‘บิ๊กบจ.’ ไล่ช้อนหุ้นคืน ฉวยจังหวะราคาดิ่งจากพิษ ‘โควิด-19’

‘บิ๊กบจ.’ ไล่ช้อนหุ้นคืน ฉวยจังหวะราคาดิ่งจากพิษ ‘โควิด-19’

หลังจากหุ้นไทยในปี 2563 ร่วงลงมาต่อเนื่องเกือบ 250 จุด ในช่วงก่อนหน้านี้ ไปทำจุดต่ำสุดที่ 1,317.45 จุด ทำให้ราคาหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่หลายๆ แห่งต่าง "ร่วงลง" ต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันก็พบว่า "ผู้บริหาร" ของบริษัทจดทะเบียน(บจ.) หลายแห่งได้ใช้ โอกาสเหล่านี้เข้ามาดัก "ซื้อหุ้น" ของบริษัทที่นั่งบริหารกันอยู่

จากรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของผู้บริหาร (แบบ 59) ของสำนักงาน ก.ล.ต. ในช่วงตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน พบว่า "จรีพร จารุกรสกุล" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น(WHA) เป็นหนึ่งในผู้บริหารที่เข้ามาซื้อหุ้นของบริษัทด้วยมูลค่าสูงสุดที่ 112.75 ล้านบาท โดยเป็นการเข้าซื้อตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา รวมกว่า 36.36 ล้านหุ้น ที่ราคาเฉลี่ย 3.10 บาท

ส่วนหนึ่งของความเชื่อมั่นของผู้บริหารที่เกิดขึ้น อาจมาจากการที่ลูกค้าชาวจีนและไต้หวันของ WHA ยังสนใจลงทุนในไทย โดยเดินหน้าติดต่อลูกค้าผ่านระบบออนไลน์และโทรศัพท์ หลังกระทบจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ทั้งนี้ WHA ตั้งเป้ารายได้ในปี 2563 สูงขึ้น 15% จากปีก่อน ตามยอดขายที่ดินจำนวน 1,400 ไร่

โดย บล.เอเชียเวลท์ ประเมินแนวโน้มของหุ้น WHA ในระยะสั้นว่า บริษัทจะถูกกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลต่อการเจรจาซื้อขายที่ดิน รวมทั้งผู้ประกอบการอาจชะลอการตัดสินใจลงทุน เพื่อรอดูความชัดเจนของผลกระทบจากไวรัส อย่างไรก็ตามประเมินว่า หากสถานการณ์คลี่คลายภายในครึ่งปีแรก จะไม่กระทบถึงยอดขายและการรับรู้รายได้ในปี 2563 ส่วนราคาหุ้นที่ปรับตัวลง 17% ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา เป็นโอกาสในการเข้า “ซื้อ” ให้ราคาเป้าหมาย 4.40 บาท

ขณะเดียวกัน "บุญ วนาสิน" หรือ “หมอบุญ” ประธานกรรมการ บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป(THG) ก็เป็นอีกหนึ่งผู้บริหารที่เข้ามาซื้อหุ้นของ THG กว่า 1.96 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 54.26 ล้านบาท ที่ราคาเฉลี่ย 27.65 บาท

“ที่ผ่านมาได้ซื้อเก็บหุ้น THG มาโดยตลอดอยู่แล้ว เพราะเชื่อมั่นในพื้นฐานของบริษัท และในช่วงนี้ราคาหุ้นก็ตกลงมาในทิศทางเดียวกันกับหุ้นทั่วโลก ก็เป็นจังหวะในการเข้ามาซื้อเพิ่มเติม”หมอบุญ กล่าว

158341393362

นอกจากนี้ หัวเรือใหญ่ของ ธนาคารกรุงเทพ(BBL) อย่าง "ชาติศิริ โสภณพนิช" กรรมการผู้จัดการใหญ่ ซึ่งใช้เงินเข้ามาลงทุนซื้อหุ้น BBL รวม 35.27 ล้านบาท จำนวน 2.5 แสนหุ้น ที่ราคาเฉลี่ย 141.10 บาท ในช่วงวันที่ 19 – 20 ก.พ. ที่ผ่านมา

ทางด้านกลุ่มผู้บริหารตระกูล "จิราธิวัฒน์" ก็กระโดดเข้ามาร่วมวงช้อนหุ้นของบริษัทในเครือที่บริหารอยู่เช่นกัน โดยในส่วนของ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา(CPN) กลุ่มผู้บริหารซื้อหุ้นรวม 1.95 แสนหุ้น คิดเป็นมูลค่า 10.78 ล้านบาท ที่ราคาเฉลี่ย 55.31 บาท 

