JMT ธุรกิจ 'ทำเงิน' นัมเบอร์วัน JMART

JMT ธุรกิจ 'ทำเงิน' นัมเบอร์วัน JMART

'เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส' กิจการบริหารหนี้ตัวทำเงิน 'เบอร์หนึ่ง' ของ 'เจ มาร์ท' 'อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา' แม่ทัพใหญ่ ยืนยัน ! ปีนี้แม้ภาวะไม่เอื้ออำนวย แต่แผนธุรกิจพร้อมโลดแล่น ด้วยกลยุทธ์ขับเคลื่อนผสมผสานสู่การเป็นผู้นำ 'ค้าปลีกและการเงิน'

ต่อไปเราไม่ใช่แค่คนขายมือถือ (Retail) แล้ว ! แต่กำลังเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็น 'คนการเงิน' (Finance) มากขึ้น วลีเด็ดของ 'ตุ้ม-อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจ มาร์ท หรือ JMART บอกเช่นนั้น... ทว่าการที่จะเปลี่ยนแปลงเป็นคนการเงินดังกล่าว เชื่อว่าอาจจะไม่สามารถเป็น 'ผู้ชนะ' ในธุรกิจได้หากไม่มีเครื่องมือทางการเงินที่ดีพอ โดยเฉพาะเรื่องของ 'เทคโนโลยี' ที่เข้ามามีบทบาทเปลี่ยนพฤติกรรมของคนไปอย่างรวดเร็ว  

ฉะนั้น เรื่องของเทคโนโลยีจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องวางโครงสร้างของเทคโนโลยีที่อนาคตจะทำให้บริษัทในกลุ่มทั้งหมดขับเคลื่อนไปได้อีก 5-10 ปีข้างหน้า !  

โดยปัจจุบันจะเริ่มเห็นสัดส่วนโครงสร้างของรายได้ 'กลุ่มเจมาร์ท' เปลี่ยนไปแล้ว สะท้อนผ่าน 3 ปีย้อนหลัง (2560-2562) สัดส่วนรายได้จาก 'ธุรกิจค้าปลีก' (Retail) ลดลง 81% 72% และ 64% ตามลำดับ ขณะที่จะเห็นสัดส่วนรายได้ 'ธุรกิจการเงิน' ผ่าน บมจ. เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส หรือ JMTเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน สะท้อนผ่านสัดส่วนรายได้จากปี 2560 อยู่ที่ 10% กลายเป็น 21% ในปี 2562  

นอกจากนี้ กลุ่มเจมาร์ทยังมีธุรกิจการเงินที่กำลังเข้ามา 'เสริมขุมพลังการเงิน' ให้อีก ใน 'ธุรกิจ J Fintech' ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 7.5% ของรายได้รวม โดยในปีนี้ตั้งเป้าจะขยายพอร์ตสินเชื่อต่อเนื่อง รวมทั้งจะควบคุมคุณภาพการปล่อยสินเชื่ออย่างเข้มข้น จากการขยายผ่านช่องทางทั้ง 'ออฟไลน์' และ 'ออนไลน์' ควบคู่การบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันจะควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในปีนี้ไว้ไม่ให้เกิน 5% จากปีก่อนอยู่ที่ 5.02%

นอกจากนี้ยังมี บริษัท เจ เวนเจอร์ส (JVC) ในปีที่ผ่านมาบริษัทได้พัฒนาระบบสินเชื่อดิจิทัลที่ไม่มีตัวกลาง JFIN DDLP (Decentralized Digital Lending Platform) บนเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) เสร็จสิ้นและพร้อมใช้งานเร็วกว่ากำหนดการเดิมที่วางไว้ตาม Whilte Paper ทำให้ในปีนี้บริษัทสามารถรับรู้รายได้ตามมาตรฐานบัญชีเข้ามาราว 85 ล้านบาท จากเงินระดมทุนผ่านทาง ICO 

