'พาณิชย์' เตรียมจับมือ 'ยูเค' รับโอกาสเบร็กซิท

'พาณิชย์' เตรียมจับมือ 'ยูเค' รับโอกาสเบร็กซิท

“พาณิชย์” เตรียมจับมือ ยูเค จัดทำรายงานการค้าร่วมกัน แก้ปมสินค้าเกษตร-ท่องเที่ยว หวังลดอุปสรรคทางการค้า ปูทางสู่เอฟทีเอ สร้างแต้มต่อหลังเบร็กซิท มีผลสมบูรณ์

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยภายหลังกล่าวเปิดการสัมมนาเรื่อง “เข้าใจ Brexit พลิกสัมพันธ์การค้ากับยุโรป” ซึ่งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต สหราชอาณาจักร(ยูเค) ประจำประเทศไทย และสภาผู้นำธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักร (Thai-UK Business Leadership Council: TUBLC) ว่า การออกจากสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ของยูเค หรือ “เบร็กซิท” จะมีผลสมบูรณ์ ในวันที่ 1 ม.ค. 2564 

จากการจัดทำรายงานการทบทวนนโยบายการค้าระหว่างไทยและยูเค หรือ Trade Policy Review (TPR) เพื่อศึกษาภาพรวมการค้าระหว่างสองฝ่าย เพื่อเป็นพื้นฐานในการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี(FTA) ระหว่างกันในอนาคต โดยผลการจัดทำรายงานกำหนดแล้วเสร็จในเดือน มี.ค.2563  

โดยผลของรายงานเบื้องต้นพบว่า สาขาธุรกิจ/อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไทยมีศักยภาพในตลาดยูเค เช่น เกษตรกรรมและการผลิตอาหาร (เนื้อไก่ ผลไม้ อาหารเสริม และอาหารสัตว์เลี้ยง) การประมง (อาหารทะเลแปรรูปและแช่แข็ง ปลาทูน่า กุ้ง) ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง ภาคบริการและลงทุนที่ไทยมีศักยภาพ เช่น การท่องเที่ยว การขนส่ง การเงิน โทรคมนาคม และการก่อสร้าง 

158375150290

อย่างไรก็ดี ยูเคยังมีมาตรการภาษีและที่มิใช่ภาษีที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการค้าการลงทุนของไทย เช่น การเก็บภาษีสูงในสินค้าเกษตรและประมง การกำหนดมาตรการสุขอนามัยที่มีมาตรฐานสูง เช่น ระดับสารปนเปื้อน และสารเคมีตกค้าง ตลอดจนมาตรฐานทางเทคนิคต่างๆ เช่น การติดฉลากและบรรจุภัณฑ์ มาตรการ IUU ที่ต่อต้านสินค้าประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการควบคุม เป็นต้น 

ดังนั้น ไทยจะนำรายงานทบทวนนโยบายการค้าที่จัดทำ หารือกับฝ่ายยูเคที่มีการจัดทำรายงานนโยบายการค้าของไทยเช่นกัน เพื่อจัดทำเป็นรายงานร่วมกัน (joint TPR report) และจะนำไปสู่การหารือเพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรค ส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน และอาจปูทางไปสู่การจัดทำ FTA ระหว่างกันในอนาคต

158375154212

นอกจากนี้ หลังเบร็กซิท ยูเคจะมีอัตราภาษีและมีกฎระเบียบทางการค้าแยกจากอียู ซึ่งกรมฯ ได้เตรียมการรองรับ ได้แก่ การเจรจากับอียูและยูเค ในฐานะสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อแก้ไขตารางข้อผูกพันโควตาภาษีภายใต้ WTO เนื่องจากทั้งยูเคและอียูจะต้องมีการจัดสรรโควตาใหม่ให้กับสมาชิก WTO รวมทั้งไทย ในสินค้า เช่น มันสำปะหลัง แป้งมันสำปะหลัง ข้าวขาว ข้าวกล้อง ข้าวหัก ผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก ปลากระป๋อง เป็นต้น ทั้งนี้ ยูเคเป็นคู่ค้าอันดับที่ 21 ของไทย ในปี 2562 มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 6.26 พันล้านดอลลาร์ โดยไทยส่งออกไปยูเค 3.84 พันล้านดอลลาร์