ถอดรหัส'แบรนด์กู้โลก' ไม่ชวนเชื่อ..!ต้องทรงคุณค่า

ถอดรหัส'แบรนด์กู้โลก' ไม่ชวนเชื่อ..!ต้องทรงคุณค่า

โลกธุรกิจทุกวันนี้ อยู่ยากขึ้น เมื่อ 2 เมกะเทรนด์ 'ดิจิทัลล้ำยุค-ภาวะโลกร้อน'ป่วนธุรกิจ ทำให้ 'คนรุ่นใหม่”รู้ทันแบรนด์-ไม่หลงคำโฆษณาชวนเชื่อ เท่ากับ“คุณค่า”ในเนื้อแท้แบรนด์ที่ต้องมีส่วนกู้โลก ร่วม'ถอดรหัส'แบรนด์ จะอยู่อย่างไรให้ยืนยาวในศตวรรต21..!

ภายใต้กระแสโลกที่การขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน (Sustainable) เข้มข้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้บริโภคเรียกร้องจาก "ภาคธุรกิจ" ให้ลุกขึ้นมามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาวิกฤติของโลก ดังนั้นเมื่อก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 นิยามของคำว่า “แบรนด์” ความหมายจึงเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน ไม่ใช่เพียงชื่อ โลโก้ ที่สะท้อนว่า ตัวตนของแบรนด์คือใคร กำลังทำอะไร โดยเฉพาะหากต้องการให้แบรนด์มีชีวิตยืนยาว ตัวชี้วัดผลกำไรไม่ใช่คำตอบสุดท้าย 

ทว่า แบรนด์นั้นจะต้องก้าวเป็นผู้นำคืนสิ่งดีๆ มีคุณค่าสู่โลกใบนี้ !!

การรวมตัวของผู้ที่ต้องการเปลี่ยนโลกไปสู่ความยั่งยืน ทั้งภาคธุรกิจ ภาครัฐ ชุมชน ร่วมมือกับนักสร้างแบรนด์ นักการตลาด ธุรกิจเพื่อสังคม ทั้งแบรนด์เล็กแบรนด์ใหญ่ มาแลกเปลี่ยนแนวคิดผ่านงานสัมมนา “Sustainable Brands (SB)” งานที่รวบรวมเนื้อหาและเรื่องราวความยั่งยืนของแบรนด์จากระดับโลกที่ใหญ่ที่สุด จัดมาแล้วกว่า 15 ปี (ตั้งแต่ปี 2006 ) ในเมืองชั้นนำของโลก หลายประเทศ อาทิ ซานดิเอโก้ สหรัฐ, ลอนดอน อังกฤษ, บาร์เซโรน่า สเปน, ริโอเดจาเนโร บราซิล, โตเกียว ญี่ปุ่น ,ซิดนีย์ ออสเตรลีย,เคปทาวน์ แอฟริกาใต้ และแวนคูเวอร์ แคนาดา

การจัด SB ในประเทศไทย ถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียน โดย SB ถูกจัดในไทยมาแล้ว 5 ครั้ง ครั้งล่าสุดถือเป็นครั้งที่ 6 จัดภายใต้ธีม SB’20 Chantaboon – Moonshots to Dream Food ระหว่างวันที่ 22 -23 ก.พ.นี้ที่จังหวัดจันทบุรี เมืองที่มีความพร้อมด้านความหลากหลายพืชพันธุ์วัตถุดิบอาหาร รวมถึง วัฒนธรรมอาหาร สามารถผลักดันต้นแบบโมเดล “ครัวของโลก” ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมด้วยความเชื่อว่า จะเปลี่ยนแปลงระบบ เปลี่ยนเปลงสังคม และโลกใบนี้ให้น่าอยู่ ผ่านการถอดบทเรียนการนำไปสู่แบรนด์ยั่งยืนจากเวทีเสวนา