อีกทั้งยังมีแผนพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง และรับรู้ส่วนแบ่งในฐานะผู้พัฒนาแพลตฟอร์มหากมีคนเข้ามาขอสินเชื่อ ได้แก่ แพลตฟอร์ม ป๋า , J Loan Lite , เต็มใจเพย์ และอื่นๆ เพื่อสร้างฐานรายได้ที่เติบโตขึ้น จึงคาดว่าในปี 2563 จะเป็นอีกปีที่ดีของ เจ เวนเจอร์ส

ทั้งนี้ ภารกิจหลักของ 'เจ เวนเจอร์ส' คือการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้ภายในกลุ่มเจมาร์ท หรือ การทำ Digitization เข้ามาสร้างโอกาสในอนาคต ทั้งการยืนยันตัวตน การรับรู้พฤติกรรมของผู้บริโภค และพัฒนาไปสู่โมเดลธุรกิจ O2O หรือ Online to Offline รวมทั้ง Offline to Online ให้กลุ่มเจมาร์ทมุ่งสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีกและการเงินที่แข็งแกร่งที่สุด และเป็นอีกหนึ่งผู้นำทางด้านเทคโนโลยี รองรับการ Disruption ของธุรกิจค้าปลีกและการเงินในอนาคต

'ทิศทางของกลุ่มเจมาร์ทในปี 2563 เราจะไม่ใช่แค่คนขายมือถืออีกแล้ว แต่ธุรกิจเราเป็นส่วนผสมของรีเทลและการเงิน' 

'ผู้ก่อตั้งเจมาร์ท' บอกต่อว่า สำหรับปี 2563 ถือว่าเป็นความท้าท้ายของทุกคน เนื่องจากปัจจุบันอยู่ในภาวะไม่เอื้ออำนวย... แต่สำหรับธุรกิจของ 'กลุ่มเจมาร์ท' ขอยืนยันว่าปี 2561 เป็นปีที่ธุรกิจของกลุ่มฯ ถึง 'จุดก้นเหลว' ไปแล้ว ! หลังจากผลประกอบการพลิกเป็น 'ขาดทุนสุทธิ' 277.06 ล้านบาท แต่ต่อไปนี้จะไม่เห็นผลประกอบการกลับไปเป็นเช่นนั้นอีก บ่งชี้ผ่านตัวเลขผลประกอบการปี 2562 ที่ผ่านมา ที่บริษัทมี 'กำไรสุทธิ' 534 ล้านบาท ถือว่าเป็น 'สถิติสูงสุด' (All Time High) นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา 

'ปีนี้เราตั้งเป้ารายได้เติบโตระดับ 10% และ กำไร 25% โดยโดดเด่นสุดจะเป็น JMT ซึ่งปีนี้จะเข้ามามีบาบาทต่อสัดส่วนรายได้ของกลุ่มเจมาร์ทมากขึ้นถึง 25% จากปีก่อน 21%'   

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจของเจมาร์ทจะไม่ผันผวนหนักเหมือนปี 2561 แล้ว จากนี้แต่ละบริษัทในกลุ่มจะมีแต่ความแข็งแรงและขับเคลื่อนธุรกิจ ต่อให้อยู่ในภาวะไม่เอื้ออำนวยเฉกเช่นตอนนี้ แต่บริษัทจะพยายามบริหารจุดแข็งของกลุ่มในเรื่องของการ 'ผนึกกำลัง' ให้บริษัทสามารถสร้างการเติบโตและความได้เปรียบในการแข่งขันของธุรกิจได้อีกด้วย  

ขณะที่ 'ธุรกิจรีเทล' อย่างจำหน่ายโทรศัพท์มือถือของ บมจ.เจโมบาย (J Mobile) คาดว่าปีนี้รายได้จะเติบโต 10% หรือมีสัดส่วนรายได้ 60% ของรายได้รวม ลดลงจากปีก่อนที่อยู่ที่ 64% เนื่องจากบริษัทได้เปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจจากเดิมที่มุ่งไปทาง Retail มาเป็น Finance มากขึ้น

อย่างไรก็ตามการเติบโตของธุรกิจในปีนี้ บริษัทจะมุ่งสู่การเป็น Gadget Destination คาดว่าจะทำยอดขายสินค้าเพิ่มเป็น 760 ล้านบาท จากเดิม 400 ล้านบาท , การขายสินค้าในกลุ่มเทคโนโลยี 5G ซึ่งจะส่งผลดีต่อรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายเพิ่มขึ้น

