'คลัง' มั่นใจมาตรการสู้โควิดชุดแรก อุ้มเศรษฐกิจได้ถึง เม.ย.นี้

'คลัง' มั่นใจมาตรการสู้โควิดชุดแรก อุ้มเศรษฐกิจได้ถึง เม.ย.นี้

สศค. ชี้มาตรการสู้โควิด-19 ชุดแรกช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ถึง เม.ย.นี้ กระตุ้นหน่วยงาน เสนอโครงการขอใช้เงิน 2 หมื่นล้าน หนนทักษะแรงงาน สอท.ชี้มาตรการช่วยระยะสั้น

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ถือว่า มีผลในวงกว้างทั้งภาคการบริการ การท่องเที่ยว และการผลิตซึ่งมาตรการที่กระทรวงการคลังออกมาดูแลเศรษฐกิจที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบเมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมาถือว่าเป็นมาตรการที่ครอบคลุมดูแลทุกภาคส่วนและให้ความสำคัญกับการเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการโดยมีวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษ (ซอฟท์โลน) มากถึง 1.5 แสนล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 2% ซึ่งถือว่าเป็นวงเงินที่มากและดอกเบี้ยต่ำที่สุดเท่าที่เคยมีและมีการจำกัดการปล่อยกู้รายละไม่เกิน 20 ล้านบาท เพื่อให้สินเชื่อมีการกระจายตัวอย่างทั่วถึงไปยังผู้ประกอบการ เช่นเดียวกับการที่ให้ผู้ประกอบการลดหย่อนภาษีจากการจ้างงานได้ 3 เท่าก็ช่วยให้ลดปลดคนงานของสถานประกอบการต่างๆ

ส่วนการหักลดหย่อยภาษีณที่จ่ายจาก 3% เหลือ 1.5%  ก็เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการในช่วงที่มีภาวะวิกฤติ โดยในระยะต่อไปอาจมีการปรับมาตรการให้เหมาะสมมากขึ้น หรือเสริมมาตรการต่างๆเพิ่มเติม 

“มั่นใจว่า มาตรการสินเชื่อและมาตรการต่างๆที่ออกมาในรอบนี้ จะสามารถดูแลเศรษฐกิจได้ถึงสิ้นสุดเดือน เม.ย.นี้ และหากการระบาดของโรคมีสถานการณ์ที่ดีขึ้นหลังจากเดือน เม.ย.ก็จะเข้าสู่การวางมาตรการฟื้นฟูเพื่อให้เศรษฐกิจในครึ่งปีหลังฟื้นตัวขึ้น”

158392629895

เขากล่าวต่อว่า สำหรับวงเงินที่รัฐบาลได้เตรียมไว้อีก 2 หมื่นล้านบาท จะเปิดโอกาสให้กระทรวงต่างๆทำโครงการเข้ามาเสนอในการขอใช้งบประมาณโดยเน้นลดผลกระทบจากการปิดกิจการ การช่วยเหลือแรงงานที่ไม่มีสวัสดิการ หรือการฝึกฝีมือ และเพิ่มทักษะในการทำงานให้กับผู้ประกอบการซึ่งเป็นส่วนเพิ่มจากที่ ครม.อนุมัติไป 14 มาตรการก่อนหน้านี้ โดยให้เร่งจัดทำข้อเสนอโครงการภายใน 1 สัปดาห์เพื่อพิจารณาต่อไป

158392632210

นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า มาตรการที่รัฐบาลออกมาช่วยเหลือเยียวยาเศรษฐกิจในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ถือว่าน่าพอใจเพราะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการในระยะสั้นได้ ส่วนมาตรการในระยะต่อไปอาจจะต้องมีการเพิ่มการช่วยเหลือในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ภัตตาคาร ร้านอาหาร และสายการบินที่ได้รับผลกระทบให้มากขึ้น เพราะเป็นธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ขอให้รัฐบาลดูสถานการณ์และระดับการแพร่ระบาดว่าควรจะออกมาตรการที่เหมาะสมอย่างไร