KoAnn Vikoren Skrzyniarz เป็นผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Founder and CEO of Sustainable Life Media) กล่าวถึงการขับเคลื่อน แบรนด์ยั่งยืน หรือSustainable Brands (SB) ว่า เริ่มเข้มข้นและตื่นตัวมากขึ้น โดยเฉพาะในบริษัทขนาดใหญ่ ที่มีเครือข่ายข้ามไปลงทุนทำธุรกิจทั่วโลก (Multinational Company) ต่างให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืน ด้วยการปรับเปลี่ยนองคาพยพการทำธุรกิจ ตั้งแต่ ระบบเศรษฐกิจ โมเดลการทำธุรกิจ ซัพพลายเชน แหล่งผลิตต้นน้ำยันปลายน้ำ รวมถึงความต้องการของตลาด

“การจะเป็นแบรนด์ที่ยั่งยืนได้ไม่เพียงแต่พัฒนาสินค้าและบริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเท่านั้น แต่จะต้องเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาวิกฤติที่โลกกำลังเผชิญ”

ดังนั้น แบรนด์ ในศตวรรษที่ 21 นิยามจึงเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน ไม่ใช่เพียงโลโก้ และชื่อเรียกยี่ห้อติดบนสินค้าเท่านั้น แต่จะเป็นตัวสะท้อนถึงตัวตน คุณค่า สิ่งที่แบรนด์เป็นผู้นำในการสร้างโลก

นักการตลาด และนักสร้างแบรนด์จึงไม่ใช่นักสร้างเรื่อง ผ่านการโฆษณาประชาสัมพันธ์เกินจริง แต่ต้องมีวิธีคิด (Mindset) ที่มีคุณธรรม ความดีงาม (Integrity) เข้าใจและเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์(Humanity) และมีความเป็นเนื้อแท้ (Authentic) 

“สมัยก่อนการโฆษณาประชาสัมพันธ์ไม่ได้เกิดจากความจริง นี่คือสาเหตุที่ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่เชื่อแบรนด์ใหญ่ ที่ใช้เงินซื้อสื่อโฆษณา แบรนด์จึงต้องปรับตัว คนไม่ต้องการความสมบูรณ์แบบ(Perfect) แต่ต้องการให้บอกกล่าวความจริง ซื่อสัตย์ จริงใจ มีความเป็นตัวตนของแบรนด์” 

เขายังระบุว่า ในอดีตการวางแผนการสื่อสารกลยุทธ์ จะต้องมาจากการผลการวิจัยความต้องการของลูกค้า แต่ปัจจุบัน แบรนด์จะต้องเป็นผู้นำลุกมาบอกกล่าว เล่าเรื่อง เราเป็นใคร ทำอะไร มีบทบาทอย่างไรทำสิ่งดีๆ ให้กับโลกอย่างไร 

“พูดสิ่งที่มาจากตัวตนของแบรนด์บอกไปยังผู้บริโภค หรือ Inside Out..!!” 

เมื่อก่อนคนเข้าใจว่า “แบรนด์ยั่งยืน”คือการใส่ใจสิ่งแวดล้อม แต่ปัจจุบันต้องมีมิติของสังคม เชื่อมโยงกับการผู้คนในสังคม โดยเฉพาะ 2 สิ่งที่เป็นแรงขับเคลื่อนทำให้เกิดผลกระทบต่อตลาดในปัจจุบัน นั่นคือ ปัญหาโลกร้อน (Climate Change) ถือเป็นความกังวลต่อ “มหันตภัย” ที่ทั่วโลกรับรู้ร่วมกัน เสี่ยงต่อการทำธุรกิจในอนาคต อีกเรื่องคือการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภค ทัศนคติและความคิดในการชีวิตประจำวัน รวมถึงมุมมองที่มีต่อภาคธุรกิจ และแบรนด์ เปลี่ยนไป

