สปสช.ต้านภัยป้องกันโควิด-19 อบรม-สอนทำหน้ากากผ้ามาตรฐาน

สปสช.ต้านภัยป้องกันโควิด-19 อบรม-สอนทำหน้ากากผ้ามาตรฐาน

หน้ากากอนามัย และหน้ากากทางเลือก กลายเป็นอาวุธประจำตัวของประชาชนในการป้องกันโรคโควิด-19 เพราะด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคที่ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นทุกวัน การดูแลสุขภาพ ป้องกันตัวเองจึงเป็นการปฎิบัติตัวที่ทุกคนต้องร่วมด้วยช่วยกัน

วานนี้ (9มี.ค.2563) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกับ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) และเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชน​ ร่วมกันจัดกิจกรรม ”สปสช.สานใจ ต้านภัย ป้องกันโรคไวรัสโคโรน่า (โควิด-19)“ พร้อมอบรมสอนวิธีการทำหน้ากากผ้าที่ได้มาตรฐาน โดยมีตัวแทนประชาชนกว่า 50 คนจากในพื้นที่กรุงเทพ และภาคกลางเข้าร่วม เพื่อฝึกการทำหน้ากากทางเลือก นำไปใช้ในชุมชนและพื้นที่ รวมถึงรองรับการขาดแคลนหน้ากากอนามัยอีกด้วย

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสปสช. กล่าวว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมาจนถึขณะนี้ ประเทศไทยยังคงพบผู้ติดเชื้อยืนยันอย่างต่เนื่อง ซึ่งมาตรการสำคัญในการป้องกันการติดโรคโควิด-19 ตามคำแนะนำกระทรวงสาธารณสุข คือ การหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนอยู่แออัด หลีกเลี่ยงอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการโรคระบบทางเดินหายใจ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และสวมหน้ากากผ้าเพื่อป้องกันโรค

158374799126

“สถานการณ์โรคโควิด-19 ตอนนี้ภาครัฐได้มีการดำเนินการอย่างเต็มที่ แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นเพียงหน้าที่ของรัฐเท่านั้น ซึ่งการรวมพลังครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือของคนไทยที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยในส่วนของสปสช.ได้ดำเนินการในพื้นที่ 8,000 กว่าตำบลที่มีกองทุนหลักประกันสุขภาพได้ร่วมกันจัดกิจกรรมให้ภาคประชาชน หรือสังคมมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของ แก้ไขปัญหาโรคโควิด-19 ทั้งในส่วนของการป้องกันการแก้ไขการระบาด การให้ความรู้แก่ประชาชน”นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ต้องยอมรับว่ามีข่าว ข้อมูลมากมายที่ทำให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวล ความกลัว และทำให้เกิดการตีตราร่วมด้วย ดังนั้น หากภาคประชาชน ชุมชนได้มีส่วนร่วม มีความรู้ความเข้าใจ ความจริงตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เพียงข้อมูลข่าวสารในโลกโซเซียลมีเดีย ทุกคนต้องพิจารณาข้อมูลข่าวสาร แหล่งข่าวให้ดี รวมถึงร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่เราจะช่วยและสามารถทำได้ คือ การทำหน้ากากผ้าใช้เอง หรือทำเพื่อคนในครอบครัว และการให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ผู้อื่น

158374828853

ผศ.ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา คณบดีวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ้งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะกรรมการสปสช. กล่าวว่าครั้งนี้เป็นโอกาสดีท่ามกลางวิกฤต ซึ่งเป็นการทำกิจกรรมร่วมกัน เพราะสถานการณ์ปัญหาของโรคโควิด-19 สามารถบริหารจัดการได้ หากทุกคนมีความรู้ มีระบบการให้ข้อมูล และมีจิตใจช่วยป้องกันอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การมาทำหน้ากาาผ้าของภาคประชาชน ชุมชน

158374825433

นอกจากเป็นการลดการตื่นตระหนกของประชาชนในการขาดแคลนหน้ากากอนามัยแล้ว ยังเป็นการป้องกันตัวเอง และผู้อื่น เพราะคงหวังจะพึ่งรัฐอย่างเดียวคงไม่ได้ ไม่มั่นใจว่ารัฐเราจะร่ำรวยมาดูแลเรื่องนี้เพียงอย่างเดียว ฉะนั้น สิ่งที่ทุกคนไม่ควรจะรอ คืกลไกชุมชน ภาคประชาชนที่มีการรวมตัวกันเพื่อสร้างสังคมน่าอยู่ เกื้อกูลกัน อย่าง พอช.เครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชน ซึ่งเมื่อมีการร่วมมือกันจะทำให้ปัญหาโควิด -19 ลดน้อยลง โดยหลังจากมีการจัดทำหน้ากากผ้าแล้ว จะมีกิจกรรมให้ประชาชนร่วมกันจัดทำสบู่ล้างมือต่อไป

