เอเชียตื่นตระหนก แห่ตุนสินค้าช่วง COVID-19 ระบาด

เอเชียตื่นตระหนก แห่ตุนสินค้าช่วง COVID-19 ระบาด

การแห่กักตุนสินค้าตั้งแต่ญี่ปุ่น ไทย ไปจนถึงอินเดีย สะท้อนภาพความหวาดกลัวและตื่นตระหนกของผู้คนที่ว่า จะเกิดการขาดแคลนสิ่งของอุปโภค-บริโภค ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19)

สิ่งที่ผู้บริโภคในประเทศต่างๆ ทั่วเอเชียพากันหาซื้อเพื่อกักตุนมีตั้งแต่หน้ากากอนามัย อาหารกระป๋อง และกระดาษชำระ จนสินค้าเหล่านี้เกลี้ยงชั้นวางสินค้า  ทำให้รัฐบาลในฐานะผู้กำหนดนโยบาย และกลุ่มธุรกิจชั้นนำของแต่ละประเทศพยายามหาทางบรรเทาสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

เริ่มจากญี่ปุ่น ในทุกๆ เช้า จะเห็นภาพชาวญี่ปุ่นยืนเข้าแถวหน้าร้านซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านขายยา เมื่อประตูร้านเปิด ทุกคนจะตรงไปที่ชั้นวางหน้ากากอนามัย และกระดาษชำระ เพื่อกว้านซื้อสินค้าจนไม่เหลือ หลังมีข่าวลือในโลกโซเชียลว่า ญี่ปุ่นนำเข้ากระดาษชำระจากจีน

ญี่ปุ่น เป็นอีกหนึ่งประเทศที่เจอปัญหาคนฉวยโอกาส  จำหน่ายหน้ากากอนามัยทางออนไลน์ในราคาสูงเกินจริง ขณะที่รัฐบาลพยายามเพิ่มกำลังการผลิตให้มากขึ้น และกำหนดบทลงโทษผู้กระทำผิด กรณีกักตุนสินค้าและขายโก่งราคา จะต้องรับโทษจำคุกเป็นเวลา 5 ปีหรือปรับสูงสุด 3 ล้านเยน หรือประมาณ 29,000 ดอลลาร์ 

นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น พยายามผลักดันให้เพิ่มกำลังการผลิตหน้ากากอนามัยทั่วประเทศเป็นสองเท่า หรือราว 600 ล้านชิ้นต่อเดือนเริ่มตั้งแต่เดือนนี้ โดยผู้ผลิตบางกลุ่ม ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลทำให้เกิดผู้ผลิตหน้าใหม่ อย่างบริษัทชาร์ป ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำก็หันมาผลิตหน้ากากอนามัยชั่วคราว โดยมีกำลังการผลิต 150,000 ชิ้นต่อวัน

เกาหลีใต้ ซึ่งได้รับผลกระทบหนักจากไวรัสโคโรน่าและเผชิญกับภาวะขาดแคลนหน้ากากอนามัยเช่นกัน เมื่อวันจันทร์ (9 มี.ค.) ประธานาธิบดีมุน แจ อิน ประกาศให้ประชาชนสามารถซื้อหน้ากากอนามัยได้คนละ 2 ชิ้นต่อสัปดาห์ที่ร้านขายยา สหกรณ์การเกษตร และที่ทำการไปรษณีย์ จากช่วงก่อนหน้านี้ที่ให้ซื้อได้ไม่เกินคนละ 5 ชิ้น

158386653418

ไต้หวัน เป็นประเทศแรกที่ประกาศระงับการส่งออกหน้ากากอนามัยเพื่อให้คนในไต้หวันได้มีใช้อย่างทั่วถึง นับตั้งแต่พบมีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่เมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยรัฐบาลไทเป สั่งเพิ่มกำลังการผลิตหน้ากากเป็นสองเท่า ขณะนี้สามารถผลิตได้ถึง 10 ล้านชิ้นต่อวัน จากเดิมผลิตได้ 4 ล้านชิ้นในเดือน ม.ค. นอกจากนี้ ผู้ใหญ่ที่มีบัตรประกันสุขภาพสามารถซื้อได้ 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ขณะที่เด็กมีสิทธิ์ซื้อได้ 4 ครั้งต่อสัปดาห์

ฮ่องกง นับตั้งแต่ต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ บรรดาสินค้าด้านสุขอนามัยอย่างหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ และยาฆ่าเชื้ออื่นๆ กลายเป็นสินค้าหายาก อย่างที่เคยเกิดเหตุการณ์คนฮ่องกงแย่งซื้อกระดาษชำระ กระทั่งความต้องการตุนสินค้ามีมากพอ ทำให้กระแสกักตุนกระดาษชำระซาลงไปในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา 

