ร่างภาษีนิติบุคคลฟิลิปปินส์ล่าช้า ฉุด 'เอฟดีไอ' ร่วง 2 ปีติด

ร่างภาษีนิติบุคคลฟิลิปปินส์ล่าช้า ฉุด 'เอฟดีไอ' ร่วง 2 ปีติด

ร่างภาษีนิติบุคคลฟิลิปปินส์ล่าช้า ฉุดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ "เอฟดีไอ" ร่วง 2 ปีติดต่อกัน มิหนำซ้ำยังต้องรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโรคโควิด-19

แม้เศรษฐกิจฟิลิปปินส์จะขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งยังมีรายได้ในแต่ละปีจากการส่งเงินกลับประเทศของแรงงานฟิลิปปินส์ที่ออกไปทำงานในต่างประเทศเป็นเม็ดเงินมหาศาล แต่เม็ดเงินที่ได้จากการลงทุนโดยตรงของต่างชาติ (เอฟดีไอ) กลับร่วงลง 23.1% เหลือแค่ 7,600 ล้านดอลลาร์ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบาย สงครามการค้าสหรัฐ-จีน และการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 

ปัจจุบัน มีชาวฟิลิปปินส์จำนวนกว่า 2 ล้านคนทำงานและอาศัยอยู่ในตะวันออกกลาง ในจำนวนนี้ แยกเป็นอยู่ในเลบานอนจำนวนกว่า 30,000 คน และอยู่ในอิหร่านจำนวนกว่า 1,000 คน อีกทั้งยังมีแรงงานชาวฟิลิปปินส์ที่ลักลอบทำงานอย่างผิดกฏหมายในหลายประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางด้วย

ปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ คือธุรกิจการบริการ และการบริโภคในประเทศ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียนแล้ว การเติบโตในภาคบริการของฟิลิปปินส์่มีสัดส่วนเกือบ 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งสามารถดูดซับแรงงานได้กว่า 50%

แต่เอฟดีไอของฟิลิปปินส์ ร่วงลงเป็นปีที่สองติดต่อกันในปี 2562 ขณะที่รัฐบาลและฝ่ายค้าน ยังเถียงกันไม่เลิกเกี่ยวกับร่างกฏหมายภาษีนิติบุคคล ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 และการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน กดดันให้บริษัทหลายแห่งตัดสินใจชลอแผนขยายการลงทุนเอาไว้ก่อน

ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น เมื่อวันที่ 9 มี.ค. ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เตของฟิลิปปินส์ ใช้อำนาจพิเศษของฝ่ายบริหาร ลงนามประกาศให้ฟิลิปปินส์อยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 ซึ่งในฟิลิปปินส์มีผู้ป่วยสะสมอย่างน้อย 10 คน รักษาหายแล้ว 2 คน แต่เสียชีวิตแล้ว 1 คนเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน โดยฟิลิปปินส์เป็นประเทศแรกนอกจีน ที่มีผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19

ฟิลิปปินส์ มีเขตเศรษฐกิจพิเศษมากกว่า 300 แห่ง และมีหน่วยงานสำหรับส่งเสริมการลงทุนโดยตรงหรือเอฟดีไอและการส่งออกอีก 18 แห่ง แต่การลงทุนในฟิลิปปินส์อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต เนื่องจากจะมีการยกเลิกการยกเว้นภาษีรายได้นิติบุคคลในเขตเศรษฐพิเศษ โดยจะนำมาตรการ Corporate Income Tax and Incentives Rationalization Act (CITIRA) หรือภาษีเงินได้นิติบุคคลมาใช้แทน ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาในสภา

ปัจจุบัน ภาษีรายได้นิติบุคคลของประเทศฟิลิปปินส์อยู่ที่ 30% ถือว่าสูงสุดในภูมิภาคอาเซียน แต่ภายใต้ร่างกฏหมายนี้ ฟิลิปปินส์จะจัดเก็บภาษีนิติบุคคลลง 20% ภายในปี 2572 ซึ่งล่าสุด ประธานาธิบดีดูเตอร์เต ประกาศว่าทั้ง 2 สภาต้องผ่านร่างกฏหมายนี้โดยเร็วที่สุด

ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ ระบุว่า เอฟดีไอที่ช่วยให้เกิดการจ้างงานในปี 2562 ของประเทศร่วงลง 23.1% เหลือเพียง 7,600 ล้านดอลลาร์ ซึ่งตัวเลขล่าสุดนี้ยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้แก่รัฐบาลดูเตอร์เตมากขึ้น หลังจากที่บรรดาบริษัทข้ามชาติชื่อดังระดับโลกหลายแห่ง เช่น ฮอนด้า เวลล์ ฟาร์โก และโนเกีย บอกว่าจะถอนการลงทุนออกจากฟิลิปปินส์ หรือไม่ก็ลดจำนวนพนักงาน

158393656032

“นักลงทุนกำลังเผชิญสถานการณ์ยากลำบากทั้งจากการทำสงครามการค้า ความเสี่ยงเรื่องกฏระเบียบ และความไม่แน่นอนของร่างกฏหมายภาษีนิติบุคคลที่ล่าช้ามานานหลายเดือน ทำให้ตัดสินใจชลอแผนขยายการลงทุนไว้ก่อน” โรเบิร์ต แดน โรเซส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ซิเคียวริตี แบงก์ ให้ความเห็น

ตั้งแต่ฟิลิปปินส์เสนอร่างกฏหมายปฏิรูปภาษีเมื่อปี 2561 ก็เจอกระแสต่อต้านจากกลุ่มธุรกิจต่างชาติมาตลอด พร้อมทั้งคำเตือนว่าอาจจะลดจำนวนพนักงาน ล่าสุดเมื่อเดือนที่แล้ว โจอี้ ซัลเซดา ประธานคณะกรรมาธิการจัดหารายได้ของสภาผู้แทนราษฎรฟิลิปปินส์ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศสูญเสียเม็ดเงินลงทุนไปแล้ว 12,000 ล้านดอลลาร์ จากปัญหาความล่าช้าในการผ่านร่างกฏหมายจัดเก็บภาษีนิติบุคคล

ภายใต้ร่างกฎหมายดังกล่าว บริษัทต่างๆ ในฟิลิปปินส์ จะจ่ายภาษีลดลงปีละ 2% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า จนกว่าภาษีจะลดจากระดับ 30% ในปัจจุบัน ลงไปเป็น 20%แต่ยังคงมีความกังวลว่าแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ด้วยการลดภาษีนิติบุคคล อาจไม่ประสบผลสำเร็จดังที่รัฐบาลคาดหวังไว้ เนื่องจากการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในโครงการก่อสร้างต่างๆ ทำให้รัฐบาลประสบปัญหาการขาดดุลงบประมาณ และมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นมหาศาล