‘ฟอร์ท สมาร์ทฯ’ตั้งเป้าโกยรายได้ปีนี้โต 5%

‘ฟอร์ท สมาร์ทฯ’ตั้งเป้าโกยรายได้ปีนี้โต 5%

“ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส” ตั้งเป้ารายได้ปี63 โต 5% จากปีก่อน หลังได้เป็นตัวแทนแบงกิ้งเอเยนต์ เพิ่มอีก 3 แบงก์ มั่นใจหนุนยอดธุรกรรมการเงินปีนี้โตไม่ต่ำกว่า 50% พร้อมเล็งปล่อยกู้ธุรกิจสินเชื่อเพิ่มอีก 500-800 ล้านบาท

นายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ FSMART เปิดเผยว่าบริษัทตั้งเป้ารายได้ปี2563 จะเติบโต 5% จากปีก่อนที่ทำได้ 3,419 ล้านบาท ตามทิศทางยอดเติมเงินผ่านตู้บุญเติมที่คาดว่าจะขยายตัวเป็น 42,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5% จากปีก่อนที่ทำได้ 40,000 ล้านบาทโดยเฉพาะแรงหนุนจากธุรกิจให้บริการธุรกรรมทางด้านการเงินและสินเชื่อแบบครบวงจรที่คาดว่าจะเป็นดาวเด่นในปีนี้ หลังจากช่วงสิ้นปีที่ผ่านมาบริษัทได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนธนาคาร (แบงกิ้งเอเยนต์) เพิ่มอีก 3 แบงก์ ซึ่งทำให้ปัจจุบันบริษัทเป็นแบงกิ้งเอเยนต์แล้วจำนวน 6 แบงก์

ทั้งนี้สำหรับยอดให้บริการด้านแบงกิ้งเอเยนต์ปีนี้จะเติบโตไม่น้อยกว่า 50% จากปีก่อน โดยคาดว่าจะมียอดการทำธุรกรรมการเงินผ่านตู้บุญเติม (ฝากเงินเข้าบัญชี,เปิดบัญชี) ประมาณ 18 ล้านรายการ คิดเป็นมูลค่าธุรกรรมรวม 1 หมื่นล้านบาท หรือสามารถสร้างรายได้มากกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ทำได้ 12 ล้านรายการ มูลค่าธุรกรรมรวม 7,000 ล้านบาท

ขณะที่ในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการในส่วนของการฝากและถอนเงินผ่านตู้บุญเติมเพิ่มอีกด้วย รวมถึงยังอยู่ระหว่างเจรจากับธนาคาพาณิชย์เพิ่มอีกอย่างน้อย 1 รายในปีนี้ จากปัจจุบันที่เป็นตัวแทนธนาคารแล้ว 6 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย,ธนาคารกสิกรไทย,ธนาคารกรุงศรีอยุธยา,ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารไทยพาณิชย์

การแข่งขันปีนี้คาดว่าจะไม่รุนแรงแล้ว หลังจากเจอภาวะแบบนี้ทำให้คู่แข่งน้อยลง ขณะที่ตู้เรามีจุดแข็งคือความหลากหลายและให้บริการแบบครบวงจร ซึ่งเหนือกว่าคู่แข่งราย ขณะที่การเติมเงินผ่านตู้ในปีนี้ เราตั้งเป้าเติบโต 5% ซึ่งมองว่าจะเติบโตไม่มากนัก เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงทั้งภัยแล้งและเศรษฐกิจที่ชะลอตัวซึ่งอาจกระทบต่อกำลังซื้อและกลุ่มลูกค้าของเราบ้าง

นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวต่อว่าส่วนของด้านธุรกิจการบริการสินเชื่อนั้น บริษัทตั้งเป้าจะปล่อยสินเชื่อปีนี้เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 500-800 ล้านบาท จากปัจจุบันที่ปล่อยไปแล้วราว 100 ล้านบาท โดยมีฐานลูกค้าจำนวนกว่า 3,000 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพนักงานในเครือข่ายหรือตัวแทนของตู้บุญเติม ขณะที่ในช่วงครึ่งปีหลังบริษัทจะเริ่มเปิดให้บริการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถเพิ่มเติม ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) พยายามจะรักษาไม่ให้เกินในระดับ 2%

นอกจากนี้บริษัทตั้งเป้างบลงทุนปีนี้ราว 200 ล้านบาท เพื่อใช้สำหรับเพิ่มตู้จำหน่ายน้ำมันอัตโนมัติและตู้เติมเงินจำนวน 2,000 ตู้ จากปัจจุบันที่มีจุดติดตั้งกว่า 130,000 ตู้ทั่วประเทศ รวมถึงเตรียมขยายตู้จำหน่ายอัตโนมัติรูปแบบต่างๆ เช่น ตู้จำหน่ายเครื่องดื่ม,ตู้จำหน่ายสินค้า และตู้จำหน่ายกาแฟสดในปีนี้เพิ่มขึ้นอีก 4,000 ตู้ จากปัจจุบันที่มีอยู่จำนวน 3,500 ตู้