'วายดีเอ็มฯ' ชี้เศรษฐกิจชะลอ ลูกค้าเบรกใช้จ่าย ฉุดสื่อดิจิทัลทรุดรอบ 6 ปี

'วายดีเอ็มฯ' ชี้เศรษฐกิจชะลอ ลูกค้าเบรกใช้จ่าย ฉุดสื่อดิจิทัลทรุดรอบ 6 ปี

การขยายอาณาจักรสร้างการเติบโต เป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจให้ความสำคัญ ส่วนกลยุทธ์ที่ใช้มีแตกต่างไป “วายดีเอ็ม” ดิจิทัล เอเยนซี ชื่อบ่งบอก “จุดแข็ง”และเชี่ยวชาญทำตลาดดิจิทัล เมื่อโลกไม่มีรอยต่อ “ออฟไลน์-ออนไลน์” ทำให้การเสริมศักภาพต้องทำต่อเนื่อง

ที่ผ่านมา แวดวงเอเยนซีเห็นการซื้อขายและควบรวมกิจการกันเป็นระยะ ส่วนหนึ่งเพราะรายใหญ่ซึ่งบริษัทในเครือมากมายทำงานโฆษณา สื่อสารการตลาดแบบเดิม ครั้นจะเปลี่ยนผ่านหรือทรานส์ฟอร์มองค์กรไปสู่ดิจิทัล มีความยาก เคลื่อนตัวช้า จึงต้องปรับนโยบายยุติบทบาทบางบริษัท และหันไปสร้างทีมหรือหน่วยธุรกิจใหม่ดีกว่า

ขณะที่ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา วายดีเอ็ม ได้ซื้อกิจการ มัลเลนโลว์ ในเครือของ IPG กลุ่มธุรกิจเอเจนซียักษ์ใหญ่ระดับโลก พร้อมรีแบรนด์เป็นมัลเลนโลว์ แบงค็อก

ทั้งนี้ มัลเลนโลว์เข้ามาเสริมทัพถือเป็นการอุดช่องโหว่ให้วายดีเอ็มฯ ที่เคยถูกลูกค้าจู่โจมเรื่องครีเอทีฟส่วนทิศทางธุรกิจจากนี้จะเป็นอย่างไร ธนพล ทรัพย์สมบูรณ์ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วายดีเอ็ม (ไทยแลนด์) จำกัด ฉายภาพว่า บริษัทมีทีมงาน ถนัดและเชี่ยวชาญการทำตลาดออนไลน์ ขณะที่การทำตลาดออฟไลน์ไม่ได้ถนัดมากนัก ดังนั้นการได้มัลเลนโลว์มาอยู่ในเครือจึงทำให้บริษัทมีบริการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าครบวงจรในจุดเดียว

ก่อนหน้านี้ บริษัทมี FCB Bangkok เป็นหัวหอกให้บริการตลาดออฟไลน์แก่ลูกค้าอยู่แล้ว การมีมัลเลนโลว์ จะไม่ซ้ำซ้อนในด้านการทำงาน เพราะลูกค้าที่อยู่ในมือแต่ละรายแตกต่างกัน เช่น FCB Bangkok เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณ(สกินแคร์) เช่น นีเวีย ของไบเออร์สด๊อรฟ ขณะที่มัลเลนโลว์เป็นกลุ่มเครื่องใช้ภายในครัวเรือน อาหาร โดยลูกค้ารายสำคัญคือ ไอศกรีมแม็กนั่ม, คนอร์ และน้ำยาล้างจานซันไลต์ ของยูนิลีเวอร์ รวมถึงเชนไดร้ท์

ไม่ล็อกว่าเราเป็นออนไลน์ หรือออฟไลน์ แต่มองเราเป็นโซลูชั่น ขณะที่วายดีเอ็มมีความเป็นเกาหลีมีจุดแข็งด้านเทคโนโลยีการตลาดหรือ MarTech มัลเลนโลว์คือฝั่งครีเอทีฟ ผสานจุดแข็งแต่ละฝ่ายเพื่อบริการลูกค้า เพราะการแยกการอยู่เราอยู่ได้ แต่รวมกันทำให้เราแข็งแรง

อีกภารกิจหลังได้ มัลเลนโลว์ มาครอง ธนพล ต้องการฟื้นตำนานของเอเยนซีเก่าแก่ 40-50 ปีอย่างแบรนด์นี้ให้กลับมาผงาดในวงการเป็นเบอร์ต้นๆ ของประเทศด้วย

ส่วนภาพรวมการทำตลาดให้กับลูกค้าในปี 2563 ยังเผชิญโจทย์โหดหิน เพราะปัจจัยลบเยอะทั้งไวรัสสายพันธุ์ใหม่โคโรนาซ้ำเติมเศรษฐกิจ ลูกค้าจึงหั่นงบ ชะลอการใช้จ่าย และหยุดกิจกรรมหลายรูปแบบ ในฐานะที่เอเยนซีที่ ธนพล มองว่าเป็นมันสมองต้องช่วยแก้เกมและวางกลยุทธ์ให้ลูกค้าขายสินค้าให้ได้ ทั้งเน้นการทำตลาดดิจิทัล โดยยืนยันว่าหมดยุคทำโฆษณาหว่านเจาะตลาดกว้าง(Mass) แล้ว รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เสพสื่อออนไลน์ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน เป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ไปแล้ว จึงต้องสร้างประสบการณ์ผ่านช่องทางดังกล่าวต่อเนื่อง

เพื่อให้เห็นภาพชัด จึงยกตัวอย่างการทำตลาดผลิตภัณฑ์ผ้าอนามัย กลุ่มเป้าหมายเป็นผู้หญิงดังนั้นจะยิงสื่อ Mass หรือ? เขาตั้งคำถาม นอกจากนี้การ ตุนเงินสด” หากทำแคมเปญการตลาดในภาวะวิกฤติมากๆ อาจมีการขายสินค้าแลกขาดทุนเพื่อให้มีเงินสดเข้าบริษัท เพราะเศรษฐกิจกำลังซื้อชะลอ ผลตอบแทนอาจไม่คุ้มค่าการลงทุน(ROI)

เศรษฐกิจไม่ดี ลูกค้ารัดเข็มขัด ไม่ใช่จ่ายเงิน..คำถามนี้เราต้องถามตัวเองก่อนเหมือนกัน แต่บริษัทค่อนข้างโชคดี ได้คุยกับผู้ประกอบการธุรกิจอื่น เผชิญความยาก โดนดิสรัปหนักกว่า เช่น การท่องเที่ยว การศึกษา หืดจับ แต่เมื่อเราเป็นมันสมองของลูกค้า ต้องทำให้ลูกค้ารอด เพราะหมายถึงเอเยนซีก็รอดด้วย

ด้านภาพรวมบริษัทปีนี้ ตั้งเป้ารายได้แตะ 650 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อน มีรายได้ 580 ล้านบาท ขณะที่อุตสาหกรรมโฆษณาดิจิทัลโดยรวมปีนี้อาจโตต่ำกว่า 20% ต่ำสุดในรอบ 5-6 ปี จากปกติโต 20-30%