‘บอนด์ยิลด์’ รูดต่ำ 1% สัญญาณเตือนศก.ถดถอย?

 ‘บอนด์ยิลด์’ รูดต่ำ 1% สัญญาณเตือนศก.ถดถอย?

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19” ที่มีแนวโน้มลุกลามแพร่กระจายไปในหลายประเทศ กำลังสร้างความตื่นตระหนกแก่ “นักลงทุนทั่วโลก”

โดยจะเห็นว่า นักลงทุนส่วนใหญ่พากัน “เทขายหุ้น” หันไปลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น “ทองคำ” และ “พันธบัตร”(บอนด์)

ช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่า พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ราคาปรับขึ้นต่อเนื่อง จนผลตอบแทนของพันธบัตร(บอนด์ยิลด์) เหล่านี้ร่วงลง “ยกแผง” โดยเฉพาะรุ่นอายุ 10 ปี ลงมาต่ำกว่าระดับ 1.00% ทำจุด “ต่ำสุด” ใหม่เป็นประวัติการณ์ที่ 0.80% ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) แม้ว่า เฟด พึ่งจะลดดอกเบี้ยลงแบบฉุกเฉินก็ตาม

โดย กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา เฟด ลดดอกเบี้ยแบบ “ฉุกเฉิน” 0.5% ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.00-1.25% จากเดิม 1.50-1.75% เพื่อรับมือกับเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19

นอกจากนี้ตลาดบอนด์สหรัฐตลอดเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ยังเกิดภาวะ “เส้นผลตอบแทนกลับหัว” หรือ "Inverted yield curve“ อยู่หลายครั้ง ซึ่งเป็นภาวะที่บอนด์ยิลด์ระยะสั้นให้ ”ผลตอบแทนสูงกว่า" บอนด์ยิลด์ระยะยาว ...สถานการณ์เหล่านี้ถือเป็นเครื่องเตือนภัยถึง ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเกิด “ภาวะถดถอย” ในระยะข้างหน้า

ข้อมูลเชิงสถิติในอดีตของ “สหรัฐ” ตั้งแต่ปี 1960 (2503) ถึงปัจจุบัน สามารถทำนายการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ “ถูกต้อง” ถึง 7  ครั้ง จากทั้งหมด 8 ครั้ง มีผิดพลาดเพียงครั้งเดียว คือ ในปี 1966(2509) โดยสถิติชี้ว่า หลังเกิดภาวะ Inverted yield curve มักเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยตามมาในอีก 1-2 ปีข้างหน้า 

ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนจึงกังวลว่า การเกิดภาวะ  Inverted yield curve บวกกับความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของ “โควิด-19” ที่เริ่มกระจายในหลายๆ ประเทศ กำลังลากเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลก เข้าสู่ภาวะถดถอยในระยะข้างหน้า

สำหรับตลาด “บอนด์ไทย” แม้เวลานี้ยังไม่เกิดภาวะเส้นผลตอบแทนกลับหัว แต่ถ้าดู “บอนด์ยิลด์” รุ่นอายุ 10 ปี ซึ่งในสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ลงมาต่ำกว่าระดับ 1% โดยอยู่ที่ 0.94% ถือเป็นระดับต่ำสุดในประวัติการณ์เช่นกัน ซึ่งเป็นระดับที่ "ใกล้เคียง" หรือ "ต่ำกว่า" ดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่ 1.00%

“นริศ สถาผลเดชา” หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ระบุว่า การที่บอนด์ยิลด์ของไทยระยะยาว เช่น รุ่นอายุ 10 ปี ปรับลดลงจนอยู่ระดับเดียวกับดอกเบี้ยนโยบาย ถือเป็น “หนึ่งในเครื่องบ่งชี้” ถึงความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ "เศรษฐกิจถดถอย” ในระยะข้างหน้าได้เช่นกัน

โดยตลอด 12 ปีที่ผ่านมา มี 3 ครั้งที่ “บอนด์ยิลด์” รุ่นอายุ 10 ปีของไทย ปรับลดลงมาอยู่ในระดับ “ใกล้เคียง” หรือ “ต่ำกว่า” ดอกเบี้ยนโยบาย  

ครั้งแรก คือ ปี 2551 ช่วงนั้นดอกเบี้ยนโยบายอยู่ระดับ 2.75% ขณะที่ บอนด์ยิลด์ รุ่นอายุ 10 ปี เคลื่อนไหวในระดับ 2-2.5% เป็นระดับที่ต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งหลังจากนั้นก็เกิด “วิกฤตเศรษฐกิจโลก” ทำให้ ธปท. ต้องปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงจนอยู่ระดับ 1.25%

ครั้งที่สอง ปี 2554 เวลานั้นดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับ 3.50% ส่วน บอนด์ยิลด์ รุ่นอายุ 10 ปี แกว่งตัวในระดับ 3.25-3.50% โดยช่วงเวลานั้นเกิดเหตุการณ์มหาอุทกภัย “น้ำท่วมใหญ่” ครั้งรุนแรง และก็ทำให้เศรษฐกิจไทยเกิดภาวะถดถอย จน ธปท. ต้องปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ระดับ 2.5% เพื่อดูแลเศรษฐกิจ

ครั้งที่สาม ปี 2557 ขณะนั้นดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับ 1.5% ส่วน บอนด์ยิลด์ รุ่นอายุ 10 ปี เคลื่อนไหวในระดับเดียวกัน คือ 1.5-1.6% เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง และทำให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) ปีดังกล่าว ขยายตัวเพียง 1% เท่านั้น

การที่ บอนด์ยิลด์ รุ่นอายุ 10 ปี ลดลงทำจุดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ที่ 0.94% ในครั้งนี้ และยังเป็นระดับใกล้เคียงกับดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.00% สร้างความกังวลต่อตลาดการเงินว่า “เศรษฐกิจไทย” กำลังเดินเข้าสู่ “ภาวะถดถอย” ในระยะข้างหน้า

อาจมีข้อสงสัยว่า การเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ในช่วงที่เศรษฐกิจเผชิญ “ช็อก” จากเหตุการณ์ชั่วคราว เช่น “โควิด-19” จะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจไทยอย่างไร

"จิติพล พฤกษาเมธานันท์" นักกลยุทธ์ตลาดการเงินและการลงทุน บล.ไทยพาณิชย์ ระบุว่า เมื่อเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอย จะยิ่งซ้ำเติมความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ ซึ่งเริ่มไม่แน่ใจว่า ระยะข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น ทำให้ธุรกิจเริ่มชะลอการลงทุน ส่งผลต่อเศรษฐกิจระยะข้างหน้าที่อาจ “ซึม” ยาว

นอกจากนี้ การที่เศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่องถึง 2 ไตรมาส ยังทำให้ธุรกิจที่ “สายป่าน” สั้นต้องปิดกิจการ และโครงสร้างธุรกิจยังอาจเปลี่ยนไป เนื่องจากคนเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรม ดังนั้นภาวะเศรษฐกิจถดถอย จึงเป็นตัวเร่งให้ธุรกิจที่กำลังเผชิญกับการ “ดีสรัปชัน” ประสบความยากลำบากที่มากขึ้นด้วย 

หลังจากนี้คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่า “เศรษฐกิจไทย” จะรอดพ้นจาก “ภาวะถดถอย” ได้หรือไม่!