“แรงขับเคลื่อน 2 พลังหลัก ส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินธุรกิจของแบรนด์ คือปัญหาโลกร้อน เป็นความเสี่ยงการทำธุรกิจ ที่ต้องพึ่งพาทรัพยากร หากสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ภาคการผลิตและบริการก็มีปัญหา รวมถึงเทคโนโลยีดิจิทัล ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมผู้บริโภค”

โดยปัญหาหลักของแบรนด์ใหญ่ ระดับโกลบอลแบรนด์ต้องเผชิญคือ คนรุ่นใหม่(young generation) หมดความเชื่อถือในแบรนด์(trust) พวกเขาไม่เชื่อในสิ่งที่แบรนด์พูด ไม่ไว้วางใจ และไม่มีความฝันอยากจะทำงานกับองค์กรขนาดใหญ่

นี่จึงเกิดกระแส คนรุ่นใหม่ ตื่นตัวกับสิ่งแวดล้อม และปัญหาทางสังคม คนส่วนใหญ่จึงหันไปเป็นเจ้าของธุรกิจ ปั้นธุรกิจสตาร์ทอัพ ทำให้สังคมดีขึ้นด้วยสินค้าและบริการใหม่ๆ โมเดลธุรกิจใหม่จะมาแข่งขันแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาด (disrupt )บริษัทขนาดใหญ่ที่เป็นเจ้าตลาด

กลายเป็น“จุดเปลี่ยน”ที่ทำให้แบรนด์ขนาดใหญ่ต้องปรับตัว ปรับธุรกิจ เข้าหาธุรกิจขนาดเล็ก เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนในอนาคต ด้วยการแสวงหาธุรกิจขนาดเล็กที่เก่ง ฉลาดและมีโมเดลธุรกิจใหม่ เข้ามาเป็นพันธมิตร ด้วยการที่ธุรกิจขนาดใหญ่เข้าไปควบรวมกิจการ (Acquire) โดยใช้จุดแข็งที่เครือข่ายที่แข็งแกร่งกระจายตัวอยู่ทั่วโลก ผนึกกำลังจุดเด่นจากธุรกิจขนาดเล็ก สตาร์ทอัพ ที่เก่งและคล่องตัว บริหารจัดการง่าย รวดเร็ว พัฒนาสร้างสรรค์โมเดลธุรกิจใหม่ๆ สร้างประโยชน์ให้กับสังคม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บริษัทใหญ่จึงไม่ต้องพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่เอง ทางลัดช่วยขยายกลุ่มลูกค้า

ยกตัวอย่างเช่น โคคา-โคล่า เข้าซื้อกิจการ ชาออแกนิค “Honest Tea” ทำให้เติบโตก้าวกระโดด จากปี 2008 ที่โคคา-โคล่า เริ่มเข้าถือหุ้น 40% และซื้อกิจการในปี 2011 รายได้จาก 23 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเป็น 72 ล้านดอลลาร์ เติบโตขึ้น 3 เท่า ทำยอดขายเติบโตเกือบ 10 เท่าจากปี 2007 มียอดขาย 34 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเป็น 261 ล้านดอลลาร์ ในปี 2014 ส่งผลทำให้เพิ่มเงินในการซื้อวัตถุดิบในราคาที่เป็นธรรมจาก 72,000ดอลลาร์ เป็น 1.5 ล้านดอลลาร์

Burt’s Bees ผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนตัว เครื่องสำอาง ที่เป็นมิตรกับโลก ส่วนผสมมาจากธรรมชาติ ได้ถูก Clorox ควบรวมกิจการในปี 2007, Plum Organics ผู้ผลิตอาหารออแกนิค สำหรับเด็ก ที่ถูกซื้อโดย Cambell ในปี 2013 ซึ่งธุรกิจครอบครัวของ Neil Grimmer ผู้ร่วมก่อตั้งเข้ามาอยู่ภายใต้ Cambell เพื่อหวังขยายตลาดไประดับโลก , Unilever เข้าควบรวมบริษัทไอศกรีม Weis Bars ที่ธุรกิจครอบครัวออสเตรเลีย เป็นเจ้าของ ตั้งแต่ปี 1957 รวมถึงการเข้าไปซื้อกิจการของBen & Jerry’s Homemade Holding Inc,สตาร์ทอัพผู้ผลิตไอศกรีม ในสหรัฐ แม้แต่P&G เข้าซื้อแบรนด์ Native ผู้ผลิตโรลออนใต้วงแขนที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติ

