เปิดโผ ‘4กลุ่มหุ้น’ รับอานิสงส์มาตรการรัฐ

เปิดโผ ‘4กลุ่มหุ้น’ รับอานิสงส์มาตรการรัฐ

ดัชนีหุ้นไทยคึกคัก รับอานิสงส์กระแสข่าวมาตรการพยุงเศรษฐกิจของภาครัฐชุดใหม่ ด้านโบรกฯ ประเมิน 4 กลุ่มหุ้น "ค้าปลีก-ก่อสร้าง-ท่องเที่ยว-อาหาร" รับประโยชน์โดยตรง พร้อมหนุนสภาพคล่องในระบบเพิ่มขึ้น

ดัชนีตลาดหุ้นไทยวานนี้ (5มี.ค.) ปรับขึ้นคึกคัก โดยเพิ่มขึ้นกว่า 12.22 หรือ 0.89% มาอยู่ที่ 1,390.83 ระหว่างวันดัชนีทำจุดสูงสุดที่ 1,408.35 เพิ่มขึ้น 29.74 ขณะที่ มูลค่าการซื้อขายรวมอยู่ที่ 66,807 ล้านบาท ซึ่งแรงหนุนการปรับขึ้นของดัชนีวานนี้ ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19” ที่เตรียมจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจในวันนี้(6มี.ค.)

สำหรับ "ชุดมาตรการ" ที่เตรียมเสนอ มี 5 ด้านหลัก ได้แก่ 1.ให้เงินผู้มีรายได้น้อยละ 1,000-2,000 บาท ,2.ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ,3.มาตรดูแลแรงงานไม่ให้ถูกเลิกจ้าง ,4. มาตรการดูแลตลาดทุน และ 5.มาตรการทางภาษี

บริษัทหลักทรัพย์(บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) ออกบทวิเคราะห์ ประเมินว่า กรณีที่ภาครัฐจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็น "ซีรีส์" หลังจากนี้ โดยถ้าชุดแรกไม่ได้ผลยังเหลือชุดที่ 2-3 ซึ่งคาดว่าจะมีการลดภาษีบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลตามที่พรรคพลังประชารัฐเคยหาเสียงไว้ 

ส่วนผลกระทบต่อมาตรการชุดที่ 1 เบื้องต้นประเมินเป็นบวกต่อดัชนีหุ้นไทย เนื่องจากสภาพคล่องในระบบที่เพิ่มขึ้นและจะได้เม็ดเงินลงทุนในหุ้นผ่านกองทุน SSF ที่ปรับโฉมให้ใกล้เคียงกองทุน LTF

ทั้งนี้คาดว่ากลุ่มที่ได้ประโยชน์จากมาตรการดังกล่าวทันทีมีจำนวน 3 กลุ่ม ซึ่งอันดับแรกคือกลุ่มค้าปลีก อาทิ บมจ.ซีพี ออลล์(CPALL) ,บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์(BJC) ,บมจ.สยามแม็คโคร(MAKRO) ,บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น(CRC) และบมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์(HMPRO)

ส่วนถัดมาคือ กลุ่มรับเหมาก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง ได้แก่ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น(STEC),บมจ.ช.การช่าง(CK) ,บมจ.ทิปโก้แอสฟัลท์(TASCO) และบมจ.ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์(TEAMG) และ3.กลุ่มท่องเที่ยว บมจ.ท่าอากาศยานไทย(AOT),บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล(MINT) และบมจ.ดิ เอราวัณ กรุ๊ป(ERW)

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการนักกลยุทธ์การลงทุนฝ่ายวิจัย บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง กล่าวว่าคาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ภาครัฐจะปล่อยออกมาส่วนใหญ่พยายามกระตุ้นที่ฐานราก เช่น การกระตุ้นจับจ่ายใช้สอยของประชาชน จึงทำให้คาดว่ากลุ่มหุ้นที่คาดจะได้รับอานิสงส์โดยตรงมากที่สุดคือกลุ่มค้าปลีก อาทิ CPALL และ HMPRO ขณะที่รองลงมาคือกลุ่มรับเหมาฯและกลุ่มอาหาร ซึ่งคาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานจำนวนมาก ซึ่งหุ้นในกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับผลบวก ได้แก่ STEC,บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป(TU) และบมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร(CPF)

ทั้งนี้ประเมินว่ามาตรการที่ออกมาน่าจะกระตุ้นได้ภายในระยะสั้นๆ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19ในสหรัฐและยุโรปยังไม่ถึงจุดพีค จึงคาดว่าการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยจากนี้จนถึงกลางปีน่าจะอยู่ในกรอบ 1,300-1,450 จุด