'คมนาคม' ตีกลับข้อเสนอ 'บินไทย' รับมือโควิด

'คมนาคม' ตีกลับข้อเสนอ 'บินไทย' รับมือโควิด

“ศักดิ์สยาม”  อ้างแผนฟื้นฟูบินไทยไม่ชัดเจน  หลังโควิด-19 ฉุดรายได้  สั่งแจงรายละเอียดผลกระทบธุรกิจ และกรณีโควิด -19  ภายใน 1 สัปดาห์ ด้านแผนช่วยเหลือ 7 สายการบินฉลุยเข้าที่ประชุมครม.เศรฐกิจศุกร์นี้

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับผู้บริหารสายการบินการบินไทย และไทยสมายล์ ว่า การบินไทยได้เสนอแผนรับผลกระทบด้านธุรกิจ ซึ่งแตกต่างไปจากข้อเสนอของ 17 สายการบินที่หารือที่เป็นข้อมูลผลกระทบเฉพาะโควิด -19 และประเด็นที่ต้องการให้รัฐช่วยเหลือ แต่การบินไทยเสนอมาเป็นภาพรวมไปหมด แม้ว่ากรอบดำเนินการจะค่อนข้างดี แต่ตัวเลขไม่ชัดเจน ไม่ได้มีการแยก ต้นทุนออกมาว่ามีค่าอะไรบ้าง จึงขอให้กลับไปทำรายละเอียด โดยเฉพาะผลกระทบโควิด-19 ให้เวลาดำเนินการ 1 สัปดาห์  เพราะหากจะต้องเสนอคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องชัดเจน เนื่องจากขณะนี้ต้องรัฐเร่งช่วยเหลือผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลให้ยังไม่ได้รับข้อเสนอขอการบินไทยไว้พิจารณา

ส่วนมาตรการช่วยเหลือสายการบินในเรื่องของการยกเว้นค่าขึ้นลงอากาศยาน และค่าจอดอากาศยาน ค่าอาคารสำนักงานต่างๆ ที่กระทรวงฯ อยู่ระหว่างพิจารณาตามข้อเรียกร้องของ 17 สายการบินนั้น หาก ครม.เศรษฐกิจ อนุมัติในวันที่ 6 มี.ค.นี้ ตามหลักขององค์การการบินระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) กำหนดว่าจะต้องจัดทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกสายการบิน ดังนั้นมาตรการนี้จะครอบคลุมดำเนินการให้กับการบินไทยและไทยสมายล์ด้วย

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า  นอกจากนี้ การบินไทยยังขอให้รัฐช่วยค้ำประกันเงินกู้ เพื่อเสริมสภาพคล่อง แต่จากข้อมูลพบว่า บริษัทยังมีสภาพคล่องอยู่ได้อีกหลายเดือน ยังสามารถดำเนินธุรกิจได้ จึงได้สั่งการให้การบินไทยกลับไปทำตัวเลข และแผนที่ชัดเจนกลับมาเสนอ เพราะหากเสนอเข้า ครม.ก็คงไม่ได้รับอนุมัติ

การบินไทยขอให้รัฐไปค้ำประกันเงินกู้ ต้องต้องเคลียร์ตัวเลขให้ชัด แม้ผู้โดยสารลดลง แต่ยังมีกำไร ซึ่งกำไรที่ว่านี้เป็นกำไรอะไร เป็นส่วนของ Operating Flight ไม่ใช่ Fixed Cost ยังมี Fixed Cost เรื่องค่าเสื่อมราคา ดังนั้นต้องแยกออกจากกัน และออกมาจากมาตรการโควิดด้วย "

ขณะที่ผลการดำเนินงานของการบินไทย มีต้นทุน 1.3 หมื่นล้านต่อเดือน ซึ่งการบินไทยได้ทำตามแผนฟื้นฟูทั้งการปรับเส้นทางบิน ลดเที่ยวบิน ดังนั้นหากมีการปรับลด ตัวเลขต้นทุน และค่าน้ำมันก็ควรลด แต่ทำไมยังมีต้นทุนเท่าเดิมกันทุกเดือน

ทั้งนี้ กระทรวงฯ ยังแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อหารือปัญหาร่วมกับการบินไทย และไทยสมายล์ โดยมีนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม และนายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ร่วมด้วย ซึ่งมีกรอบเวลาหารือให้แล้วเสร็จภายใน 1 สัปดาห์ ส่งผลให้ข้อเสนอของการบินไทย และไทยสมายล์ จะไม่ทันเสนอพร้อมกับมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ 17 สายการบินที่กระทรวงคมนาคมจะเสนอ ครม.เศรษฐกิจในวันศุกร์ที่ 6 มี.ค.นี้

158340707799           

รายงานข่าวแจ้งว่า การประชุมครั้งนี้มี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน พร้อมด้วยนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ขณะที่ผู้บริหารการบินไทย ประกอบไปด้วย พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การบินไทย นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) และนางชาริตา ลีลายุทธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด

ภายหลังหารือโดยที่ประชุมไม่รับข้อเสนอของการบินไทยทำให้พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ และนางชาริตา ออกจากห้องประชุมด้วยสีหน้าเคร่งเครียด และมีการหารือภายนอกถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่าผลกระทบจากโรคโควิด -19 จะส่งผลลบต่อการบินไทยจนถึงเดือน พ.ค.นี้ ดังนั้นควรจะต้องได้รับการแก้ไขเร่งด่วน ขณะที่นายสุเมธ ยังหารือภายในห้องร่วมกับนายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ก่อนจะออกมาด้วยสีหน้าเคร่งเครียด และปฏิเสธการให้สัมภาษณ์