เปิดกรณีศึกษาจีนใช้เทคโนฯ ฝ่าวิกฤติ ‘ไวรัสโควิด-19’

เปิดกรณีศึกษาจีนใช้เทคโนฯ ฝ่าวิกฤติ ‘ไวรัสโควิด-19’

บริษัทเทคโนโลยีนำเสนอโซลูชั่นที่ช่วยให้ใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด

หลายประเทศในเอเชียกำลังเผชิญกับวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งการใช้ชีวิต การทำงาน และการดำเนินธุรกิจ

อย่างไรก็ดี อีกมุมหนึ่งด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น วีดิโอคอนเฟอเรนซ์, แอพสำหรับการแชทและการทำงานร่วมกันทางออนไลน์ รวมถึงส่งอาหารและสินค้าต่างๆ ยังพอช่วยให้ผู้คนสามารถใช้ชีวิตและทำงานได้อย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน บริษัทและเจ้าของเทคโนโลยีต่างๆ พยายามหาทางแก้ปัญหา เพื่อให้คนจีนหลายล้านคนผ่านช่วงเวลาที่วิกฤตินี้ และเรื่องราวเหล่านี้เป็นกรณีศีกษาว่าเทคโนโลยีดิจิทัลสามารถช่วยคนจีนฝ่าฟันอุปสรรคและใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร

ทำให้ชีวิตกลับคืนสู่ปกติ

ข้อมูลโดยอาลีเพย์ เผยว่า การใช้ชีวิตท่ามกลางการระบาดของไวรัสเป็นเรื่องที่ลำบากอย่างยิ่ง แต่ด้วยความคิดสร้างสรรค์ บริษัทเทคโนโลยีต่างๆ ได้นำเสนอโซลูชั่นที่ช่วยให้คนจีนใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด เช่น การทำงานและการศึกษาผ่านออนไลน์

วันนี้ในประเทศจีน บุคลากรหลายล้านคนใช้เครื่องมือในการทำงานร่วมกัน เช่น DingTalk ของอาลีบาบา, WeChat Work and Meeting ของเท็นเซ็นต์, Feishu ของไบต์แดนซ์ และ WeLink ของหัวเว่ย โดยเครื่องมือเหล่านี้ยังเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ เช่น โควตาสำหรับผู้เข้าร่วมใช้งาน, การตรวจสุขภาพออนไลน์ และโซลูชั่นสำหรับอุตสาหกรรมที่เฉพาะเจาะจง

ด้านการใช้ชีวิต ท่ามกลางข่าวลือจำนวนมากบนโลกออนไลน์ Ding Xiang Yuan ผู้ให้บริการคอนเทนต์ออนไลน์ยอดนิยมของจีน ภายใต้การสนับสนุนของบุคลากรทางการแพทย์ ได้ดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อนำเสนอข้อมูลทางการแพทย์ที่มีประโยชน์ บริการเช็คอัพร่างกายทางออนไลน์ และการจัดการกับข่าวลือที่ไม่เป็นจริง

นอกจากนี้มี Yikuang ในเครือวีแชท และแอพ Sspai.com ช่วยจัดทำแผนที่เพื่อระบุเคสผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันในพื้นที่ใกล้เคียงโดยใช้ข้อมูลจากทางการจีน

จากที่นักเรียนนักศึกษาหลายล้านคนต้องหยุดอยู่บ้านเป็นเวลานาน เมื่อวันที่ 10 ก.พ. ซึ่งเป็นวันเปิดเทอมวันแรก นักเรียนนักศึกษากว่า 50 ล้านคนในเมืองต่างๆ กว่า 300 เมืองของจีนได้เข้าร่วมโครงการห้องเรียนออนไลน์ ซึ่งริเริ่มโดย DingTalk และ Youku โดยเปิดโอกาสให้อาจารย์กว่า 6 แสนคนเปิดสอนวิชาต่างๆ ผ่านระบบไลฟ์สตรีม

ต่อสู้กับเชื้อไวรัส

ขณะที่หลายพื้นที่ในประเทศจีนพยายามฟื้นฟูวิถีชีวิตให้กลับคืนสู่ปกติ บริษัทเทคโนโลยีของจีนได้นำเสนอนวัตกรรมในการต่อสู้กับเชื้อไวรัสโดยใช้โซลูชั่นที่ช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดและค้นหาวิธีการรักษาโรค

