'คมนาคม' จ่อเว้นค่าธรรมเนียมช่วย 17 แอร์ไลน์ รับมือวิกฤตโควิด-19

'คมนาคม' จ่อเว้นค่าธรรมเนียมช่วย 17 แอร์ไลน์ รับมือวิกฤตโควิด-19

คมนาคม รับข้อเสนอ 17 แอร์ไลน์ ยื่นขอยกเว้นสารพัดค่าธรรมเนียมสนามบิน 100%ในปีแรก และ50%ปีที่สอง รับวิกฤตโควิด-19 ฉุดผู้โดยสารลด ต้นทุนพุ่ง 30-40%

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังหารือร่วมผู้บริหารจาก 17 สายการบิน วานนี้(4 มี.ค.)ว่า สายการบินเข้ามาหารือเพื่อขอให้รัฐช่วยยกเว้น และลดหย่อนค่าธรรมเนียมการดำเนินงานของสายการบินด้านต่างๆ ได้แก่ ค่าขึ้นลงของอากาศยาน ค่าที่จอดอากาศยาน ค่าใช้อุปกรณ์ เช่น สะพานเทียบ ค่าเช่าพื้นที่สำนักงาน ค่าธรรมเนียมการเดินทางเข้าและออกนอกประเทศ ค่าธรรมเนียมการคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้า และค่าอำนวยความสะดวกในการจราจรทางอากาศ

โดยค่าธรรมเนียมแต่ละประเภทมีอัตราแตกต่างกัน อาทิ ค่าขึ้นลงอากาศยานต่างประเทศราคา 10,425 บาท และในประเทศราคา 5,213 บาท ต่อการจอด 1 ครั้ง ค่าธรรมเนียมที่จอดอากาศยาน ต่างประเทศ ราคา 1,230 บาท และในประเทศ 615 บาท ต่อการจอด 6 ชั่วโมง เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้สายการบินยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และยังเป็นการช่วยเหลือเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศไทยทั้งในระยะสั้นและระยาว สายการบินขอยกเว้นค่าธรรมเนียม 100% ในปีที่ 1 และ 50% ในปีที่ 2 โดยข้อเสนอทั้งหมดยังไม่มีเรื่องขอสนับสนุนเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน

158331991020

“นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้ดูแลทุกหน่วยงาน และทุกคนให้สามารถผ่านสถานการณ์โควิด-19 ไปด้วยกัน ดังนั้น กระทรวงฯ จะสรุปตัวเลขและมาตรการเยียวยาสายการบินให้เสร็จภายในวันที่ 5 มี.ค.นี้ เพื่อนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ พิจารณาในการประชุมวันที่ 6 มี.ค.นี้ หากได้รับความเห็นชอบก็จะพิจารณาว่าอะไรที่หน่วยงานในความรับผิดชอบสามารถให้ความช่วยเหลือได้ ก็จะดำเนินการทันที แต่หากไม่ได้หรือไม่ไหวก็อาจต้องขอรับเงินอุดหนุนจากภาครัฐตามความจำเป็นต่อไป”

158331998728

นายศักดิ์สยาม ยังกล่าวด้วยว่า ทั้ง 17 สายการบินให้ข้อมูลตรงกันว่าสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ต้องใช้เวลาประมาณ 1-1 ปีครึ่ง จึงสามารถฟื้นคืนสู่ภาวะปกติได้ ทั้งนี้ ปัจจุบันตัวเลขผู้โดยสารในภาพรวมลดลงอย่างมากถึง 2,548,729 คน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นผู้โดยสารต่างประเทศลดลง 35.2 % และผู้โดยสารในประเทศลดลง 18.4% ส่งผลให้ต้นทุนสายการบินเพิ่มขึ้น 30-40% ต่อที่นั่ง

สำหรับผู้บริหารจาก 17 สายการบินที่เข้าร่วมหารือ อาทิ สายการบินไทยแอร์เอเซีย ไทยเวียตเจ็ท ไทยไลอ้อนแอร์ นกแอร์ บางกอกแอร์เวย์ ไทยแอร์เอเซีย เอ็กซ์ และนกสกู๊ต ขณะที่สายการบินไทยและไทยสมายล์ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม 17 สายการบินที่เข้าหารือในครั้งนี้ แต่จะนำข้อเสนอมาหารือในวันที่ 5 มี.ค.เวลา 10.30 น.ที่กระทรวงคมนาคม