ผู้หญิงยึดอาชีพสตาร์ทอัพ สัดส่วนเพิ่มต่อเนื่อง

ผู้หญิงยึดอาชีพสตาร์ทอัพ สัดส่วนเพิ่มต่อเนื่อง

NIA โชว์สตรียุคใหม่ตบเท้าเข้าสู่สาย “สตาร์ทอัพ” เพิ่มต่อเนื่อง ชี้แนวทางลดช่องว่างในองค์กรสายเทคฯ ต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบเปิดใจ พร้อมหนุนโรลโมเดลสร้างแรงบันดาลใจแบบไร้กรอบ

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เผยเพศหญิงกำลังเข้าสู่สายงานด้านเทคโนโลยีนวัตกรรม และสตาร์ทอัพเพิ่มอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากอาชีพและธุรกิจดังกล่าวเป็นงานในอุดมคติ และเป็นโอกาสในการประสบความสำเร็จที่มีมากกว่าอาชีพทั่วไป รวมทั้งมีทางรอดและแข่งขันได้ในระยะยาว เผยจากการดำเนินงานที่ผ่านมา สัดส่วนการขอรับการสนับสนุนและพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมของผู้หญิงเริ่มมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น พร้อมชี้สังคมและองค์กรเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญที่จะช่วยให้ผู้หญิงก้าวเข้ามามีบทบาทในด้านดังกล่าวมากขึ้น โดยควรส่งเสริมทั้งการเปิดเวทีให้ผู้หญิงได้แสดงความสามารถ การก่อตั้งกองทุน การประชาสัมพันธ์ผู้หญิงต้นแบบ พร้อมลดการจำกัดความว่าผู้หญิงเหมาะสมกับอาชีพไม่กี่ประเภท

158341668956


ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ในช่วงประมาณ 2 ทศวรรษที่ผ่านมาผู้หญิงเริ่มเข้ามามีบทบาททั้งทางด้านธุรกิจ เทคโนโลยี ผู้นำสังคม รวมทั้งการเมืองการปกครองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สังเกตได้จากการผลักดันของหน่วยงาน องค์กรและความพยายามของเพศสตรีที่มุ่งเข้าสู่แวดวงดังกล่าว พร้อมด้วยการสร้างพื้นที่ให้แสดงออกถึงศักยภาพที่เท่าเทียมกับเพศอื่นๆ จนทำให้ในปัจจุบันได้เริ่มปรากฏให้เห็นถึงบุคคลที่มีชื่อเสียงทั้งในไทยและต่างประเทศที่มีผู้นำองค์กรต่าง ๆ ที่เป็นเพศสตรีทั้งในระดับภาครัฐ และเอกชนในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเรื่องดังกล่าวถือเป็นสัญญาณที่ดีที่แสดงให้ถึงสังคมที่มีความเปิดกว้างและเท่าเทียม ตลอดจนอิทธิพลในการสร้างแรงกระเพื่อมต่อภาคส่วนต่าง ๆ ได้ไม่แพ้กับเพศอื่นๆ มีปรากฏในประชาคมโลก


“สายงานหนึ่งที่มีการเติบโตของผู้หญิง คือสายงานด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี เห็นได้ตั้งแต่ในระดับมหาวิทยาลัยที่มีผู้หญิงเริ่มเข้าเรียนและจบการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ฯลฯ ต่อเนื่องถึงความสนใจในการเข้าทำงานในบริษัทด้านเทคโนโลยี และการผันตัวเป็นสตาร์ทอัพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จากผลสำรวจของ Booking.com ซึ่งบริษัทอีคอมเมิร์ซด้านการเดินทางและผู้นำด้านเทคโนโลยีดิจิทัลได้เผยผลการสำรวจว่า ผู้หญิงหลายคนให้ความเห็นว่าการได้ทำงานด้านเทคโนโลยีนั้นจัดเป็นงานในฝัน หรืออาชีพในอุดมคติ โดยผู้หญิงทั่วโลกกว่า 4 ใน 5 ให้คำจำกัดความของงานในฝันว่าเป็นงานที่สร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเองร้อยละ 84 รองลงมาคือการได้ทำงานที่ตรงความสามารถร้อยละ 83 และเป็นงานที่เลือกเส้นทางได้ด้วยตัวเอง ร้อยละ 81 นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกเช่น โอกาสในการประสบความสำเร็จที่มีมากกว่าอาชีพทั่วไป และเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีทางรอด สามารถแข่งขันได้ในระยะยาว ”

ดร.กริชผกา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในส่วนของ NIA พบว่าการดำเนินงานที่ผ่านมานั้น สัดส่วนการขอรับการสนับสนุนและพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมของผู้หญิงเริ่มมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งได้เคยมีการสำรวจโดยสมาคมไทยผู้ประกอบการธุรกิจเงินร่วมทุน (Thai Venture Capital Association : TVCA) พบว่ามีผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพที่เป็นผู้หญิงประมาณ 17 % โดยในการเข้ามาของสตาร์ทอัพที่เป็นผู้หญิงได้มีการพัฒนานวัตกรรมอย่างหลากหลายและน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น นวัตกรรมเพื่อสังคม นวัตกรรมด้านบริการ นวัตกรรมเพื่อสุขภาพและการแพทย์ นวัตกรรมเพื่อการเกษตร รวมถึงนวัตกรรมด้านไลฟ์สไตล์ ซึ่งได้สร้างความแปลกใหม่ให้กับผู้บริโภค และตอบโจทย์คุณค่าที่สังคมและภาคเศรษฐกิจต้องการ โดยเฉพาะในการช่วยเพิ่มการจ้างงาน และเป็นส่วนช่วยผลักดันนโยบายภาครัฐที่มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม

1583416662100


อย่างไรก็ดี สังคมและองค์กรถือเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญที่จะช่วยให้ผู้หญิงก้าวเข้ามามีบทบาทในด้านเทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งสิ่งที่จะต้องส่งเสริมคือการเปิดเวทีให้ผู้หญิงได้แสดงออกถึงศักยภาพและความสามารถที่ซ่อนอยู่ เช่น การจัดเวทีแข่งขันสตาร์ทอัพ การก่อตั้งกองทุนสำหรับผู้หญิงที่มีความตั้งใจเข้าสู่วงการธุรกิจนวัตกรรม รวมทั้งการเผยแพร่คอนเทนท์ และการประชาสัมพันธ์ผู้หญิงต้นแบบ (Role Model) เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการเข้าสู่สายงานดังกล่าว พร้อมลดการจำกัดความว่าผู้หญิงเหมาะสมกับอาชีพแอร์โฮสเตส พยาบาล ครู แม่บ้านเพียงเท่านั้น นอกจากนี้ ยังควรมีพี่เลี้ยง หรือครูฝึก (Mentor) ที่สามารถช่วยแนะนำว่าศักยภาพของผู้หญิงแต่ละคนคืออะไร สิ่งใดต้องลด – เพิ่ม ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยให้ประเทศไทย และในระดับโลกมีผู้นำด้านเทคโนโลยีที่เป็นผู้หญิงมากกว่าเดิม

ด้านนางธีรีสา มัทวพันธุ์ รองผู้อำนวยการด้านยุทธศาสตร์องค์กร สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ข้อดีการที่มีมีผู้หญิงเข้ามาทำงานในแวดวงนวัตกรรมเทคโนโลยี สตาร์ทอัพ รวมทั้งบทบาทผู้นำองค์กรคือการเติมเต็มให้บริษัทและหน่วยงานนั้นสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น เนื่องจากผู้หญิงค่อนข้างมีพื้นฐานเรื่องการเข้าสังคมมากกว่าผู้ชาย มีการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ได้ค่อนข้างสูง ซึ่งการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์เป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก เพราะแทบทุกองค์กรโดยเฉพาะองค์ด้านนวัตกรรมต้องใช้คนขับเคลื่อนเป็นหลัก ดังนั้นในแง่ของการบริหารจัดการ การรับมือ รวมไปถึงการแก้ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับองค์กร ผู้หญิงมักจะมีสติและมีแนวโน้มที่จะสามารถรับมือได้ดีกว่าผู้ชาย จึงทำให้ส่วนใหญ่การจัดการปัญหามักมีความยืดหยุ่น สามารถลดสภาวะความตึงเครียดและความขัดแย้งระหว่างผู้ร่วมงานได้ แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้หญิงจะมีข้อดีดังกล่าว แต่การทำงานในแต่ละองค์ก็ยังจำเป็นจะต้องมีสัดส่วนของผู้หญิงและผู้ชายอย่างละเท่าๆกัน เพราะจะส่งผลให้การทำงานลงตัวมากยิ่งขึ้น เนื่องจากแต่ละเพศย่อมมีความโดดเด่น มีความสามารถเฉพาะที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากัน ซึ่งท้ายที่สุดก็จะช่วยสร้างประโยชน์ต่อองค์กรและสังคมได้อย่างสมดุล

158341672420


“ความท้าทายของการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ หรือผู้มีบทบาทสำคัญของผู้หญิงในองค์กรนั้น คือการทำให้ตัวเองเป็นที่ยอมรับอย่างแท้จริงไม่ใช่การยอมรับเพราะสังคมอยากให้องค์กรยอมรับ แต่จำเป็นจะต้องได้รับการสนับสนุนจากคนรอบข้างทั้งด้านความคิด การใช้ชีวิต โดยวิธีการที่จะทำให้เป็นที่ยอมรับได้นั้นจะต้องมีจุดยืนที่ชัดเจนกับที่สิ่งที่กำลังทำอยู่ รู้ว่าต้องการสร้างอะไร และเมื่อสร้างแล้วเกิดผลกระทบด้านบวกต่อสังคม เศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตได้อย่างไร นอกจากนี้ ยังจะต้องมีคาแรคเตอร์ที่ชัดเจนและโดดเด่น โดยเฉพาะด้านภาวะความเป็นผู้นำ เพราะปัจจุบันสังคมกำลังมองหาผู้หญิงที่มีความรอบรู้ มีทัศนคติที่ดี มีการสื่อสารที่ดี รวมทั้งเป็นคนที่เปิดใจยอมรับสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ และยังต้องมีความคล่องแคล่ว กระตือรือร้นที่จะหาความรู้ รวมไปถึงจะต้องเป็นผู้ที่สามารถมองเห็นอนาคตว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพื่อเวลาที่เกิดปัญหาจะต้องสามารถแก้ไขได้ทันที ไม่เพียงแต่เฉพาะสายนวัตกรรมและเทคโนโลยีเท่านั้น ต่ในสายงานด้านอื่น ๆ ก็จำเป็นที่จะต้องมีคุณสมบัติเหล่านี้เช่นเดียวกัน” นางธีรีสา กล่าวทิ้งท้าย