'สุขภาวะทางจิต' ของเด็กและเยาวชนไทย

'สุขภาวะทางจิต' ของเด็กและเยาวชนไทย

ซูเปอร์อีโก้ (Super Ego) เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสนใจ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่กำลังเติบใหญ่ เป็นกำลังของชาติในอนาคต ต้องให้พวกเขามี Super Ego หรือการรู้จักยับยั้งชั่งใจ รู้อะไรว่าอะไรควร หรืออะไรไม่ควร

ในเดือน ม.ค.หลังปีใหม่ไม่กี่วันก็เป็นวันเด็กแห่งชาติ แม้จะผ่านไปแล้วแต่ก็อยากจะพูดบางอย่างเรื่องสุขภาวะทางจิตของเด็กและเยาวชนไทยในวันนี้ ที่จะเป็นอนาคตของชาติในวันหน้า เพราะพฤติกรรมของเด็กกับแนวคิดเรื่องความรู้เรื่องสุขภาวะ (Health Literacy) เป็นเรื่องแยกกันไม่ออกเรื่องของความรอบรู้ที่เกี่ยวกับสุขภาวะ ไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาวะทางกาย แต่รวมถึงสุขภาวะทางจิตใจด้วย อาจเรียกว่า Mental Health Literacy ก็ได้

ครั้งหนึ่งนานมาแล้วสมัยลูกชาย (ที่เป็นอาจารย์แพทย์ในปัจจุบัน) เรียนโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่ง เคยโดนเพื่อนในชั้นแทงด้วยปลายดินสอแหลมใต้ตานิดเดียวตอนเรียนประถมต้น โรงเรียนในสังกัด กทม.โชคดีที่ไม่เป็นอะไรมาก คนที่แทงบอกว่าเพื่อนอีกคนบอกให้ทำก็ทำ เลยคุยกับครูประจำชั้นเรื่องที่เกิดครูก็เหนื่อย สภาพแวดล้อมทางบ้านของเด็กทั้งชั้นนั้นหลากหลาย เป็นโรงเรียนของรัฐ ที่เด็กมาจากทุกชนชั้นในสังคม

ถ้าครอบครัวซึ่งใกล้ชิดเด็กที่สุดไม่สนใจก็ยากที่โรงเรียนจะปรับอะไรได้ ชีวิตส่วนใหญ่ของเด็กอยู่ที่บ้านและสังคมรอบข้าง ถ้าบริบททางสังคมไม่เปลี่ยนก็ยากเหมือนกัน

เช่นเดียวกับเรื่องปัญหาเรื่องเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรของเด็กและเยาวชน มันมาจากสภาพจิตที่ไม่ได้ถูกกล่อมเกลาว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ เรื่องของความรู้หรือตระหนักรู้สุขภาวะทางจิตใจ หรือ Mental Health Literacy จึงเป็นเรื่องสำคัญ

มีนักจิตวิทยาหลายคนพยายามอธิบายเรื่องนี้ อย่างเช่นซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) เป็นผู้หนึ่งที่อธิบายว่าพฤติกรรมที่แสดงออกของมนุษย์นั้นมี 3 ระดับ คืออิด (Id) อีโก้ (Ego) และซูเปอร์อีโก้ (Super Ego)

Id นั้นคือสิ่งที่อยู่ในเบื้องลึกของจิตใจ ฝังแน่นและเป็นทั้งเรื่องของกรรมพันธุ์และสภาวะการหล่อหลอมมาตั้งแต่เล็ก เปลี่ยนแปลงยากมาก อาจเรียกว่าเป็นกมลสันดานก็ว่าได้

Ego เป็นเรื่องของสภาพแวดล้อมที่เข้ามาหล่อหลอมให้มนุษย์ปรับตัวเข้ากับสังคมตามบริบทแวดล้อม สร้างบุคลิกเฉพาะ สร้างความเชื่อมั่น

และ Super Ego เป็นเรื่องของการรับรู้รับทราบสิ่งที่เป็นปทัสถานหรือ norm ของสังคมที่ยอมรับหรือไม่ยอมรับพฤติกรรมของมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันในสังคม ทำให้เกิดการยับยั้งความเป็น Ego ของมนุษย์ว่าอย่างนี้ไม่ถูก ไม่ควรทำ มีความยับยั้งชั่งใจในเรื่องที่สังคมไม่เห็นชอบ ไม่ถูกต้อง ไม่มีศีลธรรม ไม่ถูกทำนองคลองธรรม

เรื่องของความรู้และตระหนักรู้ทั้งเรื่องสุขภาวะทางร่างกาย หรือ Health Literacy และสุขภาวะทางจิตใจ หรือ Mental Health Literacy ต้องไปด้วยกัน

Super Ego เป็นเรื่องสำคัญ แต่เวลาที่พูดกันคนทั่วไปมักพูดเฉพาะคำว่า Ego เช่นนายคนนั้นอีโก้สูง แตะไม่ได้ ไม่ฟังใครแต่ อีโก้ไม่ได้เลวร้ายไปหมด คนที่มีลักษณะผู้นำที่มีอำนาจบารมี (Charismatic Leadership) มักมีอีโก้สูงด้วย ถ้าสูงมากๆ ไม่ฟังคนอื่นก็อาจกลายเป็นเผด็จการ ไม่ฟังใคร

ซูเปอร์อีโก้ (Super Ego) จึงเป็นสิ่งที่เราต้องให้ความสนใจ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่กำลังเติบใหญ่ เป็นกำลังของชาติในอนาคต ต้องให้พวกเขามี Super Ego รู้จักยับยั้งชั่งใจ รู้อะไรควรไม่ควร มีความรู้เรื่องสุขภาวะทางจิตใจแล้วเรื่องกลั่นแกล้งเพื่อน หรือพฤติกรรมทางเพศที่ไม่พึงประสงค์ก็อาจลดลงได้บ้าง เรื่องของความรู้และตระหนักรู้ทั้งเรื่องสุขภาวะทางร่างกาย หรือ Health Literacy และสุขภาวะทางจิตใจ หรือ Mental Health Literacy จึงต้องไปด้วยกัน