เคาะแล้ว! แจกคนละ 2,000 บาท รับมือโควิด-19

เคาะแล้ว! แจกคนละ 2,000 บาท รับมือโควิด-19

ครม.เศรษฐกิจเห็นชอบ แจกคนละ 2,000 บาท ผ่านระบบอีเพย์เมนต์ กระตุ้นเศรษฐกิจ รับมือโควิด-19

เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 63 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตีว่ากระทรวงกลาโหม เป็นประธาน

นายอุตตม กล่าวว่า ครม.เศรษฐกิจเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอมาตรการชุดที่ 1 ลดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โดยหนึ่งในมาตรการสำคัญคือการให้เงินแก่ผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผ่านระบบอีเพย์เมนต์ จำนวนคนละ 2,000 บาท โดยจะให้เป็นเวลา 2 เดือน จ่ายเดือนละ 1,000 บาท ส่วนตัวเลขจำนวนผู้ที่จะได้รับการช่วยเหลือ ยังต้องรอผลสรุปอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง จะเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุม ครม.ในสัปดาห์ต่อไป

นายอุตตม กล่าวว่า โดยหลักการของมาตรการรองรับผลกระทบโควิด-19 ล็อตแรกนี้ ก็เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ยังมีต้นทุนการดำเนินการ เพราะไม่ต้องการให้เกิดการเลิกจ้างแรงงาน ฉะนั้นจึงต้องมีมาตรการการเงินเข้าไปช่วย


ขณะเดียวกัน สำหรับประชาชนในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เกษตรและอาชีพอิสระ เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมาก ก็จำเป็นต้องมีมาตรการเข้าไปช่วยผ่านการแจกเงิน ซึ่งต้องมีความชัดเจนในรายละเอียด แต่เราจะทำในระยะเวลาสั้น คือ 2 เดือน ส่วนวงเงินนั้น จะอยู่ที่ไม่เกินคนละ 1 พันบาทต่อเดือน เริ่มแจกได้ในเดือนเม.ย.นี้


สำหรับมาตรการด้านการเงินนั้น จะประกอบด้วย การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งจะเปิดกว้างให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม


ขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)และธนาคารพาณิชย์ได้ให้ความร่วมมือในการเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับความเดือดร้อนผ่านการพักหนี้เงินต้น ลดอัตราดอกเบี้ยและขยายระยะเวลาการชำระหนี้ นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเสริมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานประกันสังคมจะให้สินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ


ส่วนมาตรการทางภาษีนั้น จะทำเพื่อเป็นการคืนสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการในประเทศ โดยจะพิจารณาลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย และ ให้นำดอกเบี้ยจ่ายจากการกู้เงินซอฟท์โลนมาหักลดหย่อนภาษีได้เป็นการชั่วคราว ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังจะเร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ประกอบการที่ดีในประเทศภายใน 15 วัน


ด้านมาตรการส่งเสริมการจ้างงานนั้น ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สามารถนำรายจ่ายที่เกิดจากการจ้างงานในรอบการจ้างงานตั้งแต่ 1 เม.ย.ถึง 31 ก.ค.นี้ มาหักลดหย่อนภาษีได้ถึง 3 เท่า


มาตรการอื่นๆนั้น จะพิจารณาให้หน่วยงานรัฐต่างๆได้มีการผ่อนปรนการจัดเก็บค่าธรรมเนียม ค่าเช่า ค่าตอบแทนต่างๆที่เก็บจากเอกชน รวมถึง การจัดเก็บค่าน้ำ ค่าไฟ และ การลดเงินสมทบเข้าประกันสังคม


นอกจากนี้ จะมีมาตรการส่งเสริมตลาดทุนผ่านการขยายวงเงินลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออมระยะยาว(SSF)ที่จะได้ลดหย่อนภาษี และ ตั้งกองทุนช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งกระทรวงการคลังจะต้องหารือกับสำนักงบประมาณอีกครั้ง


ทั้งนี้กระทรวงการคลังจะทำการประเมินผลของมาตรการอย่างต่อเนื่อง เพื่อประกอบการพิจารณาว่า จำเป็นต้องมีมาตรการล็อตที่สองหรือไม่
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้นั้น จะรวมถึงลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียและเริ่มเป็นหนี้เสียที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กรณีที่เป็นหนี้เสียจะครอบคลุมไปถึงลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2562 โดยความช่วยเหลือจะทำได้ในหลากหลายรูปแบบ อาทิ ยืดเวลาการชำระหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ย เปลี่ยนประเภทวงเงินระยะสั้นเป็นระยะยาว และลดค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง โดยจะครอบคลุมลูกหนี้ขนาดใหญ่ เอสเอ็มอี และ บุคคล


กรณีลูกหนี้บุคคลในส่วนหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลที่จะต้องมีการชำระค่างวดขั้นต่ำ 10% จะลดลงเหลือ 5% สามารถแปลงหนี้ที่หมุนต่อเนื่องเป็นหนี้ระยะยาวได้ เพื่อลดภาระของประชาชน ทั้งหมดนี้ เป็นมาตรการที่ธปท.ประกาศออกไปแล้วในหนังสือเวียนเมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา


“ในหนังสือเวียนได้ทำความเข้าใจกับสถาบันการเงินถึงเกณฑ์ต่างๆที่เป็นอุปสรรคทำให้ปรับโครงสร้างหนี้ได้เร็วขึ้น โดยธปท.จะผ่อนคลายให้ชั่วคราวเป็นเวลา 2 ปี ตั้งแต่ 1 ม.ค.2563 – 31 ธ.ค.2564 ทำให้หนี้ปรับที่ปรับโครงสร้างหนี้กลับมาเป็นหนี้ชั้นปกติได้เร็วขึ้น ก็จะเป็นมาตรการจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และ ทำให้กฎเกณฑ์ที่เราระมัดระวังเป็นพิเศษตามปกติ ก็จะผ่อนคลายได้ ทำให้เชื่อว่า จะไม่มีเกณฑ์ใดที่เป็นอุปสรรคและจูงใจให้แบงก์ช่วยลูกหนี้ได้ต่อเนื่อง”

นางรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)กล่าวว่า มาตรการส่งเสริมตลาดทุนผ่านการขยายวงเงินลงทุนในกองทุนSSFที่จะได้รับการลดหย่อนภาษีนั้น จะเป็นมาตรการชั่วคราวที่จะสะท้อนความจำเป็น โดยกำหนดใช้ในระยะเวลาไม่เกินเดือนมิ.ย.นี้หลังคณะรัฐมนตรีอนุมัติ โดยวงเงินที่จะขยายนั้น ต้องขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติก่อน ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมตลาดทุนในช่วงนี้ จะกำหนดให้นำวงเงินลงทุนSSFไปลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนได้มากกว่า 65% สำหรับระยะเวลาการถือครองยังเป็น 10 ปีเท่าเดิม


นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทยกล่าวว่า เกณฑ์การปรับโครงสร้างหนี้ที่จะนำมาใช้นั้น จะขึ้นอยู่กับความเดือดร้อนของลูกหนี้ในแต่ละรายและขึ้นอยู่กับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ด้วย ในทางปฏิบัติแต่ละธนาคารจะทำการติดต่อลูกหนี้ในแต่ละรายและพิจารณาเป็นรายกรณี กรณีที่มีปัญหามาก อาจพักชำระหนี้เงินต้นให้ถึง 12 เดือน เป็นต้น