สมาร์ทฟาร์ม ‘เขียดแลว’ ไอเดียสร้างสรรค์เยาวชนเมืองสามหมอก

สมาร์ทฟาร์ม ‘เขียดแลว’ ไอเดียสร้างสรรค์เยาวชนเมืองสามหมอก

นักเรียนมัธยมโรงเรียนแม่ลาน้อยดรุณสิกข์ จ.แม่ฮ่องสอน ประยุกต์ใช้บอร์ดสมองกล KidBright สร้างสมาร์ทฟาร์มเพาะเลี้ยงเขียดแลว หรือกบภูเขา เพิ่มจำนวนสนับสนุนการขยายพันธุ์เพื่อการอนุรักษ์้

นางสาวกรรณิกา เริงไม นางสาวพรรษา เชิดชูไอพร และนางสาวภัณฑิรา  เจริญสถาน นักเรียนมัธยมโรงเรียนแม่ลาน้อยดรุณสิกข์ จ.แม่ฮ่องสอน ร่วมพัฒนาระบบ “Kid ครบ เขียดแลว” ที่ใช้ระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ในกระบวนการคิดออกแบบและประดิษฐ์ โดยใช้วัสดุอุปกรณ์ที่หาได้ตามท้องตลาดในชุมชน ไม่ว่าจะเป็น ปั๊มน้ำ หลอดไฟ แผงโซลาร์เซลล์ท่อพลาสติก ฝาชี แบตเตอรี่ มอเตอร์ให้อาหาร และบอร์ดสมองกล KidBright

158342219584

เมื่อนำมาประกอบกันจึงกลายเป็นระบบที่ช่วยให้การเพาะพันธุ์เขียดแลวที่สะดวกยิ่งขึ้น ทั้งยังประหยัดเวลาในการดูแลอีกด้วย พร้อมทั้งสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้จริง ทำให้ผลงานชิ้นนี้ได้รับ “รางวัลชนะเลิศการแข่งขันการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์จังหวัดแม่ฮ่องสอน ครั้งที่ 4” (The Fourth Maehongson IT Contest : MIC 2019) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และถูกนำมาจัดแสดงภายในงาน สวทช.-วิทย์สัญจร ภาคเหนือ ปี’63 สร้างโอกาสธุรกิจ ยกระดับเศรษฐกิจภูมิภาค สู่ยุค 4.0 ล้านนาก้าวไกลด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ณ จังหวัดเชียงใหม่

ดึงบอร์ดสมองกลฯ สู่ห้องเรียนธรรมชาติ

กรรณิกา เริงไม หนึ่งในนักประดิษฐ์รุ่นเยาว์กล่าวถึงแรงบันดาลใจของโครงการนี้ว่า ด้วยสภาพทางธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า มีความชุ่มชื้น ตลอดจนเกิดลำธารน้ำจากภูเขาน้อยใหญ่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนเอื้อต่อการเจริญเติบโตของสัตว์ป่าทางธรรมชาติหลายชนิด รวมถึงเขียดแลวหรือที่เรียกว่า กบทูด กบภูเขาด้วย ซึ่งเขียดแลวถือเป็นกบขนาดใหญ่ที่สุดที่พบได้ในประเทศไทย และยังจัดเป็นสัตว์ประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ใกล้สูญพันธ์ ความยาวของลำตัวประมาณ 1 ฟุต น้ำหนักกว่า 5 กิโลกรัม ซึ่งในอดีตประชากรเขียดแลวมีจำนวนมากและจัดเป็นอีกเมนูที่ชาวแม่ฮ่องสอนนำมาบริโภคเหมือนอาหารพื้นบ้านทั่วไป ทั้งยังได้รับความนิยมแพร่หลายตามร้านอาหารหลายแห่ง จึงทำให้เป็นที่ต้องการของตลาด มีราคาสูงตัวละ 170-200 บาท กระทั่งจำนวนลดลงในสภาวะอันตรายถึงขั้นอาจสูญพันธุ์ จนต้องมีการรณรงค์เพื่อหยุดจับเขียดแลวบริโภคและหันมาเพาะพันธุ์เขียดแลวเพื่อการอนุรักษ์มากขึ้น

158342222569

แต่เมื่อเกษตรกรนำมาเพาะเลี้ยงเพื่อขยายพันธุ์กลับเกิดปัญหาด้วยการที่ไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ ซึ่งจากปัจจัยที่ไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต อีกทั้งการสร้างโรงเรือนเลี้ยงเขียดแลวนั้นจะตั้งอยู่ในพื้นที่บริเวณใกล้ลำธารเพื่อให้ได้สภาพแวดล้อมที่เหมาะต่อการเจริญเติบโต เราจึงเกิดแนวความคิดที่จะพัฒนาระบบที่ช่วยแก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกให้แก่เกษตรกรมากยิ่งขึ้น

“ระบบ Kid ครบเขียดแลว ที่สั่งการให้สมองกลฝังตัวใน KidBright ทำงานเป็นระบบ เมื่อนำระบบดังกล่าวมาใช้งานจะทำให้สะดวกต่อการเลี้ยงดูและเพิ่มจำนวนของเขียดแลวได้มากขึ้น โดยกระบวนการทำงานคือ มีระบบที่จะให้อาหารอัตโนมัติตามเวลาที่กำหนดขึ้น มีระบบการเปิด-ปิดน้ำตามการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิแบบอัตโนมัติ เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นน้ำจะเปิดเพื่อปรับสภาพอุณหภูมิในโรงเลี้ยงให้เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของเขียดแลว อีกทั้งยังมีระบบเปิดไฟล่อแมลงสำหรับเป็นอาหารตามระยะเวลาที่กำหนดแบบอัตโนมัติ”

 

ด้านพรรษา เชิดชูไอพร อธิบายเพิ่มเติมว่า กระบวนการทำงานคือ 1.เขียนโปรแกรมการทำงานต่างๆทั้งตั้งเวลาให้อาหาร การทำงานของเซ็นเซอร์แสงไว้ล่อแมลง อีกทั้งการตั้งค่าให้เซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิและส่งค่าไปยังปั๊มน้ำ จากนั้นอัพโหลดโปรแกรมลงบนบอร์ด KidBright 2.เมื่อเราเปิดเครื่องระบบการทำงานก็จะทำงานด้วยอัตโนมัติตามค่าที่เราตั้งไว้ อีกทั้งข้อมูลการทำงานนั้นสามารถส่งผ่านแอพพลิเคชั่นและรายงานได้ว่าว่าการทำงานของระบบปกติหรือไม่

158342224368

ขณะเดียวกันจุดเด่นของเทคโนโลยีนี้คือ 1.บอร์ดสมองกลฝังตัวประกอบด้วยเซ็นเซอร์พื้นฐาน จอแสดงผลแบบเรียลไทม์ ลำโพง ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย 2.สร้างชุดคำสั่งแบบ Block-structured programming ผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน 3.ชุดคำสั่งถูกส่งไปยังบอร์ดสมองกลผ่านเครือข่ายไร้สายทำให้ใช้งานได้ง่าย ทั้งนี้ยังสามารถนำไปประยุกต์ได้หลากหลายเซคเตอร์ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงกบ ปลากระชัง หรือแม้กระทั่งไก่ชน โดยในอนาคตจะมีการพัฒนาฟังก์ชั่นในการทำงานเพิ่มเติมเช่น การติดตั้งกล้องบันทึกภาพ เพื่อนำมาวิเคราะห์ในการเจริญเติบโต