เกษตรชง ครม.ไฟเขียว 3 มาตรการ เยียวยา-ฟื้นฟูผลไม้ไทย

เกษตรชง ครม.ไฟเขียว 3 มาตรการ เยียวยา-ฟื้นฟูผลไม้ไทย

กระทรวงเกษตรฯ ชง ครม.ไฟเขียว 3 มาตรการเยียวยา-ฟื้นฟูผลไม้ไทย ดึงรัฐและเอกชนเร่งกระจายสินค้าสู่ผู้บริโภคกว่า 1.1 หมื่นตัน พร้อมกางแผนเจาะตลาดใหม่ อัดงบ 5 แสนบาทหนุนโครงการแปรรูป

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก.ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเกษตรและสหกรณ์ เตรียม 3 มาตรการเพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 โดยเตรียมนำเสนอมาตรการต่างๆ นี้ให้คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (ฟรุ้ตบอร์ด) พิจารณา ก่อนนำเสนอ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก่อนเสนอที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอีกครั้ง

โดยมาตรการที่จะนำเสนอ ประกอบไปด้วย 1.มาตรการช่วยเหลือในการกระจายและควบคุมคุณภาพสินค้าเกษตร แบ่งเป็น โครงการประสานใจเกษตรกรไทยสู่พี่น้องชาวจีนสู่วิกฤตโควิด-19 โดยกระทรวงเกษตรฯเตรียมส่งผลไม้ไทยไปจีน ในช่วง 25 เม.ย.-10 พ.ค.นี้ หากสถานการณ์สงบ นายเฉลิมชัย ก็จะเดินทางจัดโรดโชว์และมอบผลไม้ด้วยตัวเอง

158375110810

โครงการรณรงค์ส่งเสริมการบริโภคผลไม้ภายในประเทศ Eat Thai First เพื่อส่งเสริมคนไทยบริโภคผลไม้ตามฤดูกาล โดยประสานห้างสรรพสินค้า โฮมโปร ไอทีสแคว เทสโก้ บิ้กซี ตลาดไท เป็นสถานที่จำหน่ายสินค้าพรีเมียมในราคายุติธรรม จำนวน 3,000 ตัน พร้อมทั้งขอความร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะหน่วยงานราชการ ให้บริโภคและใช้สินค้าไทย ผลไม้ไทยในงานประชุมสัมมนา จำนวน 3,000 ตัน, กรมส่งเสริมการเกษตร ประสานบริษัท ไปรณีย์ไทย จำกัด ส่งสินค้าด้านการเกษตรไปสู่ปลายทาง จำนวน 2,000 ตัน

และเชิญชวนภาครัฐ เอกชนที่มีศักยภาพ อาทิ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สภาหอการค้าไทย ปูนซีเมนต์ไทย เป็นต้น เพื่อรับซื้อผลไม้ และผลผลิตด้านการเกษตร ปริมาณ 1,000 ตัน รวมทั้งส่งเสริมขายผลไม้ผ่านระบบออนไลน์ เช่น ช็อปปี้ อาลีบาบา ลาซาด้า จำนวน 2,000 ตัน

โครงการสินค้าเกษตรไทยปลอดภัยจาก โควิด-19 โดยจะขอความร่วมมือหน่วยงานในพื้นที่ให้เข้มงวดเกี่ยวกับสุขอนามัย ของแรงงาน เช่น การแต่งตัวให้รัดกุม ป้องการการระบาดของโควิด-19 มีหน้ากากอนามัย ถุงมือให้ดูมีสุขลักษณะที่ดี โดยมีการควบคุมการระบาดของโควิด-19 อย่างชัดเจน และติดตามผลรายงานต่อคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (ฟรุ้ตบอร์ด) เป็นระยะ

และโครงการหาตลาดใหม่สินค้าเกษตรไทยเพิ่มเติม เช่น ประเทศตะวันออกกลาง อินโดนีเซีย อินเดีย อาเจนตินา เป็นต้น โดยการเร่งศึกษากฏระเบียบการส่งออกสินค้าผลไม้ไทยไปยังประเทศที่มีศักยภาพ และนำผลไม้ไปออกงานโชว์ในต่างประเทศ

2.มาตรการช่วยเหลือทางการเงิน ได้แก่ โครงการส่งเสริมการแปรรูปผลไม้เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าและยืดอายุ โดยการสนับสนุนเงินแห่งละ 500,000 บาท โดยสถาบันเกษตรกรในประเทศมีจำนวน 50 แห่ง และชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการ ที่กู้เงินเพื่อแปรรูปในอัตรา 3% โครงการลดภาระเรื่องการเงิน โดยการผ่อนปรนการชำระหนี้ และช่วยเหลือดอกเบี้ยในอัตรา 3% แก่เกษตรกรที่กู้เงินจากสถาบันเกษตรกร

 และ 3.มาตรการเฝ้าระวังติดตามผลกระทบสถานการณ์โรคโควิด-19 โดยการตั้งศูนย์ประสานงานและเฝ้าระวัง ผลกระทบสินค้าเกษตรภายใต้ศูนย์ข้อมูลการเกษตรแห่งชาติ

รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ ในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกระทรวงเกษตรฯ ได้รายงานถึงผลกระทบจากโควิด-19 ต่อผลผลิตด้านการเกษตรที่ส่งออกไปจีน กรณีด่านศุลกาการของจีนมีมาตรการเข้มงวดในการตรวจกักกันคน และสินค้าเข้า-ออกมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการเคลียร์สินค้านำเข้า

 ซึ่งในที่ประชุม พล.อ.ประยุทธ์ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ประเมินผลกระทบ และวิเคราะห์มาตรการป้องกันบรรเทาผลกระทบเพื่อเสนอคณะกรรมการ หรือคณะรัฐมตรี (ครม.) เพื่อผลักดันเป็นแผนปฎิบัติต่อไป