ขณะที่ส่วนของ บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น(CRC) ผู้บริหารซื้อหุ้นรวม 5.44 แสนหุ้น คิดเป็นมูลค่า 18.64 ล้านบาท ที่ราคาเฉลี่ย 34.27 บาท

นอกจากนี้ ยังคงมีผู้บริหารอีกหลายรายที่ใช้เงินลงทุนกว่า 10 ล้านบาท เพื่อเข้ามาซื้อหุ้นของบริษัทที่บริหารงานอยู่ อาทิ "เฉลียว วิทูรปกรณ์" กรรมการ บมจ.อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป(EPG) เข้าซื้อ 4 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่ารวม 18.59 ล้านบาท ที่ราคาเฉลี่ย 4.65 บาท เช่นเดียวกับกลุ่มผู้บริหารของ บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล(MINT) เข้าซื้อหุ้นรวม 5.52 แสนหุ้น คิดเป็นมูลค่ารวม 18.06 ล้านบาท ที่ราคาเฉลี่ย 33.51 บาท

"สารัชถ์ รัตนาวะดี" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์(GULF) เข้าซื้อ 1 แสนหุ้น ที่ราคาเฉลี่ย 162.16 บาท คิดเป็นมูลค่า 16.21 ล้านบาท "อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง(TKN) เข้าซื้อหุ้นรวม 1.4 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่า 12.39 ล้านบาท ที่ราคาเฉลี่ย 8.86 บาท ขณะที่ "บรรยง พงษ์พานิช" กรรมการอิสระ บมจ.ดิ เอราวัณ กรุ๊ป(ERW) ได้เข้าซื้อรวม 2 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่า 10.42 ล้านบาท ที่ราคาเฉลี่ย 5.21 บาท

สมชาย กาญจนเพชรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านธุรกิจหลักทรัพย์ บล.เคจีไอ เปิดเผยว่า การเข้ามาทยอยซื้อหุ้นของผู้บริหาร ซึ่งโดยส่วนมากมักจะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทนั้นๆ ด้วย จะช่วยสร้างจิตวิทยาเชิงบวกต่อหุ้น โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาหุ้นตกมาค่อนข้างมาก โดยส่วนตัวมองว่าเป็นสิ่งที่ควรจะทำเพื่อให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจมากขึ้น

ทั้งนี้ ราคาหุ้นโดยส่วนใหญ่เริ่มมีราคาที่น่าสนใจเข้าลงทุนมาสักระยะหนึ่งแล้ว แต่เชื่อว่านักลงทุนยังคงกังวลต่อสถานการณ์ในอนาคต ซึ่งประเมินได้ค่อนข้างยาก เพราะหากสถานการณ์เลวร้ายลงไปมากกว่านี้ หรือยาวนานมากกว่าที่คาดไว้ ก็น่าจะกดดันให้ราคาลดลงไปได้อีก

“ถ้าสถานการณ์โรคระบาดจบลงในอีก 1-2 เดือนนับจากนี้ ก็น่าจะช่วยให้ตลาดฟื้นตัวได้เร็ว เพราะราคาปัจจุบันค่อนข้างต่ำแล้ว ซึ่งหุ้นบางตัวก็น่าจะทยอยเข้าเก็บสะสมได้แล้ว โดยเฉพาะหุ้นที่จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ และกำไรของบริษัทมีความสม่ำเสมอ”

อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นในปัจจุบันซื้อขายกันด้วยปัจจัยเชิงจิตวิทยามากกว่า อย่างในช่วง 1 – 2 วันนี้ ตลาดฟื้นตัวได้แรงเพราะแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งภายในและต่างประเทศ รวมถึงการลดอัตราดอกเบี้ยลงมา แต่หากราคายังคงปรับสูงขึ้นไปมากกว่านี้ ขณะที่สถานการณ์ยังไม่ได้คลี่คลายไป ก็ต้องระมัดระวังการลงทุนมากขึ้น

“สำหรับหุ้นที่ได้รับผลกระทบมาก ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงมาแรงก่อนหน้านี้ อาทิ กลุ่มพลังงาน เมื่อสถานการณ์ฟื้นตัวก็อาจจะฟื้นตัวได้แรงเช่นกัน เพียงแต่ในกลุ่มเหล่านี้จะต้องจับจังหวะการลงทุนให้ดี”