‘ฟินแก๊ส’จากแอพสั่งแก๊ส สู่เครดิตปล่อยเงินกู้

‘ฟินแก๊ส’จากแอพสั่งแก๊ส  สู่เครดิตปล่อยเงินกู้

‘ฟินแก๊ส’แพลตฟอร์มซื้อขายแก๊สหุงต้มออนไลน์ ที่สามารถแก้ปัญหาให้กับลูกค้าและเจ้าของร้านแก๊สแถมยังต่อยอดไปสู่การปล่อยสินเชื่อผ่านข้อมูลการใช้แก๊สให้กับสตรีทฟู้ดทั่วประเทศ พร้อมกับการขยายตลาดไปยังตลาดซีแอลเอ็มวี

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกบ้านที่ทำกับข้าวกินเอง จะต้องใช้บริการ ‘ร้านแก๊ส’ เป็นประจำด้วยการโทรสั่งให้ส่งตามบ้าน ต้องเสียเวลาบอกรายเอียดขนาด ยี่ห้อแก๊ส เลขที่บ้านทุกครั้ง ขณะเดียวกันเจ้าของร้านแก๊ส จะมีพนักงานให้บริการจำกัด การส่งมอบอาจล่าช้า และมักมีปัญหาในการบริหารจัดการสต็อก กลายเป็นปัญหา หรือ Pain Point ของร้านแก๊ส จนทำให้ ‘ฟินแก๊ส’ (FinGas) เกิดไอเดียปัญหาเหล่านี้ ด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มซื้อขายแก๊สหุงต้มออนไลน์

ภรณี วัฒนโชติ กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้ง ‘ฟินแก๊ส’ เล่าว่า จากประสบการณ์ตรงของ วัจนาภรณ์ ทีฆพุฒิ อีกผู้ร่วมก่อตั้ง ซึ่งเป็นทายาทโรงบรรจุแก๊สและร้านแก๊สมากว่า 30 ปี มองเห็น Pain Point จึงได้พัฒนาซอฟแวร์มาช่วยในการบริหารจัดการร้านให้ดีขึ้น

เนื่องจากประเทศไทยมีร้านค้าแก๊สกว่า 30,000 ร้านมากกว่าร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-11 ที่มีอยู่กว่าหมื่นร้านค้าในปัจจุบัน สะท้อนว่ามีดีมานด์จำนวนมาก ที่ต้องการตัวช่วยในการแก้ปัญหาการซื้อชายแก๊สปลีกที่ยังไม่สามารถควบคุมระยะเวลาการจัดส่งแก๊สหุงต้มได้ตรงตามเวลาที่กำหนด ทั้งลูกค้ารายย่อยระดับครัวเรือน และร้านอาหาร เพราะกลายเป็น ต้นทุนค่าเสียโอกาส ซึ่งเกิดจาก “ขาด”ระบบการจัดการที่ดีในการจัดการข้อมูล ทั้งด้านลูกค้าและสินค้าคงคลัง รวมทั้งการจัดส่ง จึงกลายเป็นจุดกำเนิดของ‘ฟินแก๊ส’ (FinGas)แพลตฟอร์มซื้อขายแก๊สหุงต้มออนไลน์ ในเวลาต่อมา

“เราทำหน้าที่เป็นตัวกลางเสมือนแกร็บ อูเบอร์เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ และยกระดับมาตรฐานบริการแก๊สหุงต้ม ทำให้สั่งง่าย รวดเร็ว ตรงเวลา ลดการเสียโอกาส ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อร้านแก๊สในการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และเพิ่มรายได้จากการขยายฐานลูกค้า”

ด้วยการเปลี่ยนวิธีการซื้อขายแก๊สจากรูปแบบดั้งเดิมที่ผูกติดกับร้านใดร้านหนึ่ง มาเป็นวิธีการหาร้านจำหน่ายแก๊สหุงต้มที่ดีที่สุดในการ แมสชิ่งดีมานด์และซัพพลาย โดยจะเลือกจากร้านที่อยู่ใกล้ มีสินค้าพร้อมจัดส่ง ผ่านแอพพลิเคชั่นจะช่วยลดต้นทุน เพิ่มโอกาสและกำไร โดยฟินแก๊สจะคิดค่าทำธุรกรรมตามน้ำหนักแก๊สที่ขายได้ในแต่ละคำสั่งซื้อ

ภรณี กล่าวว่า แนวทางการสร้างการเติบโตธุรกิจแบบก้าวกระโดดต้องอาศัยเครือข่ายเพื่อให้ได้สเกล ฉะนั้นนอกจากการเข้าไปเป็นพันธมิตรกับร้านแก๊สที่เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มกว่า 300 ร้านโดยอยู่ในกรุงเทพฯ200ร้านและเชียใหม่100ร้าน และกำลังขยายไปจังหวัดชลบุรี ขอนแก่น ภูเก็ตตามดีมานด์ของลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ตามหัวเมืองท่องเที่ยว

