สธ.เผยไทยเริ่มพบผู้ป่วยโควิด-19กลุ่มก้อนหลายรุ่น

สธ.เผยไทยเริ่มพบผู้ป่วยโควิด-19กลุ่มก้อนหลายรุ่น

ผู้ป่วยโควิด-19เพิ่ม 5 ราย จ่อถอดจีนออกจากประเทศเขตติดโรคฯ 14 มี.ค.หน้ากากอนามัยN95 ราว 4 หมื่นชิ้นถึงรพ.สธ. ย้ำการรู้เส้นทางผู้ป่วยไม่สำคัญเท่าการรู้พฤติกรรมเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อของคน


เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 13 มีนาคม 2563 นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า2019 หรือโควิด-19(COVID-19)ว่า ผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ 5 ราย เป็นการป่วยแบบกลุ่มก้อน เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกับผู้ป่วยยืนยันรายที่ผ่านมา แยกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก 2 รายเป็นการสังสรรค์ร่วมกลุ่มเดียวกับกลุ่มผู้ป่วย 11 รายก่อนหน้านี้ รายแรกเป็นหญิงไทยอายุ 36 ปี รายที่ 2 เป็นชายอายุ 37 ปี
กลุ่มที่ 2 อีก 3 ราย เป็นผู้เสี่ยงสูงของผู้ป่วยก่อนหน้านี้ที่เป็นหญิงไทยอายุ 27 ปีกลับจากเกาหลีใต้ ปัจจุบันรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี โดยรายที่ 1 ชายไทยอายุ 19 ปี เป็นน้องชาย เริ่มป่วยเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2563 ด้วยอาการไข้ มีน้ำมูก มีเสมหะ เข้ารับการตรวจที่เอกชนเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 ปัจจุบันรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเอกชน รายที่ 2 เป็นหญิงไทยอายุ 29 ปี เริ่มป่วยเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2563 ด้วยอาการไข้ ไอแห้ง ไปรับการตรวจที่โรงพยาบาลเอกชนเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2563 ให้ประวัติว่า ก่อนป่วย ไปเที่ยวสถานบันเทิงกับเพื่อนชายและเพื่อนอีก 13 คน และรายที่ 3 เป็นชายไทยอายุ 37 ปี เป็นเพื่อนผู้ป่วยยืนยันหญิงไทยอายุ 29 ปีโดยมีประวัติสังสรรค์ที่สถานบันเทิงร่วมกัน เริ่มป่วยเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลรัฐเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 ด้วยอาการเจ็บคอ มีน้ำมูก ขณะนี้กำลังรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการของเพื่อนเที่ยวกลุ่มนี้อีก 8 คน
ผู้ป่วยสะสมในประเทศไทยขณะนี้ 75 ราย รักษาหายแล้ว 35 ราย ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 39 ราย เสียชีวิต 1 ราย สำหรับผู้ป่วยอาการหนัก 1 ราย ที่รักษาตัวอยู่ที่สถาบันบำราศนราดูร ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ส่วนผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม – 12 มีนาคม 2563 มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 5,496 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วและอยู่ระหว่างติดตามอาการ 3,992 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 1,504 ราย

เริ่มพบผู้ป่วยกลุ่มหลายรุ่น
ขณะนี้ประเทศไทยได้เริ่มพบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อน มีผู้ป่วยหลายรุ่น (Generation) กระทรวงสาธารณสุขจะแจ้งผู้ประกอบการที่ผู้ป่วยไปรับบริการเพื่อดำเนินการทำความสะอาดตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขรวมทั้งจะค้นหากลุ่มผู้สัมผัสเพิ่มเติม เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน ขอเตือนประชาชนว่าหากป่วย มีไข้ ไอ มีน้ำมูก ให้หยุดพักอยู่ที่บ้าน รีบพบแพทย์ พร้อมให้ประวัติเสี่ยงสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ หรือสังสรรค์กับเพื่อนที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดของโรค ให้แยกสำรับอาหาร แยกแก้วน้ำ ของใช้ส่วนตัวกับผู้อื่น ถ้าเราร่วมมือร่วมใจปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด กักกันตนเองเป็นเวลา 14 วันเมื่อกลับจากพื้นที่ระบาดต่อเนื่อง จะช่วยให้ประเทศไทยชะลอการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างในประเทศได้”นายแพทย์สุขุมกล่าว


