายจริงๆ จนเกือบมีการเสียชีวิต

ว่ากันว่าบุคลากรทางการแพทย์ที่โดนทำร้ายในขณะปฏิบัติหน้าที่นั้น มีอัตราสูงกว่าตำรวจที่ถูกคนร้ายทำร้ายเสียอีก พยาบาลโดนมากที่สุด เพราะอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย ตั้งแต่ต่อว่า ด่า ข่วน หยิก ตบหน้า ถีบ มีพยาบาลบางคนที่ยังทำงานขณะตั้งท้องอ่อนๆ ที่ถูกทำร้ายถึงกับแท้งลูก

สภาวิชาชีพนั้นจะเน้นในเรื่องจริยธรรมจรรยาบรรณของสมาชิกให้อยู่ในกรอบวิชาชีพ และลงโทษทางจริยธรรมหรือความเป็นสมาชิกภาพการได้รับใบอนุญาตเป็นหลัก นอกเหนือจากนั้นจะเป็นเรื่องการดำรงอยู่ในมาตรฐานวิชาชีพของสมาชิกกับผู้ที่จะเข้ามาเป็นสมาชิก

แต่เวลามีปัญหา มีข้อพิพาท เป็นคดีความระหว่างสมาชิกองค์กรวิชาชีพกับหน่วยงานราชการ หรือแม้แต่ปัจเจกบุคคล ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของกฎหมาย ที่สำคัญคือไม่มีอำนาจต่อรองกับรัฐบาลในเรื่องที่เกี่ยวกับเงินเดือน ค่าจ้าง สวัสดิการ สิทธิประโยชน์ทั้งหลาย เหมือนดังเช่นสหภาพองค์กรรัฐวิสาหกิจ หรือสหภาพแรงงานตามกฎหมายแรงงาน การทำงานของแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ที่ทำเกินเวลา เกินขีดความสามารถ ไม่ได้รับการพักผ่อนเพียงพอ ไม่ทำไม่ได้ ทั้งๆ ที่ขัดต่อหลักการเรื่องความปลอดภัยในการให้บริการผู้ป่วย สภาวิชาชีพช่วยอะไรไม่ได้เลย

เมื่อไม่นาน มีเรื่องปรากฏในสื่อเกี่ยวกับนักบินของสายการบินไทยที่ทำให้เที่ยวบินล่าช้าไป 2 ชั่วโมง เพราะไม่มีที่นั่งสำหรับนักบินเพื่อการพักผ่อนอย่างพอเพียง หลังทำการบินตามกำหนดระยะเวลา อันเป็นข้อกำหนดเพื่อความปลอดภัยขององค์กรการบินระหว่างประเทศที่ถือเป็นเรื่องสำคัญ ถ้านักบินได้รับการพักผ่อนไม่พอเพียง แล้วมาทำหน้าที่เป็นนักบินอย่างอ่อนล้า เครียด ก็มีโอกาสผิดพลาด และนั่นหมายถึงทุกชีวิตบนเครื่องบินที่ฝากชีวิตไว้กับเขา คุ้มกันหรือไม่ ลองคิดดู

ฉันใดก็ฉันนั้น แพทย์พยาบาลที่ทำงานกับชีวิตของคนก็มีขีดจำกัด ถ้ายังฝืนทำงานก็อาจผิดพลาดพลั้งเผลอ ทั้งๆ ที่ไม่เจตนา ผู้ป่วยแทนที่จะหายป่วย อาจกลับป่วยหนักหรือถึงขั้นเสียชีวิตจากการรักษาที่ผิดพลาดโดยไม่เจตนาเช่นว่านั้นเมื่อบุคลากรไม่มีช่องทางอื่นใดที่จะช่วยตัวเอง ก็เหมือนคนที่ทำงานอย่างถูกกดดันมากกว่าทำงานอย่างเต็มใจสุขใจ