'เป้าหมายการโตในปีนี้ เราจะมุ่งเน้นการบริหารจัดการภายในให้ดี ปักธงบุกสินค้านวัตกรรมและเทคโนโลยี รับโอกาสจาก 5G ตอบสนองไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคใหม่ อีกทั้งปรับกลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่การเป็น Gadget Destination โดยการนำสินค้ากลุ่มแกดเจ็ตที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง และอัตรากำไรที่ดี มาขยายผ่านสาขา Jaymart และ Jaymart ioT'

๐ 3 ธุรกิจเติบโตแข็งแกร่งต่อ !  

'สุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส หรือ JMT กล่าวว่า มีแผนซื้อหนี้เข้ามาบริหารเพิ่มอีกประมาณ 3 ดีล ภายในไตรมาส 2 ปี 2563 ซึ่งเป็นหนี้จากธนาคารพาณิชย์ (Bank) และบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank) โดยใช้เงินจากงบลงทุนในปีนี้ที่ตั้งไว้ 4,500-6,000 ล้านบาท ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปีบริษัทได้ซื้อมูลหนี้เข้ามาบริหารแล้วประมาณ 2,900 ล้านบาท ซึ่ง ณ สิ้นปี 2562 บริษัทมีพอร์ตบริหารหนี้รวมกว่า 174,000 ล้านบาท หนุนให้ภาพรวมกำไรปีนี้โอกาสเติบโต 15%

'โดยเชื่อว่าแนวโน้มสถาบันการเงินในปีนี้จะขายหนี้ด้อยคุณภาพออกมามากขึ้นจากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ซึ่งบริษัทจะพิจารณาซื้อหนี้เข้ามาบริหารโดยมี Yield ประมาณ 10-12%'

ด้าน 'สุพจน์ สิริกุลภัสสร์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจเอเอส แอสเซ็ท หรือ J กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปีนี้จะเติบโตมาอยู่ที่ 990 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 962.14 ล้านบาท โดยจะมาจากการรับรู้รายได้จากการบริหารเช่าพื้นที่ในศูนย์การค้าที่ดีขึ้น และมีอัตราการเช่าพื้นที่ (Occupancy rate : OCC) ในแต่ละแห่งสูงกว่า 90%

ทั้งนี้ บริษัทเตรียมเปิดศูนย์การค้าแห่งใหม่ 1 แห่ง ได้แก่ Jas Village อมตะนคร คาดว่าจะสามารถให้บริการได้ภายในไตรมาส 3 ปี 2563 ซึ่งปัจจุบันมีร้านค้าเข้ามาเช่าพื้นที่แล้วกว่า 70% ส่งผลทำให้ในปีนี้บริษัทจะมีโครงการคอมมูนิตี้มอลล์ภายใต้การบริหารรวม 4 โครงการ ได้แก่ The Jas วังหิน ปัจจุบันมี OCC 94%, The Jas รามอินทรา ปัจจุบันมี OCC 93%, JAS URBAN ศรีนครินทร์ ปัจจุบันมี OCC 95%

และล่าสุด Jas Village อมตะนครพร้อมกันนี้โครงการ The Jas รามอินทรา และ JAS URBAN ศรีนครินทร์ คาดว่าจะสามารถรับรู้กำไรเข้ามาเต็มปีเป็นปีแรก ขณะเดียวกันโครงการ Jas Village อมตะนคร-ชลบุรี ก็น่าจะสร้างผลกำไรได้ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป ทำให้ในปีนี้การเติบโตของกำไรจะดีกว่าปีก่อนอย่างแน่นอน

