อย่าปล่อยให้ 'โควิด-19' กลบ 'แล้ง-หมอกควันพิษ' 

อย่าปล่อยให้ 'โควิด-19' กลบ 'แล้ง-หมอกควันพิษ' 

หากรัฐไม่เร่งบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งปัญหาภัยแล้งและหมอกควันพิษ แบบคู่ขนานกับการแก้ไขปัญหาโควิด-19 อาจทำให้ปัญหาเหล่านี้มาผสมโรง จนทำให้ฉุดเศรษฐกิจไทย และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนไปมากกว่านี้

การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ที่เริ่มระบาดหนักตั้งแต่เดือน ม.ค.ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ยังคงเป็น “ปัญหาเฉพาะหน้า” ที่ทั่วโลกต้องเร่งระดมสรรพกำลัง สติปัญญา และทุนทรัพย์ ในการคลี่คลายสถานการณ์ที่ลามไปค่อนโลก โดยวันที่ 8 มี.ค. พบผู้ติดเชื้อใน 96 ประเทศ 2 เขตปกครองพิเศษ และ 1 เรือสำราญ อีกทั้งยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงโดยง่าย เนื่องจากยังพบจำนวนผู้ติดเชื้อกระจายอยู่ในหลายประเทศ มีผู้ติดเชื้อรวมทะลุแสนรายแล้ว โดยมีผู้เสียชีวิต 3,600 คน แม้ว่าสถานการณ์ในจีน ซึ่งเป็นประเทศต้นตอของการระบาด จะเริ่มคลี่คลายลง ขณะที่ในไทย มีผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อในโรงพยาบาลจำนวน 16 ราย กลับบ้านแล้ว 33 ราย เสียชีวิต 1 ราย รวมยอดสะสม 50 ราย

สถานการณ์ของการแพร่ระบาดที่ยากจะควบเดาจุดจบดังกล่าว ไม่เพียงทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว ไม่เฉพาะภาคธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่องเท่านั้น เพราะเมื่อการเดินทางของผู้คนทั่วโลกชะงักลง ย่อมทำให้กิจกรรมทางธุรกิจ เศรษฐกิจทรุด ในขณะเดียวกันผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ยังทำให้เกิดความไม่ลงรอยกันทางความคิด ทำให้เกิด “รอยร้าวทางสังคม” หนักขึ้น อย่างในไทย ที่เป็นปัญหาหนักอยู่ในขณะนี้ คือการเผชิญปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัย จนต้องถามกันให้วุ่นว่า “ใครกันแน่..! ที่กักตุนหน้ากาก” ทำไมหน้ากากไม่ถึงมือประชาชนอย่างเพียงพอ

ประเด็นดังกล่าว ยังส่อจะลามไปเป็น “การเมืองเรื่องหน้ากาก” หากรัฐบาลยังไม่สามารถจัดหาหน้ากากให้เพียงพอต่อความต้องการได้ในเร็ววัน ขณะที่การช่วยเหลือของรัฐบาลในบางกรณีดูเป็นปรปักษ์ทางความคิดกับผู้คนบางส่วนในโลกโซเซียล อาทิ การระบุว่าจะแจกเงินช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ แม้ว่าภายหลังรัฐบาลจะยอมถอยในเรื่องนี้แล้วก็ตาม ยังไม่นับการ “ดื้อดึง” ของ “ผีน้อย” (ผู้ลักลอบทำงานในประเทศเกาหลีใต้) บางส่วนที่กลับมาเมืองไทยแล้วแต่ไม่ยอมให้รัฐกักตัวเพื่อรอดูอาการของโควิด-19

อย่างไรก็ตาม แม้ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลจะเจอกับปัญหาปวดหัว กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจมัวสาละวนกับการแก้ไขปัญหานี้ พอใจผู้คนบ้าง ไม่พอใจบ้าง แต่ต้องไม่ลืมว่าอีกปัญหาที่จ่อเข้าจู่โจมรัฐบาลและคนไทยมากขึ้นต่อเนื่อง คือ “สถานการณ์ภัยแล้ง” รวมไปถึง “ปัญหาหมอกควันพิษ” ในกรุงเทพฯ (PM 2.5) และหลายจังหวัดในภาคเหนือ ที่เกิด “ฮอต สปอต”กระจายหลายพื้นที่ เป็นอีกปัญหาเรื้อรัง ทำให้ผู้คนตายผ่อนส่ง และอาจจะกลายเป็น “การเมืองเรื่องภัยแล้งและฝุ่นควันพิษ” ตามมา หากรัฐไม่เร่ง “บรรเทาผลกระทบ” ที่เกิดขึ้น แบบคู่ขนานกับการแก้ไขปัญหาโควิด-19  อย่าปล่อยให้ปัญหาเหล่านี้มา “ผสมโรง” ฉุดเศรษฐกิจไทย และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนไปมากกว่านี้