สหภาพ (Union) จะเข้ามามีบทบาทตรงนี้เพื่อเป็นตัวแทนในการเจรจาต่อรองกับรัฐบาลในทุกๆ เรื่องที่ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว เป็นลักษณะของสิ่งที่เรียกว่า Collective Bargaining ในทางแรงงาน ที่ต่างประเทศใช้เป็นช่องทางและมีกฎหมายรองรับ ที่ประเทศสหรัฐนั้นมีสหภาพเกือบทุกวิชาชีพ ไม่ว่าแพทย์ พยาบาล แม้กระทั่งครูโรงเรียน อาจารย์มหาวิทยาลัย และไม่จำกัดว่าต้องเป็นภาคเอกชนเท่านั้น พนักงานข้าราชการรัฐก็เป็นสมาชิกสหภาพได้

ตอนที่ไปเรียนหนังสือด้านเศรษฐศาสตร์แรงงาน ด้าน labor Relation/ Collective Bargaining นั้น ก็ยังนึกแปลกใจว่าทำไมข้าราชการพนักงานรัฐถึงเป็นสมาชิกสหภาพได้ เพราะบ้านเรามีแต่ภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจเท่านั้น แต่เมื่อเห็นโครงสร้างองค์กรสหภาพแล้วจึงเข้าใจได้ว่าเป็นเรื่องจำเป็น เพราะสภาวิชาชีพไม่สามารถเป็นปากเสียงให้พวกเขายามเดือดร้อนได้เลย ได้แต่กำหนดมาตรฐานวิชาชีพ ไม่เช่นนั้นข้าราชการพนักงานรัฐก็เหมือนถูกปิดปาก มัดมือมัดเท้า ถูกเขาต่อยเอาข้างเดียว ตอบโต้ไม่ได้เลย ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดรับกรรม เพราะเหตุเป็นข้าราชการพนักงานรัฐมันไม่เป็นธรรม

ส่วนเรื่องของกฎหมายก็สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ เหมือนรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลถือหุ้นใหญ่ เมื่อเริ่มแรกก็มีสหภาพแรงงานไม่ได้เพราะไม่อยู่ภายใต้กฎหมายแรงงาน แต่ต่อมาก็ทำได้ จึงเกิดสหภาพรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง และรวมตัวกันได้ดี ค่อนข้างเข้มแข็ง

แต่ในกรณีที่จัดตั้งสหภาพไม่ได้จริงๆ ก็มีทางออกอีกสองสามทางออก อาทิ การใช้เสรีภาพในการชุมนุมตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ให้เสรีภาพประชาชนสามารถชุมนุมได้โดยเปิดเผยและปราศจากอาวุธ และ/หรือจัดตั้งองค์กรปกป้องแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ เช่นที่อังกฤษที่ใช้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (National Health Service) เหมือน สปสช. ก็มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นทนายแก้ต่าง รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทางศาล เป็นองค์กรอิสระเรียกว่า National Health Service Litigation Authority ของ NHS เลย

และยังมีองค์กรอื่นที่เข้าเป็นสมาชิกขององค์กรได้ อย่างเช่น Medical Defense Organization (MDU) เพื่อสนับสนุน ปกป้องศักดิ์ศรี และผลประโยชน์ของแพทย์ ทันตแพทย์ ตลอดชีวิตในวิชาชีพสมาชิกจ่ายเงินบำรุง ซึ่งขณะนี้มีสมาชิกเกือบ 2 แสนคน หรืออาจมีองค์กรสนับสนุนอื่นๆ ด้วยเช่นองค์กรช่วยเหลือด้านกฎหมายและจริยธรรม (Medical Protection Society) องค์กรแนะนำช่วยเหลือวิชาชีพสุขภาพทางกฎหมายของสกอตแลนด์ (Medical and Dental Defense Union of Scotland) หรือที่แคนาดาก็มี Canadian Medical Protection Association ที่ทำหน้าที่นี้