158374825437

ปฎิภาณ จุมผา รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กล่าวว่าโรคโควิด-19 กลายเป็นโจทย์ของมนุษยชาติ หรือโจทย์ของคนทุกคน ทุกองค์กร ถึงเวลาที่ต้องใช้โอกาสนี้รวมพลังของภาคประชาชนแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของไทยที่จะได้เห็นความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนที่มีอยู่ทุกพื้นที่ โดยในส่วนขอกองทุนสวัสดิการชุมชนมีจำนวน 5,997 กองทุน มีงบประมาณ 15,549 ล้านบาท เรามีพลังภาคประชาชนเต็มพื้นที่ และการที่ภาคประชาชนเป็นหุ้นส่วนและเป็นเจ้าของปัญหาเรื่องนี้ พอมีโรคนี้ขึ้นมาจะต้องไม่โทษใคร แต่จะร่วมกันโดยเอาปัญหาเป็นตัวตั้ง และทำทันที

158374799179

“ตอนนี้มี 13 จังหวัด 88 กองทุน ได้ให้ข้อมูลความรู้แก่ประชาชน และจัดทำหน้ากากผ้ามาตรฐาน เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่คนในชุมชน คาดว่าจะจัดทำหน้ากากผ้าให้แล้วเสร็จ 444,800ชิ้น ภายในวันที่15 มีนาคมนี้ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งพลังในการช่วยประชาชน และคืนหน้ากากอนามัยให้แก่ประชาชน และโรงพยาบาล ส่วนงบประมาณในการดำเนินการนั้น ขณะนี้แต่ละกองทุนได้มีการจัดสรรงบประมาณเบื้องต้นตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ จะไม่มีปัญหาในเรื่องการดำเนินการอย่างแน่นอน”ปฎิภาณ กล่าว

ปาลิน ธำรงรัตนศิลป์ เครือข่ายสวัสดิการชุมชน กล่าวว่าโรคโควิด-19 เป็นเรื่องสำคัญที่คงจะรอใครไม่ได้ เราในฐานที่เป็นชุมชน เป็นภาคประชาชนต้องช่วยเหลือกันเองตามสวัสดิการชุมชน โดยจะทำหน้าที่ 2 เรื่องสำคัญ คือ 1. การนำความรู้ไปสื่อสารกับพื้นน้องเครือข่ายชุมชนทั่วประเทศให้รู้วิธีการป้องกัน ระแวกระวังในพื้นที่ ดูแลสุขภาพ ความสะอาด การคัดกรอง การประเมินในชุมชน ใช้วิกฤตตรงนี้ให้เป็นโอกาสในการสร้างความรู้ กระบวนการด้านสุขภาพให้แก่ประชาชนได้ตื่นตัวมากขึ้น 

158374799177

และ 2.ร่วมรณรงค์ ผลิตหน้ากากอนามัย ซึ่งเฟสแรก ตั้งเป้าไว้ 1 ล้านชิ้นให้แล้วเสร็จปลายเดือนมีนาคมนี้ เพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่ประชาชนในพื้นที่ความเสี่ยงสูงๆ เช่น กรุงเทพ และปริมณฑล เชียงใหม่ ภูเก็ต สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อควบคุมการระบาดของโรค. และช่วยรัฐลดค่าใช่จ่าย งบประมาณ และสร้างสังคมไม่ทอดทิ้งกันเป็นกลไกช่วยเฝ้าระวัง รวมถึงการขาดแคลนหน้ากากอนามัย อีกทั้งจะมีการการใช้สื่อชุมชนในการให้ความรู้ชุมชนและให้มีส่วนร่วมในการดูแลป้องกันตนเอง

158374825457

สมรักษ์ ศิริเขตรกรณ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่าดีใจที่มีเครือข่ายชุมชนมาช่วยเฝ้าระวังและป้องกันโรคนี้ เพราะสิ่งสำคัญที่สุด คือถ้าทุกคนป้องกันตนเอง และป้องกันคนรอบข้าง คนในครอบครัว จะสามารถป้องกันโรคโควิด-19 ได้ รวมถึง ถ้าทุกคนเข้าใจมีความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ ทุกคนจะไม่ตื่นตระหนก ตกใจหรือมีความขัดแย้งในชุมชนหรือสังคมอย่างที่เกิดปัญหาในตอนนี้ เนื่องจากปัจจุบันมีทั้งเรื่องจริงและไม่จริง ถ้าทุกคนรู้ข้อมูล รู้ความจริง ติดตามสถานการณ์ตามสื่อที่ถูกต้องจะได้ไม่ตื่นตระหนก และได้นำความรู้ไปสื่อสารแก่คนอื่นๆ ในชุมชน เพราะโรคนี้ไม่ได้เป็นง่ายและไม่ได้มีอัตราการตายที่สูง ถ้าทุกคนเข้าใจ ทุกคนจะปลอดภัย

158374828828