ประชากรโลก 90% อคติกับผู้หญิง 

ประชากรโลก 90% อคติกับผู้หญิง 

โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดีพี) เผยรายงานล่าสุดก่อนถึงวันสตรีสากล 8 มี.ค. พบว่าประชากรโลกทุกเพศ เกือบ 90% ยังมีอคติกับผู้หญิง

ยูเอ็นดีพี ศึกษาดัชนีปทัสถานทางสังคมระหว่างเพศ ใน 75 ประเทศ คิดเป็น 80% ของประชากรโลก พบว่าประชากร 9 ใน 10 รวมทั้งผู้หญิงด้วยกันเองยังมีอคติกับผู้หญิง เช่น ผู้ชายเป็นผู้นำทางการเมืองและธุรกิจดีกว่าผู้หญิง การเรียนมหาวิทยาลัยสำคัญต่อผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และผู้ชายควรได้รับการปฏิบัติที่เหนือกว่าในการแข่งขันกันหางานทำ

ประเทศที่ประชากรมีแนวคิดเหยียดเพศอย่างน้อย 1 ข้อมากที่สุดคือปากีสถาน ประชาชน 99.81% มีอคติอย่างที่กล่าวมา ตามด้วยกาตาร์และไนจีเรีย 99.73%

ประเทศที่มีสัดส่วนประชากรอคติกับผู้หญิงน้อยที่สุด ได้แก่ อันดอร์รา 27.01% สวีเดน 30.01% และเนเธอร์แลนด์ 39.75%

ฝรั่งเศส อังกฤษ และสหรัฐ คะแนนใกล้เคียงกัน ประชากรที่มีความเชื่อเหยียดเพศอย่างน้อย 1 ข้ออยู่ในสัดส่วน 56% 54.6% และ 57.31% ตามลำดับ

สภาทั่วโลกมีผู้หญิงเป็นตัวแทนเพียง 24% ใน 193 ประเทศมีผู้หญิงเป็นหัวหน้ารัฐบาลเพียง 10 คน ในตลาดแรงงานผู้หญิงได้ค่าตอบแทนน้อยกว่าและมีโอกาสขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารน้อยกว่า ซีอีโอในบริษัทเอสแอนด์พี 500 เป็นผู้หญิงไม่ถึง 6% ขณะที่ผู้หญิงทำงานมากชั่วโมงกว่าผู้ชาย รวมถึงงานบ้านที่ไม่ได้รับค่าจ้างด้วย

ยูเอ็นดีพี แถลงเปิดตัวรายงาน ระบุว่าตัวเลขดังกล่าวบ่งชี้ถึงเบาะแสใหม่ว่าด้วยอุปสรรคที่มองไม่เห็นที่ผู้หญิงต้องเผชิญกว่าจะบรรลุความเสมอภาคทางเพศ แม้ว่าหลายสิบปีที่ผ่านมาพัฒนาการจะดีขึ้นมาก

“การทำงานที่ผ่านมาในการลดช่องว่างด้านสุขภาพหรือการศึกษา ตอนนี้พัฒนามาเป็นการแก้ปัญหาความท้าทายที่ยากยิ่งกว่าในการสร้างความเสมอภาค นั่นคืออคติที่ฝังรากลึกระหว่างชายกับหญิง” อาคิม สไตเนอร์ ผู้อำนวยการยูเอ็นดีพีกล่าว พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลและสถาบันต่างๆ ใช้การศึกษาเปลี่ยนแปลงความคิดและวิธีการที่ยังเลือกปฏิบัติระหว่างหญิงกับชาย

นอกเหนือจากความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา สุขภาพ และเศรษฐกิจแล้ว ยูเอ็นดีพียังพบข้อมูลที่น่าตกใจที่สุดข้อหนึ่งคือ ประชาชน 28% รับได้ที่ผู้ชายทุบตีภรรยา

  • 25 ปีปฏิญญาและแผนปฏิบัติการปักกิ่ง

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ประกาศปฏิญญาและแผนปฏิบัติการปักกิ่งว่าด้วยผู้หญิงเมื่อปี 2538 เด็กผู้หญิงได้เรียนหนังสือมากขึ้นกว่าในอดีต หลายประเทศเกิดความเท่าเทียมกันด้านการศึกษามากขึ้น อัตราการรู้หนังสือทั่วโลกปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในหมู่เยาวชน

- ระหว่างปี 2543-2560 อัตราเสียชีวิตจากการคลอดบุตรทั่วโลกลดลง 38%

- ตลอดทศวรรษที่ผ่านมาสัดส่วนการคลอดบุตรที่มีเจ้าหน้าที่ดูแลเพิ่มขึ้น 12%

- สัดส่วนผู้หญิงในสภาเพิ่มเป็น 2 เท่า

- การออกกฎหมายแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง

- ปัจจุบันกว่า 3 ใน 4 ของประเทศทั่วโลกมีกฎหมายต่อต้านความรุนแรงในครอบครัวแล้ว