สำหรับโครงการ Jas Village คู้บอน คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการเต็มรูปแบบภายในปี 2564 หรืออย่างเร็วช่วงปลายปี 2563 จะทยอยให้บริการเช่าพื้นที่ส่วนของศูนย์การค้าได้บางส่วนส่วนธุรกิจการปล่อยพื้นที่ให้เช่าของผู้ค้ารายย่อยที่ขายมือถือและอุปกรณ์เสริม ภายใต้ธุรกิจ 'IT Junction' ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการทยอยปิดสาขาที่ไม่ทำกำไรไปบ้างแล้ว ส่งผลให้ในปัจจุบันสาขาอยู่ที่ 39 สาขา มีแนวโน้มว่าปีนี้จะสร้างกำไรได้ดีขึ้น

ขณะที่โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายภายใต้แบรนด์โครงการ คอนโดมิเนียม นีเวร่า NEWERA เอกมัย รามอินทรา ปัจจุบันเหลือสินค้าพร้อมขาย จำนวน 87 ยูนิต เบื้องต้นคาดว่าภายในช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 จะสามารถทยอยโอนกรรมสิทธิ์ให้กับลูกค้าได้ไม่น้อยกว่า 20 ยูนิต

อย่างไรก็ดีอาจปรับกลยุทธ์เป็นการปล่อยเช่าในยูนิตที่เหลืออยู่ เนื่องจากอยู่ในทำเลที่ดีและเพื่อให้สอดรับกับภาพรวมเศรษฐกิจในปัจจุบัน

'กิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์' กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย หรือ SINGER เล่าให้ฟังว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปีนี้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 50% จากปีก่อน โดยเน้นการขายผลิตภัณฑ์ในกลุ่มที่มีอัตรากำไรดี เช่น ตู้แช่ และตู้เติมน้ำมัน เป็นต้น รวมถึงยังให้ความสำคัญกับการควบคุมต้นทุนด้วยขณะที่คาดพอร์ตลูกหนี้ในปีนี้จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 5,800 ล้านบาท จากปี 2562 ที่มีฐานลูกหนี้อยู่ที่ 3,612 ล้านบาท

ด้วยการผลักดันพอร์ตลูกหนี้สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ 'รถทำเงิน' (C4C) ใหม่มากกว่า 2,000 ล้านบาท และการเติบโตจากพอร์ตสินเชื่อตามการขยาย SINGER แฟรนไชส์ แตะ 2,000 สาขา จากปีก่อน ที่ 1,066 สาขา ครอบคลุมใน 500 อำเภอ ซึ่งเหลืออีก 300 อำเภอก็จะครบทุกอำเภอทั่วประเทศไทย

สำหรับธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ 'รถทำเงิน' ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้มีการอนุมัติใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal–Loan) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อบุกตลาดทั่วประเทศ เชื่อว่าจะช่วยสนับสนุนสัดส่วนรายได้ให้เติบโตขึ้นส่วนธุรกิจเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าเชิงพาณิชย์

เขาบอกว่า มองว่ายังมีการเติบโตที่ดีและจะเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นในการขายเครื่องปรับอากาศให้กับลูกค้าในหน้าร้อนนี้ โดยปัจจุบัน SINGER ได้มีการเพิ่มจำนวนตัวแทนขายที่มีคุณภาพและขยายไปยังธุรกิจแฟรนไชส์ หรือสาขาย่อยลงไปในระดับตำบลอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบันมีสาขารวมกันทั้งสิ้น 1,115 สาขา ครอบคลุม 763 ตำบล จาก 475 อำเภอทั่วประเทศ

โดยเป้าหมาย SINGER จะขยายเครือข่ายการขายแบบเจาะลึกทุกอำเภอเข้าถึงในทุกตำบล เพื่อขยายฐานลูกค้าให้เติบโตมากขึ้น โดยตั้งเป้าให้ครอบคลุม 925 อำเภอ ในปี 2563 และจนครบ 7,000 กว่าตำบลทั่วประเทศภายในปี 2565 

ท้ายสุด 'อดิศักดิ์' บอกว่า ธุรกิจของกลุ่มเจมาร์ทจะเติบโตต่อเนื่อง โดยปี 2562 มีกำไรสูงสุดนับตั้งแต่ทำธุรกิจมา ต่อไปรายได้และกำไรก็จะเติบโตต่อไปในระดับพันล้านไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพียงแต่ว่าต้องให้เวลาทีมงานทำงานก่อนด้วย !