‘ซีอีโอ บจ.’ ห่วงรายได้ทรุด พิษ ‘โควิด-19’ ฉุดยอดขาย

‘ซีอีโอ บจ.’ ห่วงรายได้ทรุด พิษ ‘โควิด-19’ ฉุดยอดขาย

“ตลท.” เผยผลสำรวจ “SET CEO Survey”  พบ 68% ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระบาด โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาฯ-สินค้าอุตสาหกรรม  โดยเฉพาะลูกค้าและซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องกับจีน ฉุดยอดขาย-รายได้ลดลง แต่ยังไม่กระทบการลงทุน ส่วนใหญ่ยังเดินหน้าตามแผน

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยผลสำรวจ SET CEO Survey ฉบับพิเศษ “การรับมือของบริษัทจดทะเบียนต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19”  รวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 28 ก.พ.-7 มี.ค.2563 จำนวน 80 ราย คิดเป็น 22% ของมูลค่าตลาดรวม (มาร์เก็ตแคป) 

จากผลสำรวจพบว่า  68% ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่ตอบแบบสอบถาม ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุใหม่ (โควิด-19) โดยเฉพาะในหมวดธุรกิจที่มีลูกค้าและซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องกับจีน อาทิ หมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมมากที่สุด

ทั้งนี้ สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อบริษัทจดทะเบียนในด้านต่างๆ 4 ด้าน ได้แก่  1.ผลประกอบการ โดยคาดว่ายอดขายหรือจำนวนลูกค้าลดลง รวมถึงรายได้จะลดลงจากการปรับลดค่าบริการให้กับลูกค้า (อาทิ ค่าเช่าพื้นที่) และค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการบริหารงานด้านอนามัย,การบริหารลูกหนี้ยากขึ้น และคุณภาพลูกหนี้เริ่มแย่ลง 

2.การบริหารทรัพยากรบุคคลทั้งพนักงาน, ลูกค้า และผู้ที่เกี่ยวข้องโดยบริษัทจดทะเบียนป้องกันและคัดกรองตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข โดยมีการดูแลสุขภาพของพนักงาน การทดสอบหรือการทำงานระยะไกล (Tele Conference) อีกทั้งปัญหาในเรื่องการเข้าทำงานตามสถานที่ทำงานทั้งต่างประเทศและในประเทศ เป็นต้น

3.ห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน) บริษัทจดทะเบียนบางบริษัทเริ่มมีปัญหาด้านวัตถุดิบในกระบวนการผลิตโดยไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศจีนได้ และบางส่วนชะลอการสั่งซื้อเครื่องจักรจากประเทศจีน และ4.โอกาสทางธุรกิจบริษัทจดทะเบียนใช้โอกาสปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ อาทิ การเพิ่มช่องการจัดจำหน่ายและกระตุ้นยอดขายออนไลน์ นอกจากนี้บริษัทจดทะเบียนในกลุ่มธุรกิจการเงินได้สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่โดยรับประกันภัยส่วนบุคคลโควิด-19 เป็นต้น

ขณะที่ ปัจจุบัน บจ.ได้กำหนดนโยบายการรับมือโควิด-19 ในรูปแบบที่ใกล้เคียงกัน อาทิ การเพิ่มสัดส่วนการซื้อขายออนไลน์หรือปรับลดค่าเช่าให้กับลูกค้าเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน เพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงาน อาทิ การทำงานออนไลน์ (work from home) และการวางแผนจัดหาวัตถุดิบเพื่อการผลิต เป็นต้น

อย่างไรก็ตามมองว่าสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่กระทบต่อการลงทุนของบจ.ส่วนใหญ่  โดยสัดส่วนกว่า 61% ยังวางแผนลงทุนตามแผนเดิม ขณะที่สัดส่วน 32% ชะลอการลงทุนออกไปก่อน และที่เหลืออีก 7% รอดูสถานการณ์และเลือกชะลอการลงทุนในบางโครงการ

นอกจากนี้พบว่าสัดส่วนกว่า 71% มองว่าจะได้รับผลกระทบหากรัฐบาลประกาศยกระดับเป็นระยะที่ 3 และบจ.เตรียมแผน BCP เพื่อรองรับ ขณะที่สัดส่วน 43% คาดว่าธุรกิจจะกลับสู่ภาวะปกติภายใน 1 ไตรมาส หลังจาก WHO ประกาศว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ทั่วโลกและบริษัทที่ได้รับผลกระทบน้อยคาดว่าจะฟื้นตัวได้ภายในช่วงระยะเวลา 1 เดือน