คาดเฟดหั่นดอกเบี้ยรอบใหม่เดือนนี้ฉุดดอลลาร์อ่อนค่าเกือบ 1%

คาดเฟดหั่นดอกเบี้ยรอบใหม่เดือนนี้ฉุดดอลลาร์อ่อนค่าเกือบ 1%

ดอลลาร์อ่อนค่าลงเกือบ 1% เทียบเงินสกุลหลัก ขณะที่นักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยมากถึง 0.75% ในการประชุมวันที่ 17-18 มี.ค.เพื่อลดผล กระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจสหรัฐ

นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังถูกกดดันจากการทรุดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ โดยเมื่อเวลา 23.53 น.ของวันศุกร์(6มี.ค.)ตามเวลาไทย ดอลลาร์ร่วงลง 0.86% สู่ระดับ 105.24 เยน ขณะที่ยูโรปรับตัวลง 0.20% สู่ระดับ 119.06 เยน และดีดตัวขึ้น 0.67% สู่ระดับ 1.1310 ดอลลาร์ ส่วนดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลบ 0.87% สู่ระดับ 95.98

ดัชนีดอลลาร์ดิ่งลงกว่า 2% ในสัปดาห์นี้ ทำสถิติทรุดตัวลงหนักที่สุดเมื่อเทียบรายสัปดาห์นับตั้งแต่เดือนพ.ค.2559

เฟดวอทช์ ทูล ของซีเอ็มอี กรุ๊ป บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมวันที่ 17-18 มี.ค. แม้ว่าเฟดเพิ่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉิน 0.50% เมื่อวันอังคาร (3มี.ค.)

ทั้งนี้ นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดมีแนวโน้ม 72.6% ที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในวันที่ 18 มี.ค. จากระดับ 1.00-1.25% สู่ระดับ 0.25-0.50% และมีแนวโน้ม 27.4% ที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 0.50-0.75%

ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐดิ่งลงในวันนี้(6มี.ค.) ขณะที่นักลงทุนพากันเข้าซื้อพันธบัตรในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ร่วงลงแตะระดับ 0.695% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 30 ปี ดิ่งลงสู่ระดับ 1.28% และเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปี ปรับตัวลงสู่ระดับ 0.45% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2558

นักวิเคราะห์ ระบุว่า การทรุดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสะท้อนถึงความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจสหรัฐ รวมทั้งสะท้อนความวิตกในตลาดที่ว่าการผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลายแห่ง อาจไม่เพียงพอที่จะป้องกันผลกระทบจากไวรัสดังกล่าว