ประกอบกับนักการเมืองและนักธุรกิจชั้นนำในฮ่องกงลงขันช่วยเหลือ โดยมีแกนนำคือมหาเศรษฐี "ลี กา ชิง" ที่ส่งเครื่องบินเจ็ทนำชุดป้องกันติดเชื้อของแพทย์จำนวน 5,000 ชุด และหน้ากากอนามัยจำนวน 250,000 ชิ้นจากนิวซีแลนด์มามอบให้รัฐบาลฮ่องกง เพื่อแจกจ่ายให้ประชาชน ขณะที่ "โจชัว หว่อง" นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในฮ่องกงได้จัดซื้อหน้ากากอนามัยจำนวน 1.3 ล้านชิ้น ส่งมาจากสหรัฐเพื่อมอบให้คนฮ่องกงที่ต้องการ 

158386655018

จีนแผ่นดินใหญ่ ในช่วงแรกต้องเผชิญกับภาวะตื่นกลัวหน้ากากอนามัยจะมีไม่เพียงพออย่างหนัก แต่ก็เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น ตอนนี้ในจีนไม่ต้องกักตุนแล้ว เพราะสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยา และมีขายอยู่ทั่วไปและในช่วงวิกฤติแบบนี้ ทำให้ได้เห็นบริษัทต่างๆ เช่น ผู้ผลิตรถยนต์บีวายดีของจีน ไปจนถึงฟ็อกซ์คอนน์ ซัพพลายเออร์ผู้ผลิตไอโฟนรายใหญ่ในไต้หวันเปลี่ยนสายการผลิตมาเป็นหน้ากากอนามัยชั่วคราว

ขณะที่ ซิโนเปค ยักษ์ใหญ่ด้านน้ำมันและก๊าซของจีน ใช้ปั๊มน้ำมันของตนเป็นเครือข่ายจำหน่ายหน้ากากอนามัย โดยขายวันละ 30,000 ชิ้นที่ปั๊ม 50 สาขาทั่วกรุงปักกิ่ง

อินโดนีเซีย เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำกวาดจับผู้ต้องสงสัยว่ากักตุนหน้ากากอนามัยล็อตใหญ่ทางตอนเหนือของกรุงจาการ์ตาได้ถึง 10 ราย รวมไปถึงทลายโรงงานที่ผลิตหน้ากากอนามัยต่ำกว่ามาตรฐาน โดยประธานาธิบดีโจโก วิโดโด กำชับให้ปราบปรามแหล่งจำหน่ายหน้ากากอนามัยที่แพงเกินจริง นับตั้งแต่อินโดนีเซียพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่รายแรก ทำให้ประชาชนพากันกันซื้ออุปกรณ์ป้องกันและยาฆ่าเชื้อจนหมดสต็อก แต่ดูเหมือนว่า มาตรการปราบปรามของผู้นำอินโดนีเซียจะไม่ได้ผลเท่าใดนัก

158386657319

ไทย ตามโรงพยาบาลรัฐและเอกชนหลายแห่งมีความกังวลว่าหน้ากากอนามัยจะมีใช้ไม่เพียงพอ ทำให้รัฐบาลต้องสั่งห้ามส่งออก โดยผู้ผผลิตหน้ากากอนามัยของรัฐที่มีทั้งหมด 11 แห่ง จะต้องส่งสินค้าไปยังกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจะเป็นศูนย์กระจายสินค้าจุดเดียวของรัฐบาลเท่านั้น สำหรับผู้ที่ต้องการหน้ากากอนามัยอย่างเร่งด่วน น่าจะมีทางเลือกเดียว คือต้องไปต่อคิวซื้อที่กระทรวงพาณิชย์ในเวลา 04.00 น. และสามารถซื้อได้มากสุดคนละ 4 ชิ้น 

ขณะที่เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท หรือ 3.19 ล้านดอลลาร์ เพื่อผลิตหน้ากากอนามัยให้ได้เดือนละประมาณ 3 ล้านชิ้น  และคาดว่าต้องใช้เวลาประมาณ 5 สัปดาห์ กำลังการผลิตจึงจะเข้าที่เข้าทาง

อินเดีย ความต้องการสินค้าประเภทหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือเพิ่มขึ้นมาก หลังจากอินเดียตรวจพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ในประเทศ โดยเมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา ฮาร์ช วาร์ดัน รัฐมนตรีสาธารณสุขอินเดียกล่าวต่อรัฐสภาเกี่ยวกับการจำกัดการส่งออกหน้ากากรุ่น N95 อีกทั้ง 2 วันก่อนหน้านี้ อินเดียได้จำกัดการส่งออกยาพาราเซตามอล ยาลดไข้ และยาเภสัชกรรมอื่นๆ จำนวน 25 ชนิดรวมถึงวิตามิน บี1 และบี12 ด้วย