'สมศักดิ์' ไม่เชื่อปม 'อัจฉริยะ' แฉคนยุติธรรมทุจริตหมื่นล้าน

'สมศักดิ์' ไม่เชื่อปม 'อัจฉริยะ' แฉคนยุติธรรมทุจริตหมื่นล้าน

"สมศักดิ์" กลัวโดนหมั่นไส้ ปิดปากไม่พูดเรื่องปรับ ครม. ไม่เชื่อปม "อัจฉริยะ" แฉคนยุติธรรมทุจริตหมื่นล้าน เป็นไปไม่ได้ เหตุยธ.ได้งบน้อย

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม แพร่ภาพสดผ่านเพจชมรมฯ เมื่อวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา ระบุว่า เจ้าหน้าที่ของกระทรวงยุติธรรมมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมผู้ต้องหารายหนึ่ง เนื่องจากรู้ข้อมูลคดีทุจริตคอรัปชั่นในหน่วยงานหนึ่งของกระทรวงยุติธรรม รวมถึงกรณีทนายความได้มาใช้ข้อมูลของกรมคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ไปเยี่ยมนักโทษที่เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด และมีทนายความที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติด มาตรา 100/2 ว่า เท่าที่ฟังจากคลิปพบว่าเนื้อหาพาดพิงเกี่ยวข้องไปหลายส่วนจนไม่สามารถแยกแยะได้ว่าเป็นเรื่องอะไรได้บ้าง จึงได้มอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมตั้งกรรมการตรวจสอบให้ได้ข้อเท็จจริง

นายสมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า แต่ส่วนตัวเมื่อฟังคลิปแล้วเห็นว่าบางเรื่องอาจไม่ใช่เรื่องจริง บางเรื่องเกิดก่อนที่ตนจะเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรียุติธรรม และบางเรื่องพอจะมีความเป็นไปได้ แต่อาจจะเกินเลยไป เช่น กรณีบอกว่ามีการทุจริตเป็นหมื่นล้านบาท ทั้งที่กระทรวงยุติธรรมได้งบประมาณน้อยมาก หลักพันล้านบาทเท่านั้น หากบอกว่ามีการทุจริต 10-20 ล้านบาท ก็พอเป็นไปได้บ้าง

 

เมื่อถามว่า นายอัจฉริยะได้เข้าแจ้งความที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลแล้ว โดยเปิดชื่อผู้เกี่ยวข้อง 3 ราย นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การเปิดเผยชื่อจะทำให้ตรวจสอบได้ง่ายขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม นายสมศักดิ์ ปฏิเสธการตอบข้อซักถามเรื่องการปรับคณะรัฐมนตรี โดยกล่าวเพียงสั้นๆว่า ไม่ขอออกความเห็นเรื่องนี้ กลัวคนหมั่นไส้ เพราะถ้าถูกคนหมั่นไส้แล้วจะแก้ยาก


          

คลิปที่ 1

 

 

         

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้กระทรวงยุติธรรมได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีข้าราชการระดับสูงของกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน และมีกรรมการ จำนวน 6 คน เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงคลิปของนายอัจฉริยะ หากการตรวจสอบเรียบร้อยพบข้อมูลเป็นจริงตามที่ออกมาแฉ กระทรวงยุติธรรมจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป แต่หากข้อความดังกล่าวบิดเบือน สร้างความเสื่อมเสีย กระทรวงยุติธรรมจำเป็นต้องใช้สิทธิดำเนินคดีกับผู้ที่กล่าวอ้างในข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้อง