ส่วนอีกกลยุทธ์ที่ทำคู่ขนานกันไปก็คือการเข้าไปเป็นพันธมิตรกับโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ด้วยการเข้าไปเป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์ของแอพ ที่ลูกบ้านที่ใช้บริการ ในหมู่บ้านของแสนสิริ, เอสซี แอสเสท และพร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำนวนกว่า 1 แสนราย

จากธุรกิจแก๊ส ต่อยอดไปสู่ธุรกิจประกันภัย โดยลูกค้าของฟินแก๊ส จะได้รับการประกันอัคคีภัยที่เกิดจากถังแก๊สฟรี ซึ่งเป็นความร่วมมือกับบริษัทเมืองไทยประกันภัย และในกรณีที่ลูกค้าสนใจจะซื้อประกันตัวอื่นจากเมืองไทยประกันภัย ทางฟินแก๊สเองก็จะได้รายได้เป็นค่าคอมมิชชั่นเพิ่มเติม ถือเป็นรายได้อีกช่องทางหนึ่ง

ส่วนเฟสที่สองของ ฟินแก๊สจะเริ่มในปีนี้เพื่อเจาะกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าร้านอาหารรถเข็นริมทางหรือสตรีทเวนเดอร์ (Street Vendor)เพื่อเก็บข้อมูลในประเทศไทย ที่มีร้านรถเข็นฯกว่า 1แสนรายทั่วประเทศ ให้มีโอกาสได้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ในการขยายธุรกิจ อาทิ แม่ค้าขยายก๋วยเตี๋ยวใช้แก๊ส เฉลี่ย 3 ถังต่อวันตกเดือนละ 5หมื่นบาทสามารถนำข้อมูลการใช้แก๊สมาเป็น alternative credit scoring ตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ภรณี ยังระบุว่า ปัญหาของผู้ค้ารายย่อยที่ผ่านมาคือ ไม่สามารถกู้เงินจากธนาคารได้ เพราะไม่มีรายการเดินบัญชีิ (Statement) เพื่อยืนยันความน่าเชื่อถือและรับประกันความเสี่ยงทำให้คนฐานะรายได้น้อยถึงปานกลางสูญเสียโอกาสในการขยายธุรกิจ การบันทึกการใช้แก๊ส อีกหนทางพิจารณาเครดิตเงินกู้ธนาคารช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ และสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้อีกมาก ประกอบกับธปท.กำลังมีโครงการ Peer to Peer Lending Sandbox ที่ลดช่องว่างทางโอกาสในการเข้าถึงเงินทุน ที่ธนาคารสามารถขอข้อมูลการใช้แก๊สเพื่อประกอบการตัดสินใจให้กู้เงิน

นอกจากนี้ ฟินแก๊ส ไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่แค่ในประเทศ เพราะมองเห็นโอกาสขยายตลาดในระดับภูมิภาค ในตลาดที่เกิดใหม่และมีโอกาสเติบโตได้อีกมากข้อมูลที่น่าสนใจคือประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างเมียนมา ที่เพิ่งหันมาเริ่มใช้แก๊สหุงต้มกัน เนื่องจากเมียนมามีการเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย ที่จากเดิมรัฐบาลช่วยอุดหนุนค่าไฟ ทำให้คนส่วนใหญ่ใช้เตาไฟฟ้าทำอาหาร

แต่ปัจจุบัน รัฐบาลยกเลิกนโยบายอุดหนุนค่าไฟ ทำให้คนเมียนมาต้องแบกรับภาระค่าไฟที่เพิ่มขึ้นเป็น3เท่าส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป และคนเริ่มหันมาใช้แก๊สหุงต้มเพื่อประกอบอาหารแทน โดยเพิ่งจะเริ่มมีโรงบรรจุแก๊สสำหรับถึงในครัวเรือนเป็นโรงแรกในปีที่ผ่านมา ภรณี มองว่า โอกาสในการเติบโตของธุรกิจมหาศาล ธุรกิจแก๊สหุงต้มในเมืองไทยเติบโตปีละ 6% หากจัดการดีๆ ยังมีโอกาสเติบโตได้อีก ขณะที่ในประเทศเพื่อนบ้านที่เพิ่งเริ่มเปลี่ยนมาใช้แก๊สหุงต้มนั้น โอกาสการเติบโตมีถึงอย่างน้อยปีละ 15% ทำให้ฟินแก๊สมุ่งมั่นจะขยายกิจการไปในประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีแผนจะจับมือกับพันธมิตรอย่าง Parami Energy เพื่อบุกตลาดในพม่า

“จุดเด่นของเราคือการมีหุ้นส่วนที่มีความสามารถที่หลากหลายทำให้เกิดมุมมองที่แตกต่างกันคนหนึ่งที่บ้านทำโรงงานแก๊ส อีกคนที่บ้านทำร้านอาหาร อีกคนเคยทำงานธนาคารอีกคนทำงานโอเปอเรชั่นธุรกิจระหว่างประเทศตอบโจทย์การขยายธุรกิจระดับภูมิภาค” ซีอีโอของฟินแก๊สกล่าว