“ในการดูแลบุคลากรด้านสาธารณสุข ส่วนของหน้ากากอนามัยN95 ขณะนี้มีการสั่งและเข้ามาแล้ว 4 หมื่นชิ้น ภายในวันที่ 14 มีนาคม 2563 โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขจะได้ครบทุกแห่ง 100 % และจะมีการนำเข้าเพิ่มเติมอีก 5 แสนชิ้น และขอสนับสนุนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์จากประเทศจีน 180 ล้านชิ้น และN95 จำนวน 1 ล้านชิ้น”นายแพทย์สุขุมกล่าว


จ่อถอดจีนจากเขตติดโรค
นายแพทย์สุขุม กล่าวอีกว่า ประเทศจีนมีอัตราผู้ป่วยรายใหม่ลดลง จึงอาจมีการพิจารณาปลดรายชื่อประเทศจีนออกจากประเทศที่เป็นเขตโรคติดต่ออันตรายจากเดิมที่ประเทศไทยประกาศไปแล้ว 4 ประเทศ คือ จีน(รวมฮ่องกง มาเก๊า) เกาหลีใต้ อิตาลี และอิหร่าน ซึ่งคณะกรรมการด้านวิชาการตามพรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558จะมีการพิจารณาในเร็วๆนี้ นอกจากนี้ ในประเทศอื่นๆที่มีสถานการณ์การระบาดของโรค โดยมีผู้ป่วยมากเกิน 500 รายและผู้ป่วยใหม่ราว 100 รายต่อวัน อาทิ ฝรั่งเศส สเปน เยอรมัน สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ และอังกฤษ เป็นต้น ขอให้ประชานดูแลตัวเอง หากเดินทางกลับมาขอความร่วมมือให้อยู่บ้าน อย่าออกไปสังสรรค์กับคนอื่น แยกทานอาหารจายเดียว เพื่อลดความเสี่ยงให้กับคนอื่นๆในชุมชน


ด้านนายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการด้านวิชาการตามพรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 กล่าวว่า คณะกรรมการฯจะพิจารณาปรับสถานะของประเทศต่างๆเกี่ยวกับโรคโควิด-19ในเร็วๆนี้ ซึ่งจะใช้หลักการ 3 ข้อ คือ 1.จำนวนผู้ป่วยทั้งหมด 2.จำนวนผู้ป่วยเพิ่มในแต่ละวัน และ3.ดูแนวโน้มของผู้ป่วยทั้งหมดและที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน ถ้าประเทศที่แนวโน้มลดลงเรื่อยๆแล้ว เช่น จีน ไต้หวัน สิงคโปร์ก็จะพิจารณาถอดลงเป็นลำดับ หากประเทศไหนอยู่ในบัญชีประเทศเขตติดโรคฯก็จะลดลงเป็นประเทศเฝ้ามอง ถ้าอยู่ในกลุ่มเฝ้ามองก็จะถอดลงเป็นไม่อยู่ในกลุ่มเฝ้ามอง รวมถึง การพิจารณาประเทศอื่นๆที่อาจจะต้องปรับระดับเพิ่มขึ้นในแต่ละกลุ่มด้วย ก่อนเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานประธานคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติพิจารณาต่อไป
นายแพทย์พรเทพ กล่าวด้วยว่า เกณฑ์ตัวชี้วัดในการเข้าสู่การระบาดของโรคในระยะที่ 3 มี 3 ข้อสถานที่ บุคคล และเวลา ได้แก่ 1.หลายพื้นที่ เกิดการระบาดติดคนในวงกว้าง หลายอำเภอ หลายจังหวัด 2.หลายทอดคน ระบาดติดต่อกันเกิน 4 ทอดเพราะจะตามหายาก ซึ่งประเทศไทยส่วนใหญ่จะหยุดอยู่แค่ทอดที่ 2 มีทอดที่ 3 บ้างประปราย แต่ยังไม่มีทอดที่ 4 และ3.เวลารวดเร็ว เป็นการระบาดอย่างรวดเร็วในระยะเวลาสั้น ไม่สามารถจับต้นชนปลายได้ว่าติดจากไหน ซึ่งการพิจารณาจะดูเป็นพื้นที่ๆด้วยว่ามีพื้นที่ใดเข้าเกณฑ์นี้หรือไม่ แต่ปัจจุบันยังไม่พบพื้นที่ใดที่เข้าเกณฑ์
นายแพทย์พรเทพ กล่าวอีกว่า สิ่งที่คนไทยควรทำเพื่อป้องกันการติดเชื้อและป้องกันการแพร่ระบาด คือ 1.ยกเลิกการเดินทางไปต่างประเทศทั้งหมด อย่าเสียดายเงิน 2.เลิกจัดงานที่มีคนเข้าร่วมมากกว่า 100 คนขึ้นไป 3.หากไปในที่ชุมชน กรณีไม่ป่วยใส่หน้ากากผ้าเพียงพอในการป้องกัน 4.ล้างมือบ่อยๆด้วยน้ำสะอาดกับสบู่หรือใช้แอลกอฮอล์เจล 5.หากต้องกินร่วมสำรับอาหารกับบุคลอื่น แต่ละคนจะต้องมีช้อน 2 คัน โดยคันแรกใช้ตัดเข้าปาก อีกคันใช้เป็นช้อนกลางส่วนตัว เพราะหากมีช้อนกลางร่วมแต่ละคนก็จะมาสัมผัสร่วมที่ช้อนอยู่ดี และ6.เมื่อเดินทางกลับมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค จะต้องแยกตัวเอง 14วัน โดยมีวินัยอย่างเคร่งครัด