“บริษัทใหญ่ๆ แบรนด์ระดับโลกเข้าไปซื้อกิจการบริษัทขนาดเล็ก โดยโกลบอลแบรนด์ได้เปรียบตรงขนาดใหญ่กว่าบริษัทเล็ก จึงสร้างผลกระทบ(Impact) ช่วยทำการตลาดและโปรโมทได้วงกว้าง รวดเร็วกว่า ขณะที่บริษัทเล็กเคลื่อนที่ได้เร็วกว่า แต่สร้างผลลัพธ์ในวงกว้างได้ช้ากว่า”

158365624862

**5เข็มทิศ แบรนด์มีชีวิตยืนยาว

KoAnn ยังมองว่าการเป็นแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับ จะต้องผ่านการเรียนรู้ ค้นหาเนื้อหา ความดีงามของแบรนด์ ก่อนจะก้าวขึ้นสู่เป้าหมาย แบรนด์อายุยืนยาว จะมีกรอบแนวการปฏิบัติใน 5 ด้านคือ

1.จุดมุ่งหมายของแบรนด์ (Purpose) แบรนด์จะต้องไม่ยึดเพียงกำไรทางธุรกิจ แต่จะต้องวางเป้าหมายกำไรเพื่อมิติเพื่อสังคม

2.เป็นผู้นำ ผู้ทรงอิทธิพล (Brand Influence & Engagement) แบรนด์ต้องมีบทบาท สร้างการมีส่วนร่วมในการตะหนักและสร้างเปลี่ยนแปลง แก้ไขปัญหาวิกฤติ สร้างโลกยั่งยืน

3.บริหารจัดการระบบปฏิบัติการ และซัพพลายเชนในธุรกิจ (Regenerative Operation & Supply Chain)นำเทคโนโลยี และเครื่องมือต่างๆ ออกแบบห่วงโซ่คุณค่าตั้งแต่พนักงาน ซัพพลายเชนต้นน้ำ ยันปลายน้ำ รวมไปถึงสังคม ภายใต้วิสัยทัศน์เพื่อความยั่งยืน

4.มีความซื่อสัตย์ในการผลิตสินค้าและบริการ (Net Positive Products &Service) มีสินค้านวัตกรรมเพื่อโลกยั่งยืน ไม่ส่งผลกระทบในเชิงลบ เช่น ยาสีฟันทำให้ฟันขาว แต่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ปนเปื้อนสารเคมี

5.มีความโปร่งใส และมีธรรมาภิบาล (Transparent & Proactive) มีการชัดเจนโปร่งใส ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง มีการบริหารจัดการความหลากหลายอย่างเป็นธรรม เท่าเทียม เดินตามเป้าหมายธุรกิจเพื่ออนาคต สร้างความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย(Stakeholders) ไม่ใช่เพียงพัฒนาธุรกิจให้ดีมีกำไร แต่นำเงินไปล็อบบี้นักการเมืองเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ

เขายังมองว่า นักสร้างแบรนด์จะต้องมองทั้งระบบเชิงองค์รวมในธุรกิจ ไม่ใช่เพียงจุดเล็กๆ จุดเดียว แต่จะต้องหลอมรวมทุกสิ่งที่เกี่ยวข้อง โดยเป้าหมายสูงสุด (Purpose) คือคำสัญญาที่แบรนด์มีกับผู้บริโภค แล้วนำมาขับเคลื่อนไปสู่ทุกส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

