วิกฤติ 'COVID-19' ลามหนัก ถึงเวลา ‘กนง.’ ถกด่วน

วิกฤติ 'COVID-19' ลามหนัก ถึงเวลา ‘กนง.’ ถกด่วน

พิษโควิด-19 ขยายวงกว้างทั่วโลก หลายประเทศตกอยู่ในขั้นวิกฤติ ล่าสุดเฟดลดดอกเบี้ยนโยบายฉุกเฉิน 0.5% รวมถึงที่ผ่านมายังมีประเทศอื่นที่ปรับลด รวมไทยด้วย แต่เวลานี้มีคำถามว่าการลดดอกเบี้ยเพียงพอหรือไม่ เพราสภาวะนี้กำลังลากเศรษฐกิจโลกและไทยเข้าสู่ภาวะถดถอย

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19” ซึ่งเวลานี้กำลัง “ลุกลาม” ขยายวงไปทั่วโลก หลายประเทศเริ่มตกอยู่ในขั้น “วิกฤติ” เพราะมีผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ “หยุดชะงัก” จนธนาคารกลางหลายประเทศ ต้อง “ลดดอกเบี้ย” เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดตัวลงหนัก ล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สร้าง “เซอร์ไพรส์” ในตลาดเงินโลก ด้วยการประกาศ “ลด” ดอกเบี้ยนโยบายลงแบบ “ฉุกเฉิน” 0.5% ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ ปรับลดลงมาอยู่ที่ 1.00-1.25% จากเดิมที่ 1.50-1.75%

การประกาศลดดอกเบี้ยแบบฉุกเฉินในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี นับจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกเมื่อปี 2551 อีกทั้งการลดดอกเบี้ยดังกล่าว ยังเกิดขึ้นก่อนการประชุมนัดปกติเพียงแค่ 2 สัปดาห์เท่านั้น โดยเฟดมีกำหนดการประชุมนัดปกติในวันที่ 17-18 มี.ค.นี้ ซึ่งภายหลังการประกาศลดดอกเบี้ยดังกล่าว “เจอโรม พาเวล” ประธานเฟด ให้สัมภาษณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐ แม้จะยังขยายตัวได้แข็งแกร่ง แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 สร้าง “ความเสี่ยง” เพิ่มมากขึ้น และยังเป็นปัจจัยกดดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (เอฟโอเอ็มซี) ของเฟด จึงมีมติ “เอกฉันท์” ให้ลดดอกเบี้ยลงทันที

ประธานเฟด บอกด้วยว่า เอฟโอเอ็มซี ทราบดีว่า การลดดอกเบี้ยครั้งนี้ “ไม่สามารถ” ลดจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสได้ และยังไม่สามารถ “ซ่อมแซม” ห่วงโซ่อุปทานที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย แต่การลดดอกเบี้ยดังกล่าว จะช่วย “ประคับประคอง” เศรษฐกิจไม่ให้ทรุดตัวลงมากนัก เขาบอกด้วยว่า การระบาดของโควิด-19 อาจไม่ได้กระทบเศรษฐกิจโดยตรง แต่การใช้มาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมการระบาดของไวรัส ทั้งการปิดโรงเรียนและบริษัท รวมไปถึงการยกเลิกงานอีเวนท์ต่างๆ ตลอดจนการงดรับประทานอาหารนอกบ้าน ล้วนส่งผลต่อการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งผลกระทบนี้แม้จะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว แต่ไม่ชัดเจนว่าจะลากยาวถึงเมื่อไหร่ ดังนั้นการลดดอกเบี้ยจะช่วยฟื้นความเชื่อมั่น และหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เมื่อการแพร่ระบาดสามารถควบคุมได้แล้ว

นอกจาก “เฟด” ที่ลดดอกเบี้ยแล้ว เมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา ยังมี “ธนาคารกลาง” อีก 2 แห่ง ที่ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อสู้กับการแพร่ระบาดของ “โควิด-19” เช่นกัน ได้แก่ ธนาคารกลางมาเลเซีย ลดดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 2.5% และ ธนาคารกลางออสเตรเลีย ลดดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 0.5% ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดในประวัติการณ์ ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ความจริงแล้วถือเป็นธนาคารกลาง “รายแรก” ที่ประกาศ “ลดดอกเบี้ย” ไปเมื่อวันที่ 5 ก.พ.2563 เพื่อรับมือผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส ซึ่งทำให้ดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1%

เพียงแต่เวลานี้มีคำถามว่า การลดดอกเบี้ยครั้งดังกล่าว “เพียงพอ” หรือไม่ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้น กำลัง “ลาก” เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ “ภาวะถดถอย” ...ถึงวันนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) หรือ “กนง.” คงต้องถามตัวเองแล้วว่า จำเป็นหรือไม่ที่ต้องจัด “ประชุมด่วน” เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แม้ กนง.มองว่าไม่มีความจำเป็น แต่คนส่วนใหญ่คาดหวังกันว่า อย่างน้อยๆ ในการประชุมนัดปกติ คือ วันที่ 25 มี.ค.2563 กนง.จะมี “มาตรการพิเศษ” ออกมาดูแลเพิ่มเติม เพราะเวลานี้ดูแล้ว แค่ลดดอกเบี้ยอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ!

อ่านข่าว-สหรัฐพบผู้เสียชีวิตโควิด-19 เพิ่มเป็น 11 ราย