อยากให้ประชาชนมีความหวังว่าประเทศไทยไม่ได้เลวร้ายเลย เพียงแต่เรายังไม่สามารถจัดการวินัยคนในชาติได้ เช่น ไม่ควรไปร่วมสังสรรค์กันเป็นกลุ่มใหญ่ก็ยังไป เป็นต้น ฉากทัศน์ที่จะเกิดความรุนแรงขอให้ยืดไปให้ได้สัก 1 ปี ซึ่งเรายืดได้มา 3 เดือนแล้วเหตุการที่จะมีผู้ป่วยเกิดเป็นแสนเป็นล้านคงไม่เกิด เพราะฉะนั้น ประชาชนก็ไม่ต้องตื่นตระหนก โรคนี้ไม่อยากให้ติด แต่เมื่อติดแล้วรักษาได้ ถ้ามาเร็วๆ ในชุมชนต้องช่วยๆ กันดู อย่าให้ป่วยนานเกินไป คนในชุมชนต้องเข้าใจว่า ผู้ป่วยไม่ใช่ตัวที่น่ารังเกียจแต่เป็นกลุ่มที่น่าเห็นใจ อย่าไปดันเขาเข้ามุมมืด หากเขาลงใต้ดินแล้วจะไม่สามารถนำเข้ามารักษาและควบคุมการแพร่ระบาด ก็จะเกิดการแพร่ระบาดใหญ่อย่างที่เกิดในหลายประเทศ”นายแพทย์พรเทพกล่าว


รู้สถานที่ไม่ช่วยลดการแพร่
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีมีการเรียกร้องให้เปิดเผยเส้นทางสถานที่ที่ผู้ป่วยแต่ละรายเดินทางไป นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า ทีมสอบสวนโรคจะแจ้งให้เจ้าของสถานที่ต่างๆทราบทุกครั้งเพื่อทำความสะอาด แต่การบอกสถานที่ให้ประชาชนรับรู้นั้น ไม่ได้สำคัญไปกว่าการบอกให้ประชาชนรับทราบถึงพฤติกรรมเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค หรือการป้องกันตัวเองของประชาชน ยกตัวอย่าง การรู้ชื่อสถานบันเทิงที่ผู้ป่วยเคยไป ก็ไม่ได้แปลว่าการไปสถานบันเทิงอื่นแล้วจะปลอดภัย หากยังมีพฤติกรรมเสี่ยงของการแพร่เชื้อ เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญคือต้องบอกให้รู้ถึงพฤติกรรมที่จะทำให้แพร่โรค ไม่ใช่บอกให้รู้สถานที่