ตัวอย่างเช่น สถาบันวิจัยดาโมอะคาเดมี ในเครืออาลีบาบา พัฒนาระบบวินิจฉัยโรคโดยอาศัยเทคโนโลยีเอไอ เพื่อตรวจจับเคสผู้ติดเชื้อรายใหม่ผ่านการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) ซึ่งนักวิจัยได้ฝึกฝนโมเดลเอไอโดยใช้ข้อมูลตัวอย่างจากเคสผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันกว่า 5,000 ราย ช่วยให้ระบบสามารถระบุความแตกต่างในภาพซีทีสแกนระหว่างผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 กับผู้ป่วยโรคปอดบวมทั่วไป โดยมีความแม่นยำสูงถึง 96%

อาลีบาบา คลาวด์ เปิดให้สถาบันวิจัยของรัฐเข้าใช้งานระบบประมวลผลเอไอได้ฟรี เพื่อช่วยเร่งขั้นตอนการจัดลำดับยีนของไวรัส การวิจัยและพัฒนายารักษาโรค และการคัดกรองโปรตีน ขณะเดียวกันไป่ตู้ เปิดแพลตฟอร์ม Smart Cloud Tiangong IoT สำหรับโครงการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการแพร่ระบาด, เท็นเซ็นต์เปิดให้ใช้งานระบบซูเปอร์คอมพิวติ้งเพื่อช่วยให้นักวิจัยคิดค้นวิธีการรักษาโรค

ด้านดีเจไอ ผู้ผลิตโดรนของจีน นำเอาโดรนที่ใช้ในการพ่นสารเคมีในภาคการเกษตรมาใช้ในการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อในบริเวณที่อาจมีการติดเชื้อ รวมถึงมีการติดตั้งลำโพงไว้กับโดรนเพื่อช่วยในการแจ้งเตือนให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการชุมนุมในพื้นที่หนาแน่น และมีการบินโดรนที่ติดป้ายประกาศแจ้งเกี่ยวกับมาตรการป้องกัน รวมถึงมีการติดตั้งกล้องตรวจจับความร้อนไว้บนโดรนเพื่อตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายของประชาชนซึ่งช่วยให้คณะแพทย์สามารถระบุเคสต้องสงสัยได้อย่างรวดเร็ว

ที่น่าสนใจ มีการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ในมณฑลหูเป่ยได้รับบริจาคหน้ากากอนามัย เครื่องมือทางการแพทย์ และเงินบริจาค ผ่านแพลตฟอร์ม Shanzong ผลงานการพัฒนาของบริษัทสตาร์ทอัพ Hyperchain และ China Xiong'an Group ช่วยทำหน้าที่ตรวจสอบติดตามเงินและสิ่งของบริจาค

นอกจากนี้ แพลตฟอร์มที่ให้ความช่วยเหลือทางออนไลน์ Xiang Hu Bao ของแอนท์ไฟแนนเชียล ก็ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อตรวจสอบติดตามการจ่ายเงินเคลมประกัน

เพิ่มเรื่องสนุก-ผ่อนคลาย

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ใกล้จะถึงจุดเปลี่ยน ชาวจีนจึงเริ่มมองหาวิธีผ่อนคลายจากภาวะความเครียด โดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ที่กรุงปักกิ่ง ผับมีชื่อว่า Jing-A Brewing Co. ยังเปิดให้บริการโดยรับเฉพาะออเดอร์ที่สั่งอาหารและเครื่องดื่มกลับบ้าน ผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ Meituan

สำหรับประเทศไทย ที่เริ่มได้เห็นเช่น บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมมือกันใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์และ 5จี เพื่อช่วยควบคุมวิกฤตการณ์โควิด-19 โดยมีการใช้ 5จี เพื่อปรับปรุงความสามารถของหุ่นยนต์ทางการแพทย์ ทำหน้าที่ตรวจวินิจฉัยอาการของผู้ป่วยที่สงสัยว่าอาจติดเชื้อ และช่วยเหลือแพทย์และพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อหรือสงสัยว่าอาจติดเชื้อ