'ดาเรน ถัง' ผู้พิทักษ์ทรัพย์สินทางปัญญาโลกคนใหม่

'ดาเรน ถัง' ผู้พิทักษ์ทรัพย์สินทางปัญญาโลกคนใหม่

“ดาเรน ถัง” ประธานสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของสิงคโปร์ ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการคนใหม่ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก หรือ "ไวโป" (WIPO)

ถังจะเป็นผู้อำนวยการไวโปคนที่ 5 ต่อจาก ฟรานซิส กูร์รี นักวิชาการด้านทรัพย์สินทางปัญญาชาวออสเตรเลีย ที่ดำรงตำแหน่งนี้มาตั้งแต่ปี 2551

คณะกรรมาธิการประสานงานของไวโป ซึ่งประชุมร่วมกันเมื่อวันพุธ (4 มี.ค.) มีมติเสียงข้างมาก 55 ต่อ 28 เสียง เสนอชื่อ ดาเรน ถัง นั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการไวโปคนต่อไป ซึ่งมติของที่ประชุมมาจากการแข่งขันระหว่างถังกับผู้สมัครอีก 5 คนจากโคลอมเบีย กานา คาซัคสถาน เปรู และหนึ่งในนั้นคือ “หวัง ปินหยาง” ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาชาวจีน 

ตามปกติแล้ว การเสนอชื่อของคณะกรรมาธิการประสานงานไวโปไม่เคยถูกคัดค้าน แม้ว่าผู้ได้รับการเสนอชื่อต้องรอการลงมติของที่ประชุมสมัชชาใหญ่รัฐสมาชิกไวโปทั้ง 184 ประเทศเสียก่อน โดยมีกำหนดลงมติในเดือน พ.ค.นี้

ด้าน “ลี เซียน หลุง” นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ โพสต์ในเฟซบุ๊ค แสดงความยินดีกับถัง พร้อมบอกว่า เป็นครั้งแรกที่ชาวสิงคโปร์ได้รับเลือกในตำแหน่งผู้นำของสหประชาชาติ (ยูเอ็น)

ไวโปเป็นทบวงชำนาญพิเศษของยูเอ็น โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเจนีวาของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งปัจจุบัน ไวโปมีสมาชิก 184 ประเทศ รวมถึงไทยที่เป็นสมาชิกเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2532 และมีวัตถุประสงค์หลักคือส่งเสริมการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศและบริหารจัดการความตกลงต่างๆ เกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

ขณะที่ประเภทของทรัพย์สินทางปัญญาในทางสากลแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ 1. ลิขสิทธิ์ (Copyright) หมายถึง สิทธิแต่เพียงผู้เดียวของผู้สร้างสรรค์ที่จะกระทำการใดๆ เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้นตามประเภทลิขสิทธิ์ที่กฎหมายกำหนด ประกอบด้วย งานสาขาวรรณกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม งานภาพยนตร์ งานวิทยาศาสตร์ งานด้านการแสดง โปรแกรมคอมพิวเตอร์และงานฐานข้อมูล

2. ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม (Industrial Property) เป็นความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่เกี่ยวกับสินค้าอุตสาหกรรม ครอบคลุมความคิดในการประดิษฐ์คิดค้น การออกแบบผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรม ซึ่งอาจจะเป็นกระบวนการ เช่น เทคนิคในการผลิตที่ได้ปรับปรุงหรือคิดค้นขึ้นใหม่

การที่ชาวสิงคโปร์ ได้นั่งในตำแหน่งผู้อำนวยการไวโป ไม่ใช่สิ่งที่เหนือความคาดหมายของนักวิเคราะห์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสิงคโปร์ พยายามทำให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพในระดับสากล ประกอบกับการได้รับการจัดอันดับสูงจากหน่วยงานนานาชาติหลายต่อหลายครั้งในเรื่องของการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา  สะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับในระดับโลกที่ต่างประเทศมีความเชื่อมั่นในความความสามารถอันแข็งแกร่งในการวางระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของสิงคโปร์

ผลพวงที่สิงคโปร์ได้รับโดยตรงจากการที่มีความโดดเด่นในเรื่องนี้คือ การลงทุนของชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในด้านการค้นคว้าวิจัยและพัฒนา (อาร์แอนด์ดี) ที่สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆที่ผลิตจากสิงคโปร์

นอกจากสิงคโปร์จะผลักดันประเทศให้เป็นศูนย์กลางด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว ยังสามารถเอื้อประโยชน์ต่อการสร้างจำนวนงานที่มีมูลค่าเพิ่มให้แก่ชาวสิงคโปร์ด้วย อีกทั้งการที่สิงคโปร์มีการบังคับใช้กฏหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเคร่งครัด ทำให้สามารถป้องกันสินค้าลอกเลียนแบบ ไม่ให้เข้ามาจำหน่ายในสิงคโปร์ได้อย่างเด็ดขาด

ค่าใช้จ่ายด้านอาร์แอนด์ดีในสิงคโปร์สูงถึง 3.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และปัจจุบันเกือบ 1% ของแรงงานทั้งหมดในประเทศสิงคโปร์เป็นนักวิทยาศาสตร์และวิศวกร และล่าสุด สิงคโปร์ยังจัดตั้งศูนย์การวิจัยที่เป็นเลิศ 5 แห่งในมหาวิทยาลัยท้องถิ่น เพื่อบำรุงและสนับสนุนความคิดของชนพื้นเมือง

ในส่วนของการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญานั้น สิงคโปร์ยืนยันมาตลอดว่า กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาและกฎหมายลิขสิทธิ์สอดคล้องกับกฎหมายระดับโลก ว่าด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และช่วยให้ประชาชนเข้าถึงทรัพย์สินทางปัญญาได้มากขึ้น

ถังบอกว่า รู้สึกเป็นเกียรติมากที่ได้รับการเสนอชื่อ พร้อมทั้งย้ำว่า การได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งผอ.ไวโปเป็นความพยายามของหน่วยงานรัฐบาลทุกหน่วยงานที่ให้การสนับสนุน รวมถึงกระทรวงต่างประเทศ กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม และสถานทูตสิงคโปร์ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

“ในกระบวนการเสนอชื่อครั้งนี้ มีคู่แข่งหลายคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้าร่วมการแข่งขันที่ยุติธรรม เปิดกว้างและโปร่งใส ซึ่งกระบวนการทั้งหลายทั้งปวง ตอกย้ำว่าไวโปมีความสำคัญเช่นไรต่อประชาคมโลก ผมเฝ้ารอวันที่จะได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการเพื่อจะได้ร่วมเขียนอนาคตบทใหม่ของไวโป” ถังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนการเสนอชื่อผู้อำนวยการไวโปคนใหม่ สะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสหรัฐและจีนได้อย่างชัดเจน โดยจอห์น โบลตัน อดีตที่ปรึกษาทำเนียบขาว กล่าวว่า การเสนอชื่อ “หวัง ปินหยาง” ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาชาวจีน เป็นการคุกคามระบบทรัพย์สินทางปัญญา ส่วนจีนก็ กล่าวหาว่า สหรัฐพยายามยุยงปลุกปั่นกระบวนการเสนอชื่อเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง

ด้าน “ไมค์ ปอมเปโอ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐ แสดงความยินดีกับถังที่ได้รับการเสนอชื่อ พร้อมทั้งกล่าวว่า สหรัฐเฝ้ารอที่จะทำงานร่วมกับเขาเพื่อปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา