เปิดกลยุทธ์พลัสฯวันตลาดซบ จัดทัพหลังบ้านรออสังหาฯฟื้น

เปิดกลยุทธ์พลัสฯวันตลาดซบ จัดทัพหลังบ้านรออสังหาฯฟื้น

การเปิดตัวของตึกสูงในกรุงเทพฯและปริมณฑลสะสมเพิ่มขึ้น หลังจากนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (Developer) ขายเสร็จปิดตัวโครงการยังมีเป็นช่องว่างหาผู้มาดูแลอาคาร นักพัฒนาอสังหาฯ จึงแตกบริษัทลูก เพิ่มโอกาสจากขายโครงการสู่การบริการด้านการบริหารจัดการอาคาร

ทำให้ตลาดบริหารอาคารเริ่มมีผู้เล่นชิงเค้กเพิ่มและดุเดือดมากขึ้น โดยผู้นำด้านการบริหารจัดการอาคารด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 5 รายแรก ประกอบด้วย 1.บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย) จำกัด 2.บริษัท ซีบีอาร์อี (ประเทศไทย) จำกัด  3.บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด  บริษัทลูก แสนสิริ จำกัด (มหาชน) 4.บริษัท ลุมพินี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด (L.P.P) บริษัทลูก แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และ 5.พรีโม เซอร์วิส โซลูชั่น บริษัทบริษัทลูก ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน)

ตลาดอันกว้างขวางอาคารชุดหลายโครงการที่ยังไม่มีนิติบุคคลในเครือเข้ามารับบริหารฯ คำว่า”แบรนด์” ที่สั่งสมมาจึงเป็นเงื่อนไขในการตัดสินใจของลูกค้า

บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด บริษัทลูกในเครือของบมจ. แสนสิริ ผู้ให้บริการบริหารอาคารติดหนึ่งใน 5 ของวงการ ด้วยการอยู่ในธุรกิจนี้มากกว่า24 ปี (ตั้งแต่ปี 2539) จากเปิดเพื่อรองรับการบริหารโครงการในเครือแสนสิริ แต่ปัจจุบันธุรกิจขยายไปรับงานข้ามค่ายทั้งอสังหาฯในตลาดหลักทรัพย์ฯ และนอกตลาดหลักทรัพย์ ฯ โดยแบ่งธุรกิจเป็น 2 ขา คือ ด้านการบริหารจัดการอาคาร (Property Management-PM) และบริหารจัดการสินทรัพย์ (Asset Management-AM)

สุวรรณี  มหณรงค์ชัย รองกรรมการผู้จัดการสายงานพัฒนากลยุทธ์และบริหารสินทรัพย์ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวถึงสภาพตลาดในปัจจุบันพบว่า ในปีที่ผ่านมาจนถึงปีนี้พบว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ซบเซา เนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจภายใน และยังเพิ่มปัจจัยเสี่ยงจากการระบาดของไข้หวัดจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) จึงทำให้ช่วงไตรมาส แรกและไตรมาสที่ 2 ตลาดชะลอตัว

ในปี 2563 เป็นปีทีทั้งตลาดซบเซา กลยุทธ์ที่สำคัญในช่วงตลาดไร้ความเคลื่อนไหว จึงต้องหันมาปรับปรุงหลังบ้าน พัฒนาประสิทธิภาพการบริหารเพื่อรองรับกับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคนเมืองในยุคต่อไปที่จะมีความต้องการที่แตกต่างไปจากเดิม โดยเฉพาะการพัฒนาที่อยู่อาศัยตอบโจทย์ดิจิทัล โดยนำเทคโนโลยีมาเชื่อมโยงกับการปรับปรุงระบบการบริหารใน 4 ด้าน เพื่อเสริมจุดแข็งให้กับแบรนด์ ประกอบด้วย

