กรมอุทยานฯ ชี้ ‘การพัฒนา’ ยังเป็นปัจจัยหลัก คุกคามช้างป่าของประเทศ

กรมอุทยานฯ ชี้ ‘การพัฒนา’ ยังเป็นปัจจัยหลัก คุกคามช้างป่าของประเทศ

ระบุ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในอนาคต

อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายธัญญา เนติธรรมกุล เปิดเผยถึงสถานการณ์ช้างป่าในประเทศ เนื่องในวันช้างไทย 13 มีนาคมโดยกล่าวว่า ประชากรช้างป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์หลายแห่ง ส่วนใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นต้น โดยกลุ่มป่าที่มีประชากรช้างป่ามาก ได้แก่ กลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว กลุ่มป่าตะวันออก และกลุ่มป่าแก่งกระจาน

จากข้อมูลกรมอุทยานฯ พบว่า ปัจจุบัน ช้างป่าอาศัยอยู่ตามธรรมชาติประมาณ 3,168-3,440 ตัว โดยอาศัยอยู่ในทั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ จำนวน 69 แห่ง รวมมีผืนป่าที่เป็นแหล่งอาศัยของช้างป่าราว 52,000 ตร.กม โดยประชากรช้างป่าสามารถพบได้ตั้งแต่น้อยกว่า 10 ตัวในหนึ่งโขลง ไปจนถึง 200 – 300 ตัว

นอกจากจะเริ่มประสบปัญหาการขาดแคลนแหล่งหากินและแหล่งน้ำแล้ว ผืนป่าซึ่งมีสภาพที่อยู่อาศัยของช้งป่าจำกัดเป็นทุนเดิมอยู่แล้วเนื่องจากลักษณะภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสูง ยังไม่เชื่อมโยงกัน หรือถูกแบ่งแยก ตัดขาดออกจากกัน

ทั้งนี้ เนื่องจากการพัฒนาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การขยายตัวของชุมชน การขยายพื้นที่เกษตร การก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น การก่อสร้างเส้นทางคมนาคมที่ผ่านป่าสมบูรณ์ การก่อสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งปัญหาดังกล่าว เป็นปัจจัยหลักก่อให้เกิดปัญหาช้างป่าออกมาทำลายพืชผลทางการเกษตรของราษฎรที่อาศัยใกล้ชิดตามแนวขอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งกำลังกลายเป็นปัญหาที่สำคัญและเพิ่มความรุนแรงขึ้นทุกปี นายธัญญากล่าว

ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างดังกล่าว กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ประมาณ 40 แห่งทั่วประเทศ อาทิเช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง อุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น เป็นต้น

ซึ่งนายธัญญากล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวมีแนวโน้มว่าจะขยายตัวและมีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต

เพื่อแก้ไขปัญหาช้างป่าที่กำลังเกิดขึ้น นายธัญญากล่าวว่า กรมอุทยานฯ จึงได้กำหนดให้มีบริหารจัดการช้างป่าทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อการอนุรักษ์ช้างป่า ไปพร้อมๆกับการลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า

โดยแผนงานและแนวทางการจัดการและแก้ปัญหาช้างป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ต้องมีการดำเนินงานบนพื้นฐานของข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ และทำควบคู่ไปกับการจัดการปัญหานอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์

การจัดการช้างป่าในพื้นที่อนุรักษ์ มีเป้าหมายสำคัญเพื่อป้องกันไม่ให้ช้างออกนอกพื้นที่ และควบคุมไม่ให้มีประชากรช้างมากเกินกว่าศักยภาพการรองรับได้ของพื้นที่ ส่วนการจัดการช้างป่านอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ มีเป้าหมายสำคัญเพื่อลดความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า เป็นการให้ความรู้ ความตระหนัก และสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาช้างป่า รวมถึงการให้ความช่วยเหลือเยียวยาความเสียหายแก่ประชาชนอันเกิดจากช้างป่า เช่น การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่กับชุมชน (อาสาสมัครเฝ้าระวังและผลักดันช้างกลับคืนสู่ป่าธรรมชาติ) ทำรั้วรังผึ้ง รวมถึงมีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่า และมีการให้ความรู้และสร้างเครือข่ายในการเฝ้าระวังช้างป่า อย่างต่อเนื่อง

สิ่งสำคัญคือ เราต้องป้องกันไม่ให้ถิ่นที่อยู่อาศัยของช้างถูกทำลาย ซึ่งเรื่องนี้ กรมอุทยานฯ ได้ดำเนินมาตรการอย่างเต็มที่ เพื่อจะรักษาป่าซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของช้างป่า ทั้งการป้องกันปราบปรามการบุกรุกทำลายป่าและการตัดไม้ อีกทั้งยังได้กำหนดมาตรการป้องกันไม่ให้มีการล่าช้าง โดยให้เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติลาดตระเวนเชิงคุณภาพไปตามจุดเสี่ยงต่าง ๆ และตามแหล่งหากินของช้างป่าอย่างต่อเนื่อง

และยังมีการปรับปรุงป่าเสื่อมโทรม ให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยตามหลักวิชาการ รวมทั้งกลุ่มป่าบางแห่งที่เป็นเส้นทางช้างในอดีตที่ถูกตัดขาดไม่ต่อเนื่อง ก็จะมีการสร้างแนวเชื่อมต่อพื้นที่ให้เป็นป่าผืนใหญ่เชื่อมต่อหากันได้” นายธัญญากล่าว

นอกจากนี้ นายธัญญายังกล่าวอีกว่ากรมฯ ให้ความสำคัญกับการศึกษาวิจัย โดยให้มีการศึกษาวิจัยในด้านการติดตามพฤติกรรมของช้างป่า แหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งหากิน พื้นที่เสี่ยง และจำนวนประชากร ของช้างป่ามาอย่างต่อเนื่อง

เจ้าหน้าที่เอง ก็ต้องออกให้ความรู้เพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนในเรื่องพฤติกรรมของช้างป่าและการปฏิบัติตนเมื่อพบช้างป่า ซึ่งปัจจุบัน กรมฯ ได้จัดทำคู่มือเบื้องต้นสำหรับประชาชน เพื่อเป็นแนวทางในการเสริมสร้างความเข้ารู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวช้าง สถานการณ์ของช้าง พฤติกรรมของช้าง ตลอดจนสร้างจิตสำนึกให้ราษฎรมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ช้างป่าไม่ให้สูญพันธุ์ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน นิสิต นักศึกษา เยาวชน มีจิตสำนึก และตระหนักถึงความสำคัญของช้างป่าและผืนป่า นายธัญญากล่าว

อนึ่ง คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดให้วันที่ 13 มีนาคมของทุกปีเป็นวันช้างไทย ทั้งนี้เพื่อให้คนไทยและเยาวชนรุ่นหลังได้ร่วมกันรำลึกและตระหนักถึงความสำคัญของช้าง ซึ่งปัจจุบันช้างเอเชียจัดเป็นสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ พบเฉพาะบางพื้นที่ใน 13 ประเทศ เท่านั้น ได้แก่ อินเดีย ศรีลังกา เนปาล บังคลาเทศ ภูฏาณ จีน เมียนมาร์ เวียดนาม ลาว กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย เราจึงต้องร่วมมือกันในการอนุรักษ์ช้างป่า ซึ่งเป็นสัตว์ประจำชาติของให้คงอยู่สืบต่อไป

ภาพ/ กรมอุทยานฯ