ด้าน Marc Buckley นักปฏิวัติด้านอาหารและตัวแทนความยั่งยืนจากองค์การสหประชาชาติ (UN SDG) บอกว่า สิ่งที่ภาคธุรกิจกำลังทำในยุคปัจจุบันเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองเท่ากับระเบิด 500,000 ลูกต่อวัน การบริโภคและการผลิตในปัจจุบันผลิตเกินความต้องการ เกิดขยะเหลือทิ้ง สิ้นเปลืองทรัพยากรเกินกว่าที่มีถึง 3 เท่า อีกทั้งยังไม่ก่อให้เกิดความหลากหลายทางอาหาร

ภาคธุรกิจจึงต้องปรับวิธีคิดใหม่ทั้งหมด ปรับเปลี่ยนโมเดลการทำธุรกิจ การหารายได้ในรูปแบบใหม่ หากยังคิดแบบเดิมด้วยวิธีการทำธุรกิจแบบเดิมทำได้เพียงแค่ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นการ “ซื้อเวลา” ไปในทางเดินเดิมที่นำไปสู่ทางตันเมื่อทรัพยากรหมดโลก

ดังนั้น เป้าขององค์การสหประชาชาติ (UN) ที่สอดคล้องกับการพัฒนายั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs) กำลังผลักดันให้ภาคภาคธุรกิจมีบทบาทในการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่เพื่อลดอุณหภูมิโลกลงกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ภายในปี 2573 (ค.ศ.2030) ซึ่งปัจจุบันมีภาคธุรกิจหลักๆ ระดับโลกเข้าร่วมเครือข่ายพันธมิตรกู้โลกครั้งนี้ จำนวน 87 บริษัท เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีมูลค่าตลาดรวมถึงราว 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ มีการตั้งกองทุนนวัตกรรมเพื่อโลกร้อน มูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่ล้วนเป็นแบรนด์ดังระดับโลก อาทิ Mars, Alibaba, Nike, SAP, Google, Unilever, Microsoft, Coca-Cola สะท้อนให้เห็นว่าอินเตอร์แบรนด์เหล่านี้เริ่มตื่นตัวที่จะกู้วิกฤติโลก

158365629194

Moonshot to Dream Food

ครัวไทยไปดวงจันทร์

ดร.ศิริกุล เลากัยกุล Director of Sustainable Brands Thailand มองว่า ณ ปัจจุบัน เริ่มมีแบรนด์ทั้งขนาดใหญ่ และเกิดโมเดลธุรกิจขนาดเล็กที่ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงสังคมและโลกให้ดีขึ้น หากทั้ง 2 ฝ่ายร่วมมือกันจะส่งผลเป็นพลังบวกทำให้โลกยั่งยืน และแบรนด์ก็มีความยั่งยืน

“การสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนแทน ทั้งแบรนด์และผู้บริโภค รวมถึงสื่อที่ไม่เพียงทำตามกระแส แต่จะต้องลุกขึ้นมาเป็นผู้นำให้ความรู้ในสิ่งที่ถูกต้อง ให้กำลังใจแบรนด์เล็กที่กล้าทำสิ่งที่แตกต่างมีความหมาย”

โมเดล Moonshot คือโมเดลออกแบบความคิดติดจรวดให้ไปไกลเกินกว่า 10-20 ปีเพื่อโลกในอนาคต มาช่วยในการเชื่อมโยงกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นโมเดลผสมผสานที่ทำให้เมืองไทยขับเคลื่อน”ครัวของโลกไปสู่ความยั่งยืนได้ 

Marc Buckley นักปฏิวัติด้านอาหาร ยังย้อนกลับมามองที่การพัฒนาความยั่งยืนในไทย ประเทศที่ถือว่ามีจุดแข็งในด้านอาหาร มีความหลากหลายทางด้านอาหาร มีวัฒนธรรมอาหาร มีการเชื่อมโยงซัพพลายเชนของผู้เกี่ยวข้องหลากหลาย เพียงแต่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการบริหารจัดการใหม่ ยกระดับอาหารออแกนิค โดยนำเครื่องมือดิจิทัล เช่น การวิเคราะห์ข้อมูล (Big Data) การผลิตอาหาร รวมถึงมีการเชื่อมโยงกับนวัตกรรม เป็นโอกาสของการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่ทำให้โลกยั่งยืน