1.ระบบรักษาความปลอดภัย ด้วยนำระบบ LIV 24 มาเพิ่มใน 30 โครงการ รวมเป็น 60 โครงการ  2.บริหารจัดการดูแลอาคารให้มีสภาพดี ได้มาตรฐานน่าอยู่ มีมูลค่าเพิ่ม และไม่เสื่อมตามกาลเวลา 3.ดูแลการอยู่อาศัยลูกบ้าน (PLUS Living Management)จัดกิจกรรมสร้างพื้นที่ปฏิสัมพันธ์ สร้างความผูกพันในสังคม(engagement) และ4.สานต่อพันธกิจด้านสิ่งแวดล้อม (Green Mission) เช่น โครงการ back yard  แปลงปลูกผักออแกนิกส์ในส่วนกลาง โครงการบริหารจัดการแยกขยะ (waste management) ช่วยกระตุ้นจิตสำนึกในสังคมโดยงานใน

ในปี 2563 ธุรกิจรับงานบริหารโครงการเพิ่ม 40 โครงการโดยเป็นโครงการของแสนสิริ และโครงการนอกเครือ มี 2 อาคารใหญ่ ได้แก่ กรุงศรี เพลินจิต ทาวเวอร์ และอาคารเคพีเอ็น ทาวเวอร์ โดยรวมทำให้มีโครงการที่จะเข้าบริหารในปี 2563 ทั้งสิ้น 270 โครงการ

“ปี 2563 เป็นปีพัฒนาระบบเพื่อรอความพร้อมในการบริการ ให้สอดคล้องกันกับการเชื่อมโยงอินเทอร์เน็ต (Internet of Things-IoT) เพื่อรุกการบริการใหม่ๆ ที่จะเสริมความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์”

ด้านสมสกุล หลิมศุทธพรรณ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจและบริหารสินทรัพย์ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ธุรกิจตัวแทนอสังหาริมทรัพย์ ฝากขาย เช่า มองว่าในปีที่ผ่านมาภาพรวมการขายอสังหาฯชะลอตัวตั้งแต่ปีที่ผ่านมา จึงทำให้ตลาดขายลดลง แต่ตลาดเช่ามีโอกาสเพิ่มขึ้น ในปีนี้เป็นปีที่ยังเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 เป็นปีที่ยากลำบาก จึงใช้จังหวะนี้ในการพัฒนาระบบการเป็นตัวแทนเพื่อเป็นที่ปรึกษาที่น่าเชื่อถือ (Trust Adviser) โดยการพัฒนาระบบฐานข้อมูล (Big Data) ใช้ความได้เปรียบจากการอยู่ในวงการมากกว่า 24 ปี

“ในช่วงที่ตลาดชะลอตัวพลัสต้องเตรียมความพร้อมเมื่อตลาดกลับมาในอีก2-3 ปีข้างหน้า โดยการปรับปรุงระบบ จากในอดีตลูกค้าจะตัดสินใจซื้อโดยดูราคาและทำเลเป็นหลัก แต่ต่อไปลูกค้าจะเพิ่มความเป็นไลฟ์สไตล์ จึงต้องพัฒนาฐานข้อมูลอสังหาฯ ให้พร้อมแยกเป็นเซ็คเมนท์ให้ชัดเจน ทุกระดับราคาและทำเล รวมถึงไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต”

สำหรับเป้าหมายในการดูแลโครงการในปี 2563 คาดว่าจะมีโครงการที่เข้ามาให้ดูแลทั้งขายและปล่อยเช่า รวมทั้งสิ้นมูลค่า 12,500 ล้านบาท  

 

โดยรายได้ในปี 2562 ที่ผ่านมา มีมูลค่า 1,260 ล้านบาท ลดลงจากปี 2561 ที่มีมูลค่า 1,300 ล้านบาท เป็นผลมาจากตลาดอสังหาชะลอตัวตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยรายได้ในหลักมาในปี2562 มาจากธุรกิจPM 70% และธุรกิจAM 35% ในปี 2563 ภายใต้สภาพเศรษฐกิจชะลอตัวจากหลายปัจจัย คาดว่ารายได้ไม่ต่ำกว่า 1,260 ล้านบาท เพราะมีโครงการบริหารเพิ่มขึ้น ทำให้สัดส่วนรายได้หลักจากธุรกิจ PMเพิ่มขึ้นเป็น 80% และสัดส่วน AMเหลือ 20% ปัจจุบันมีพื้นที่บริหารทั้งที่อยู่อาศัยและย่านการค้า (Commercial & Residential) รวมทั้งสิ้น 14 ล้านตารางเมตร (ตร.ม.)