'ไทยเวียตเจ็ท' เบรกเปิด 4 รูทบินอินเตอร์ฯ ลดผลกระทบโควิด-19ระบาด

'ไทยเวียตเจ็ท' เบรกเปิด 4 รูทบินอินเตอร์ฯ ลดผลกระทบโควิด-19ระบาด

“ไทยเวียตเจ็ท” เบรกแผนเปิด4เส้นทางบินใหม่สู่อาเซียนไตรมาส2 หลังโควิด-19ระบาด รับกระทบกลยุทธ์ขยายเน็ตเวิร์ก ด้าน“ไทยแอร์เอเชีย” ยันไม่ลดพนักงาน แต่จำเป็นต้องลดค่าตอบแทนผู้บริหารระดับสูงทุกคน ตั้งเเต่ระดับผอ.ฝ่ายขึ้นไป

นายโทนี่ วัณณะพันธุ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด สายการบินไทยเวียตเจ็ท กล่าวว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19กระทบต่อแผนขยายเส้นทางบินใหม่ของไทยเวียตเจ็ทไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) รวม4เส้นทาง แบ่งเป็น3เส้นทางจากกรุงเทพฯสู่เมืองในประเทศอินโดนีเซีย เมียนมา และกัมพูชา ส่วนอีก1เส้นทางคือ อุดรธานี-โฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม จากเดิมตั้งเป้าทยอยเปิดเส้นทางบินใหม่นี้ก่อนเทศกาลสงกรานต์ไปจนถึงเดือน พ.ค.นี้

ส่วนเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ต้องยกเลิกในช่วงนี้คือ กรุงเทพฯ-ไทจง ไต้หวัน โดยได้ดำเนินการช่วยเหลือผู้โดยสารเรื่องขอคืนเงินค่าตั๋ว เลื่อนการเดินทาง และเก็บวงเงินไว้สำหรับการเดินทางครั้งต่อไปตามแต่ละกรณี

“พอเจอวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19ยอมรับว่ากระทบต่อธุรกิจของไทยเวียตเจ็ท ทำให้ยอดผู้โดยสารลดลงเล็กน้อย แต่เนื่องจากขนาดธุรกิจของไทยเวียตเจ็ทยังไม่ได้ใหญ่มาก และฐานผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นตลาดในประเทศ ทำให้ได้รับผลกระทบน้อยกว่าตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ก็ได้รับผลกระทบด้านการขยายเน็ตเวิร์ก ยังไม่สามารถเปิดเส้นทางบินใหม่ไปยังประเทศกลุ่มCLMV(กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) และอื่นๆ ในอาเซียนได้ ต้องเลื่อนแผนออกไปก่อน เมื่อสถานการณ์แพร่ระบาดคลี่คลายดีขึ้น ค่อยกลับมาทยอยเปิดเส้นทางบินใหม่”

สำหรับตลาดนักท่องเที่ยวเวียดนามซึ่งเป็นฐานลูกค้าหลักของเครือเวียตเจ็ท มองว่าเป็นตลาดสำคัญของไทยเพราะปีที่แล้วมีจำนวนเดินทางเข้าไทยกว่า1ล้านคน เครือเวียตเจ็ทจึงมีแผนทำเอ็มโอยู (MOU)ผนึกความร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ราวกลางเดือน มี.ค.นี้ ร่วมกันกระตุ้นตลาดเวียดนามเที่ยวไทย

นายโทนี่ กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องการขยายเส้นทางบินภายในประเทศ ยังต้องติดตามสถานการณ์เช่นกัน เดิมปีนี้มีแผนเปิดเส้นทางใหม่จากกรุงเทพฯไปจังหวัดในภาคอีสานกับภาคใต้เพิ่ม จากปัจจุบันให้บริการแล้ว7เส้นทาง อย่างไรก็ตามเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ไทยเวียตเจ็ทได้เพิ่มความถี่เส้นทางบินภายในประเทศ เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงราย จากวันละ2เที่ยวเป็น3เที่ยวบิน ขณะที่เส้นทางอุดรธานี-เชียงรายมีแผนเพิ่มความถี่จาก3เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เพื่อรองรับกระแสการเดินทางของผู้โดยสาร โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจาก สปป.ลาว

ด้านอัตราการขนส่งผู้โดยสาร (โหลดแฟคเตอร์) เดือน ม.ค.ที่ผ่านมามี90%ส่วนเดือน ก.พ.มี80%ลดลงมาที่ระดับนี้ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีแล้ว เพราะยังใกล้เคียงเป้าโหลดแฟคเตอร์ตลอดปีนี้ซึ่งตั้งไว้ที่90%ส่วนยอดจองตั๋วโดยสารของไทยเวียตเจ็ทปัจจุบันยังปกติดีอยู่ ขณะที่ยอดการยกเลิกอาจจะน้อย เพราะผู้โดยสารบางส่วนเลือกทิ้งตั๋วไม่เดินทาง

“ตอนนี้ทุกสายการบินเทหมดหน้าตัก ทำโปรโมชั่นราคาตั๋วโดยสารควบคู่กับการทำความสะอาดเครื่องบินแบบDeep Cleanเพื่อดึงความมั่นใจในการเดินทางกลับคืนมา แต่จากสถานการณ์แพร่ระบาดตอนนี้ แม้ตั๋วเครื่องบินและโรงแรมที่พักจะราคาถูกลง แต่คนไทยก็อาจจะเลือกไม่เดินทาง”

ขณะที่เป้าหมายรายได้ปี2563ไทยเวียตเจ็ทตั้งเป้าการเติบโต200%เมื่อเทียบกับรายได้6,000ล้านบาทของปีที่แล้ว ตั้งเป้ายอดผู้โดยสารปีนี้4.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก3ล้านคนของปีที่แล้ว ส่วนการขยายฝูงบิน ตามแผนเดิมสิ้นปีนี้จะมี20ลำ เพิ่มอีก9ลำใหม่ จาก11ลำในปัจจุบัน แต่พอมีการแพร่ระบาดของโควิด-19จะต้องมีการทบทวนแผนอีกครั้งให้เข้ากับสถานการณ์

ด้านรายงานข่าวจากสายการบินไทยแอร์เอเชีย ระบุว่า ไทยแอร์เอเชียได้ปรับตัวสู้ผลกระทบจากสถานการณ์ท่องเที่ยวภาพรวมที่ชะลอตัวต่อเนื่องจากการระบาดของโควิด-19โดยยืนยันว่าไม่มีการปรับลดพนักงาน แต่จำเป็นต้องลดค่าตอบแทนผู้บริหารระดับสูงทุกคน ตั้งเเต่ระดับผู้อำนวยการฝ่ายขึ้นไป รวมทั้งขอความร่วมมือจากนักบิน วิศวกรซ่อมบำรุงอากาศยาน เเละพนักงานระดับผู้จัดการขึ้นไปของแผนกต่างๆ สมัครใจใช้สิทธิ์ลางานอย่างน้อย 2-5 วันต่อเดือนโดยไม่รับค่าตอบเเทน ซึ่งมีผลระยะสั้นตั้งเเต่ มี.ค.-ก.ย.2563 เพื่อลดต้นทุนของบริษัท และรักษาสภาพคล่องของกระเเสเงินสด รวมทั้งปรับกลยุทธ์ในการบริหารจัดการต้นทุนต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้สายการบินสามารถให้บริการผู้โดยสารทุกคนได้ และดูเเลพนักงานของไทยแอร์เอเชียทุกคนให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด