'ซีพี' ดันกลุ่มรวบเทสโก้ฯ แบ่งต้นทุน-กำไรลดเสี่ยงเพิ่มทุน

'ซีพี' ดันกลุ่มรวบเทสโก้ฯ  แบ่งต้นทุน-กำไรลดเสี่ยงเพิ่มทุน

ดีลที่เฝ้ารอกันข้ามปีสำหรับการประมูลค้าปลีกรายใหญ่ ‘เทสโก้โลตัส ‘ หลังเปิดราคาตั้งประมูลไว้สูงถึง 9,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 3 แสนล้านบาท สามารถรวบกิจการในไทยและมาเลเซียไปทั้งหมด ท่ามกลางกลุ่มทุนใหญ่ระดับเจ้าสัวที่แข่งกันประมูล

       ผลที่ออกมาเจ้าสัวซีพี ‘ธนินท์ เจียรวนนท์ ‘ ยอมทุ่ม 3.3 แสนล้านบาท พาธุรกิจค้าปลีกที่ก่อตั้งมากับมือกลับมาสู้ครอบครัว ‘เจริญโภคภัณฑ์’ ได้อีกครั้ง และยังเป็นการให้ของขวัญพิเศษในช่วงครบอายุ 81 ปี เดือนเม.ย.นี้อีกด้วย

      ความชื่นมื่นที่เกิดขึ้นย่อมต้องแลกมากับภาระหนี้ก้อนใหญ่ เพราะมูลค่าการซื้อกิจการในครั้งนี้สูงทุบสถิติค้าปลีกในไทยและมูลค่าเรียกได้ว่าแพงกว่าเมื่อเทียบกับการเข้าซื้อกิจการ ‘แม็คโคร’ ในปี 2558 ของ บริษัทซี พี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL

      ประเด็นการซื้อกิจการในครั้งนั้นเน้นไปที่เงินกู้มากว่ากระแสเงินสดที่บริษัทมีอยู่ทำให้ต้องเจอกับอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ถึง 9-8 เท่า หลังกู้เงินมหาศาลซื้อ แม็คโคร ซึ่งต้องใข้เวลาเป็นปีในการปรับอัตราส่วนหนี้หลังรวมงบการเงินเข้ามา

      รอบนี้กลุ่มซีพีจึงปรับสูตรสมการการซื้อที่เรียกได้ว่าเหนือเมฆขึ้นไปอีก เพราะไม่ใช้เพียง CPALL เพียงบริษัทเดียวในการลงทุนแต่กระจายในกลุ่ม โดยให้ CPALL ลงทุนสัดส่วน 40 % หรือเป็นเงิน 95,000 ล้านบาท เท่ากับบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด ลงทุน 40 % และบริษัท ซี.พี. เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด เป็นบริษัทย่อย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)หรือ CPF และยังถือหุ้นใน CPALL อีก 30 % เข้าไปลงทุนสัดส่วน 20 % ด้วยเงินลงทุน 47,991 ล้านบาท รวม 2.3 แสนล้านบาท และเงินที่เหลืออีกประมาณ แสนล้านบาทจะใช้วิธีการกู้เงิน

       เม็ดเงินกู้ดังกล่าวเป็นจำนวนที่สูงแต่มีการปรับด้วยสูตรโครงสร้างถือหุ้น เพราะมีการจัดตั้งบริษัท ซี.พี. รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด เพื่อเข้าไปลงทุนใน บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เพื่อให้บริษัทดังกล่าวเป็นผู้ถือเทสโก้ ฯ และเป็นผู้กู้เงินแทน เพื่อไม่ต้องใช้การเพิ่มทุนตามที่ประกาศไว้แล้ว

       ตามข้อมูล ณ สิ้นปี 2562 CPF มีกระแสเงินสดจากธุรกิจ 40,608 ล้านบาท เงินสดในมือ 32,094 ล้านบาท มีหนี้สินชำระภายใน 1ปี 42,727 ล้านบาท มี D/E 2.47 เท่า ขณะที่ด้าน CPALL มีกระแสเงินสดจากธุรกิจ 40,476 ล้านบาท เงินสดในมือ 29,680 ล้านบาท มีหนี้สินชำระภายใน 1ปี 12,620 ล้านบาท มี D/E 2.85 เท่า

      ดังนั้นตามสัดส่วนการกู้ยืมทำให้ CPALL มีภาระการเงินที่เพิ่มสูงขึ้นตามโครงสร้างการถือหุ้นทางตรงและทางอ้อม อย่างไรก็ตามเมื่อกลับไปพิจารณาสถานทางการเงินของ เทสโก้ฯ ในไทย สิ้นปี 2562 มีกำไรมากถึง 7,819 ล้านบาท ส่วนที่มาเลเซียขาดทุนอยู่ที่ 339 ล้านบาท ทำให้เมื่อรวมงบการเงินเข้ามาย่อมทำให้รับรู้กำไรตามไปด้วย รวมไปถึงกระแสเงินและสินทรัพย์อื่น

      ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) คันทรี กรุ๊ป ประเมินในส่วน CPF จะได้รับส่วนแบ่งกำไรเข้ามา 1,100 ล้านบาท แต่จะมีดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับเงินทุนที่จะต้องใส่เข้าไปที่ 1,500 ล้านดอลลาร์ หากกู้ 67% จะต้องกู้เพิ่มประมาณ 32,160 ล้านบาท มีดอกเบี้ยจ่ายที่ระดับ 1,250 ล้านบาท

     หากกู้ทั้ง 100% จะมีดอกเบี้ยจ่ายที่ประมาณ 1,800 ล้านบาท ทั้งสองรูปแบบ D/E เพิ่มมาอยู่ที่ระดับ 1.5-1.6 เท่า ยังไม่ถึงระดับที่มีความเสี่ยงต้องเพิ่มทุน แต่ทำให้ช่วงแรกำไรสุทธิจะปรับตัวลดลงไปประมาณ 1-4%

      ขณะที่ CPALL จะได้รับส่วนแบ่งกำไร 2,200 ล้านบาท แต่จะมีดอกเบี้ยเงินกู้ 3,000 ล้านดอลลาร์ หากกู้ 67 % ต้องกู้เพิ่มประมาณ 64,000 ล้านบาท มีดอกเบี้ย 3,000 ล้านบาท แต่หากกู้ทั้ง 100% จะมีภาระดอกเบี้ยที่ระดับ 4,500 ล้านบาท ทัง2 กรณี D/E จะอยู่ที่ประมาณ 1.7 - 1.98 เท่า ซึ่งยังไม่เกินข้อกำหนดหุ้นกู้ที่กำหนดไว้ที่ 2.0 เท่า จึงไม่น่าที่จะเกิดการเพิ่มทุนได้

      ส่วนกำไร CPALL จะถูกกดดันประมาณ 3-10%ขณะที่ผลดีอื่นๆ คือการมีเข้าไปมีส่วนในธุรกิจค้าปลีกที่ครบวงจรมากขึ้นทั้งในส่วนของค้าส่ง (MAKRO) Hypermarket (TESCO) และค้าปลีกขนาด เล็ก (7-11) และยังมีรายได้จากบริหารพื้นที่เช่าเพิ่ม