โดยในงานสัมมนามีการเวิร์คช็อปของงานนำโมเดล Moonshot มาผลักดันให้ไทยเป็นเมืองแห่งอาหาร (Food Community) ร่วมกันเปลี่ยนเมืองที่มีคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี อากาศบริสุทธิ์เพื่อผลิตอาหารที่ปลอดภัย สร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้ผลิตอาหาร (Food Community) เชื่อมโยงกับของดีประจำท้องถิ่น เช่น พริกไทยเมืองจันทร์ มีการรวมกลุ่มเสริมความรู้ให้ชุมชนเข้าใจตัวเอง เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว ต่อจิ๊กซอว์กับสตาร์ทอัพแพลตฟอร์ม เช่น โลคอลอะไลค์ (แพลตฟอร์มท่องเที่ยวชุมชน) เพื่อขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ชุมชนมีรายได้จากฐานทรัพยากรในท้องถิ่น

สมดุลชีวิต สังคม ธุรกิจ

ปรัชญาแบรนด์ไทยยั่งยืน

เป็นแบรนด์ไทยที่ยั่งยืนได้จะต้องเชื่อมโยงกับซัพพลายเชน ชุมชน แม้จะไม่มีบทเรียน และกรอบของแบรนด์ยั่งยืน แต่ยืนอยู่บนพื้นฐานของสังคมเกื้อกูนกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่ อาทิ แบรนด์ ดอยคำ ถือเป็นโมเดลต้นแบบของความยั่งยืนที่ถอดบทเรียนให้กับแบรนด์ไทย

พิพัฒนพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ผลิตภัณฑ์ที่บริหารธุรกิจในแบบธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นต้นแบบในการบริหาร สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ เป็นต้นแบบธุรกิจเพื่อสังคมภายใต้ศาสตร์พระราชา พัฒนาสร้างสรรค์สินค้าจากชุมชนด้วยคุณภาพระดับโลกเพื่อประโยชน์สุขของสังคมโดยรวม โดยมี 3 เสาที่ยึดถือคือทำธุรกิจด้วยใจส่งผลกระทบเชิงบวกกับสังคมและสิ่งแวดล้อม พัฒนาสินค้าที่ช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชน ชาวเขา และดูแลรักสิ่งแวดล้อมป่าไม้ ,กำไรสมเหตุสมผลสร้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และพัฒนาคนให้มีคุณภาพสร้างผู้นำและเจ้าของกิจการที่คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม

“พัฒนาอย่างมีคุณภาพด้วยการมีพันธมิตรคือชุมชน ทำให้เข้าใจถึงการพัฒนา อย่าตีหัวเข้าบ้าน เกษตรกรไม่มีวันเปลี่ยนได้หากเราไม่ได้รับประโยชน์ เราอย่าหวังรายได้จากเขา รวมถึงเมื่อขายสินค้าได้มีกำไรแล้วต้องแบ่งปัน บางปีมีกำไรสูงถึง 12% ก็ต้องนำกลับมาคืนชุมชน เช่นเพิ่มราคาสินค้าที่รับซื้อจากเกษตรกร และพัฒนาสิ่งแวดล้อมจึงจะเป็นประโยชน์ระยะยาว”

สุดท้ายพัฒนาคน เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะเป็นการผู้นำ เป็นผู้ถ่ายทอด ส่งต่อปรัชญาการดำเนินธุรกิจ และวิถีเศรษฐกิจพอเพียง

อนาคตที่ดอยคำ จะมุ่งเป็นแบรนด์ที่พัฒนาสินค้าจากธรรมชาติ ไม่มีการแต่งสีและกลิ่นปลอมปน