COVID-19 กับนัยยะด้านการท่องเที่ยวแฝง

COVID-19 กับนัยยะด้านการท่องเที่ยวแฝง

แน่นอนว่าการท่องเที่ยวไทยได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรน่า สำหรับด้านดีนั้น นับเป็นช่วงเวลาที่จะได้พิสูจน์มาตรการรับมือที่ดี ที่จะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับประเทศได้ในอนาคต แต่ก็มีข้อน่าห่วงว่าไทยอาจมีนักท่องเที่ยวแฝงที่เข้ามาใช้บริการสาธารณสุขของเรา

เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า ทั่วโลกกำลังผจญกับภัยคุกคามจาก COVID-19 และจะมีผลกระทบต่อเนื่องทั่วโลก ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง จากการประมาณความเสียหาย ดร.อัครพงศ์ อั้นทอง คณะพัฒนาการท่องเที่ยว ม.แม่โจ้ พบว่า ภายใต้สมมติฐานว่า COVID-19 มีผลกระทบรุนแรงกว่าซารส์ 3 เท่า ประกอบกับเรากำลังเข้าสู่โลว์ซีซั่นด้วย ดังนั้น ผลกระทบอาจยาวถึงเดือน ก.ย. โดยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ COVIC-19 อาจทำให้เราสูญเสียนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เป็นตลาดหลักของเราประมาณ 1.4-2.5 ล้านคน หรือประมาณ 35-60% ของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

การเกิดขึ้นของ COVID-19 มีนัยยะและบทเรียนสำคัญต่อการท่องเที่ยวไทยหลายประการ ในด้านดี ประเทศไทยดูเหมือนว่าจะมีความสามารถเหนือกว่าอีกหลายๆ ประเทศในการรับมือกับวิกฤตการณ์เหล่านี้ อาจเป็นเพราะเรามีประสบการณ์มาก่อน และมีภาคสาธารณสุขที่ค่อนข้างเข้มแข็ง ผลก็คือ ชื่อเสียงของไทยจะขจรขจายไปทั่วโลกและจะมีผลกระทบที่ดีต่อเนื่องไปถึงการเป็นเมดิคัลฮับของประเทศ เมื่อ COVID-19 สงบลงแล้ว ไทยก็จะได้รับการพิจารณาว่าเป็นมืออาชีพระดับโลกด้านสุขภาพ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวสุขภาพก็น่าจะได้อานิสงส์อย่างมากและมีโอกาสเติบโตกว่านี้อีก แต่ดูเหมือนว่าข้อดีนี้ต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผลอย่างชัดเจน

ส่วนในด้านลบ ปัญหาการสูญเสียรายได้ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและรายได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบไปยังภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ทั้งนี้ ดร.อัครพงศ์ อั้นทอง ได้นำข้อมูลปัจจัยการผลิต-ผลผลิตด้านท่องเที่ยวในการวิเคราะห์ พบว่า ภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องมากที่สุดจะเป็นภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับโรงแรมและที่พัก การขายของที่ระลึกเพื่อการท่องเที่ยว และอาหารและเครื่องดื่ม รวมแล้วเกิดความสูญเสียรวมเป็นผลกระทบถึง 1.5-2.7 แสนล้านบาทในปีนี้ จากการสูญเสียนักท่องเที่ยวจีนเพียงตลาดเดียว

ผลกระทบด้านลบที่สำคัญอีกประการคือ ค่าใช้จ่ายของบรรดาผู้ที่เข้ารับการรักษาพยาบาลในไทย ณ วันที่ 6 มี.ค. 2563 มีจำนวน 48 คน เป็นชาวต่างประเทศถึง 30 คน เป็นคนไทยแค่ 18 คน นั่นหมายความว่าเราต้องใช้ทรัพยากรอันจำกัดของเราไปดูแลชาวต่างชาติมากกว่าชาวไทยเสียอีก แต่นี่เป็นเรื่องมนุษยธรรมและความจำเป็น เพราะถ้าปล่อยไปก็จะไปแพร่เชื้อให้กับคนอื่นๆ อีก จึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องทำ แต่ที่หยิบยกเรื่องนี้มาพูดก็เพื่อชี้ให้เห็นว่าการท่องเที่ยวมีต้นทุนสูงถ้าหากนักท่องเที่ยวนำพาโรคระบาดเข้ามาด้วย

ภาระต้นทุนจาก COVID-19 ยังไม่ได้หยุดแค่ค่ารักษาพยาบาล แต่ต้นทุนที่แท้จริงยังรวมถึงต้นทุนในการเฝ้าระวัง การติดตาม สอบสวนโรคไปจนถึงต้นตอและการเข้าไปดูแลผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อหรือผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อ รวมทั้งต้นทุนส่วนของการกักกันตัวเองของผู้ที่ต้องสงสัยว่าอาจจะมีโอกาสติดเชื้อ นี่ยังไม่รวมต้นทุนเสียโอกาสของคนไทยที่มีปัญหาสุขภาพในช่วงที่มี COVID-19 เพราะรัฐบาลต้องดึงเอาทรัพยากรตามปกติไปดูแลปัญหาโรคระบาด

ปรากฏการณ์ COVID-19 จึงแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า นักท่องเที่ยวไม่ใช่เทพยดาฟ้าดินมาโปรดแต่เพียงอย่างเดียว ในบางครั้งก็แอบพาซาตานเล็กๆ หรือใหญ่ๆ ตามมาด้วย ซึ่งเราก็ต้องเตรียมตัวรับสถานการณ์นี้ให้ได้ เพราะเราเป็นประเทศที่เปิดรับการท่องเที่ยวอย่างเต็มตัวแล้ว และยังคาดหวังว่าจะยังคงเป็นประเทศท่องเที่ยวติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลกต่อไป เราจึงควรมีกองทุนที่มาจากการเก็บภาษีนักท่องเที่ยว และนำเงินจำนวนนี้มาใช้จ่ายเวลานักท่องเที่ยวมีปัญหา เช่น โรคระบาดหรือประสบอุบัติเหตุ คนไทยทั่วไปจะได้ไม่ต้องชักเนื้อและบุคลากรด้านสาธารณสุขจะได้ไม่ต้องคอยหน้ากากบริจาค

บางคนอาจสงสัยว่า บทเรียนที่ได้จาก COVID-19 นี้ ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ไทยจะเริ่มลดความสนใจและความสำคัญที่ให้กับการท่องเที่ยวต่างประเทศ คำตอบก็คือว่าคงยาก เพราะเวลานี้การท่องเที่ยวกลายเป็นภาคเศรษฐกิจที่ใหญ่มาก การลดการท่องเที่ยวต่างประเทศลงนั้นก็หมายถึง ความสูญเสียอันยิ่งใหญ่และในอนาคตประเทศไทยยังต้องพึ่งการท่องเที่ยวอีกมาก เพราะการท่องเที่ยวของไทยนั้นได้ก้าวหน้าไปเป็นระดับ 4.0 แล้ว แถมการท่องเที่ยวไทยยังติดอันดับ ของโลกในด้านรายได้จากการท่องเที่ยว ไม่เหมือนด้านอุตสาหกรรมซึ่งยังอยู่ที่ระดับ 3.0 และยังไม่ติดอันดับใดๆ เลย

ที่น่าเป็นห่วงอีกอย่างหนึ่งก็คือ ประเทศไทยมีพรมแดนเปิดติดกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งใกล้ชิดกับจีนมากกว่าเรา ในปัจจุบันนี้มีคนเมียนมาและคนลาวจำนวนมากไปทำงานที่จีนและก็มีคนจีนทำงานอยู่ใน 2 ประเทศนี้ และก็ได้กลับบ้านในช่วงตรุษจีน แล้วก็กลับมายังประเทศเพื่อนบ้านของเรา ดังนั้น จึงมีข้อน่าเป็นห่วงว่าเราอาจจะมีนักท่องเที่ยวแฝงคือไม่ใช่นักท่องเที่ยวที่แท้จริง แต่ต้องการเดินทางมาใช้บริการด้านสาธารณสุขที่ดีกว่าในโรงพยาบาลบริเวณตะเข็บชายแดน เราจึงต้องเพิ่มความเข้มงวดในการดูแลการผ่านแดนให้มากขึ้น

เรื่องที่ 3 ในขณะที่ภาคสาธารณสุขไทยกำลังยุ่งตัวเป็นเกลียวหัวเป็นน็อตดูแลคนป่วย เราก็ไม่ควรปล่อยให้คนจากประเทศที่ไม่มีการดูแลควบคุมที่ดีเข้ามาในประเทศไทย เช่น ผู้ที่เดินทางผ่านอิตาลีและอิหร่าน รวมทั้งชาวต่างประเทศที่เดินทางผ่านประเทศเหล่านี้เข้ามาประเทศไทย เพราะกลัวว่าหากคนเหล่านี้มาพร้อมกับเชื้อก็จำเป็นต้องมารักษาพยาบาลที่ไทย หากมีผู้ถามว่าทำไมเราจึงเลือกปฏิบัติกับ 2 ประเทศนี้ระหว่างอิหร่านกับอิตาลี ขอตอบว่าถึงแม้เกาหลีใต้จะเสียศูนย์ไปในตอนต้น แต่ ณ บัดนี้ ได้มีมาตรการที่คุมเข้มและได้มาตรฐานแล้ว แต่อิหร่านกับอิตาลีนั้นจนถึงขณะนี้สถานการณ์ยังควบคุมไม่ได้ จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยต้องชั่งน้ำหนักความจำเป็นว่าจะรับเที่ยวบินจากพื้นที่เสี่ยงที่ยังจัดการตัวเองไม่ได้ให้เข้ามาในราชอาณาจักรไหม

ผู้เขียนเข้าใจดีว่า การจัดการเรื่อง COVID-19 เป็นปัญหาละเอียดอ่อนที่เกี่ยวข้องกับมนุษยธรรมและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งประการหลังนี้บางครั้งเราก็ต้องจำเป็นต้องตัดสั้นไม่ให้เสียยาว

ในอนาคต เมื่อคนไทยส่วนใหญ่มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปฏิบัติตนเพื่อตั้งรับกับโรคระบาดแล้ว กล่าวคือ ทุกคนช่วยกันดูแลตัวเอง การรักษาความสะอาดทั้งในบ้านตัวเองและที่สาธารณะ ช่วยกันสอดส่องดูแลผู้ติดเชื้อใหม่บนพื้นฐานของเมตตาธรรมและความเป็นกัลยาณมิตร และเมื่อควบคุมสถานการณ์ได้สักพักหนึ่งก็อยากจะเชิญชวนให้คนไทยมีกิจกรรมนอกบ้าน ออกไปจับจ่ายใช้สอยเหมือนเดิม เพราะถ้าเราขืนหยุดกิจกรรมต่างๆ เช่นทุกวันนี้เศรษฐกิจไทยเห็นจะต้องตายก่อน COVID-19 เป็นแน่

สุดท้ายนี้ก็ขอชื่นชมบุคลากรสาธารณสุขของไทย และขอขอบคุณจากใจที่ท่านต้องทำงานหนักท่ามกลางความเสี่ยง สู้สู้ค่ะ