สรุปภาวะ"ตลาดเงินตลาดทุน"รายสัปดาห์ วันที่ 9-13 มีนาคม 2563

สรุปภาวะ"ตลาดเงินตลาดทุน"รายสัปดาห์ วันที่ 9-13 มีนาคม 2563

เงินบาทอ่อนค่าลง ขณะที่ตลาดหุ้นไทยร่วงหนัก จนต้องใช้มาตรการระงับการซื้อขายชั่วคราว (Circuit Breaker) ถึง 2 ครั้งในระหว่างสัปดาห์

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เงินบาทอ่อนค่าลง โดยได้รับผลกระทบจากความผันผวนของตลาดการเงินทั่วโลกและไทย ท่ามกลางความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้นจากไวรัสโควิด-19 ที่เข้าสู่ภาวะการแพร่ระบาดใหญ่ (Pandemic) ในหลายประเทศทั่วโลก ขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยในระหว่างสัปดาห์ 2.47 หมื่นล้านบาท และ 3.3 หมื่นล้านบาทตามลำดับ นอกจากนี้เงินบาทที่อ่อนค่าลงยังเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชียด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 1 ปีที่ 32.09 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนจะลดช่วงอ่อนค่าลงได้บางส่วน ตามการฟื้นตัวของตลาดหุ้นท้ายสัปดาห์

- ในวันศุกร์ (13 มี.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.85 เทียบกับระดับ 31.42 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (6 มี.ค.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (16-20 มี.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 31.50-32.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามยังอยู่ที่สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ธนาคารกลางญี่ปุ่น ตลอดจนการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ของธนาคารกลางจีน ซึ่งน่าจะเป็นไปในเชิงผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดนิวยอร์ก ผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจของเฟดฟิลาเดลเฟีย และดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนมี.ค. ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม การเริ่มสร้างบ้าน และยอดขายบ้านมือสองเดือนก.พ. นอกจากนี้ตลาดอาจรอติดตามข้อมูลเศรษฐกิจเดือนม.ค.-ก.พ. ของจีนด้วยเช่นกัน  

สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย

สงครามราคาน้ำมันและไวรัสโควิด-19 กดดันหุ้นไทย โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,128.91 จุด ลดลง 17.27% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 94,371.65 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46.53% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 13.83% จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 232.09 จุด  

- หุ้นไทยร่วงลงช่วงต้นสัปดาห์ จากความกังวลต่อการทำสงครามราคาน้ำมัน หลังกลุ่มโอเปกและพันธมิตรไร้ข้อสรุปเกี่ยวกับการปรับลดกำลังการผลิตในการประชุมเมื่อวันที่ 6 มี.ค. ก่อนจะดิ่งลงอีกครั้งในเวลาต่อมาหลังองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้ไวรัสโควิด-19 เข้าสู่ภาวะระบาดใหญ่ทั่วโลก ซึ่งส่งผลให้หุ้นไทยร่วงลงแรงจนต้องใช้ Circuit Breaker ถึงสองวัน ในวันที่ 12 และ 13 มี.ค. อย่างไรก็ดี หุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ หลังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประกาศปรับเกณฑ์การขายชอร์ตเป็นการชั่วคราว พร้อมเตรียมพิจารณามาตรการอื่นๆ ในการพยุงตลาดทุน

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (16-20 มี.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,085 และ 1,040 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,165 และ 1,200 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ รายละเอียดของกองทุนพยุงหุ้น การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ สถานการณ์ราคาน้ำมัน และสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน และยอดขายบ้านมือสองเดือนก.พ. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น ยอดค้าปลีกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนม.ค.-ก.พ.ของจีน รวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.พ.ของยูโรโซนและญี่ปุ่น