เสียใจ! กรมศิลปากร ลดพื้นที่โบราณสถาน เพิ่มพื้นที่อุตสาหกรรมหิน

ชาวบ้านตำบลยะลา เสียใจ กรมศิลปากร ออกประกาศลดพื้นที่โบราณสถาน เพิ่มพื้นที่อุตสาหกรรมหิน เอื้อกลุ่มนายทุน

เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ กรมศิลปากร โดย นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ได้ออกประกาศลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2562 เรื่องแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถาน ภาพเขียนสีเขายะลา ต.ลิดล-ต.ยะลา อ.เมืองยะลา จ.ยะลา โดยพื้นที่โบราณสถานประมาณ 887 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2544 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศและงานทั่วไป เล่ม 118 ตอนพิเศษ 172 ง วันที่ 21 ธันวาคม 2544 โดยให้มีการปรับลดพื้นที่เขายะลา ประมาณ 190 ไร่ จึงทำให้เหลือพื้นที่ 697 ไร่ 35 ตารางวา ซึ่งในประกาศได้ระบุว่า ขณะนี้พื้นที่จังหวัดยะลา และจังหวัดใกล้เคียง ได้ประสบปัญหาขาดแคลนแหล่งหินอุตสาหกรรม และจากสาเหตุแหล่งหินอุตสาหกรรมหลายแห่งตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีปัญหาด้านความมั่นคง จึงทำให้จำเป็นต้องใช้แหล่งหินอุตสาหกรรมจากเขายะลา ซึ่งเป็นที่ตั้งของโบราณสถานภาพเขียนสี และเพื่อเป็นการลดปัญหาการขาดแคลนแหล่งหินอุตสาหกรรม และลดปัญหาการเกิดเหตุของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ จึงได้อาศัยอำนาจความในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 อธิบดีกรมศิลปากร จึงประกาศแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา อ.เมืองยะลา จ.ยะลา ตามประกาศ

158330202085

ทั้งนี้ ชาวบ้าน ต.ยะลา ที่ทราบข่าว ก็รู้สึกตกใจและเสียใจกับการออกประกาศดังกล่าว แม้ที่ผ่านมาจะมีการร่วมกันฟื้นฟูและอนุรักษ์พื้นที่เขายาลอ หรือ เขายะลาดังกล่าวไว้ เพื่อให้เยาวชนรุ่นหลังได้ศึกษา และแม้ที่ผ่านมาทางกรมศิลปากร จะส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาสืบค้นข้อมูลในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางชาวบ้านเองก็มีความหวังที่จะให้เขายาลอ คงสภาพของโบราณสถานประจำจังหวัด

สืบเนื่องจากห้วงเวลาที่ผ่านมา ได้มีเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานในพื้นที่เข้าไปสำรวจ และพบภาพเขียนสีโบราณถึง 2 แห่งด้วยกัน นอกจากนี้ยังพบอาวุธโบราณซึ่งเชื่อว่าเป็นของมนุษย์ยุคหินหลายพันปี ก่อนที่จะมีภาพเขียนสี ตามวิวัฒนาการ โดยภาพเขียนสีที่แรกที่ได้พบนั้น มีพื้นที่บนภาพเขียนเกือบ 3 เมตร แต่ก็ได้พังทลาย และเสียหายจากการระเบิดหินในการประกอบอุตสาหกรรมเหมืองหิน จนล่าสุด เหลือภาพเขียนสีบนเขายาลอ หรือเขายะลาเพียง 1 แห่ง ที่ยังคงอยู่บนผนังหิน

ชาวบ้านในพื้นที่ เปิดเผยว่า ชาวบ้านทุกคนรู้สึกกังวลใจ และไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร เพราะที่ผ่านมาก็หวังว่า กรมศิลปากร จะให้ความสำคัญกับโบราณสถานประจำท้องถิ่น แต่เมื่อมีการประกาศออกมาแบบนี้ ก็ทำให้ห่วงว่า หากมีการอนุญาตให้ประกอบอุตสาหกรรมหินต่อไป ภาพเขียนสีโบราณ บนเขายาลอ ก็จะไม่หลงเหลือให้เห็นอีกต่อไป

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบภาพถ่ายทางดาวเทียม พบว่าแหล่งอุตสาหกรรมหินเดิมนั้น อยู่ในเขต ต.ลิดล อ.เมืองยะลา จ.ยะลา และ เขายาลอ หรือเขายะลา นั้น มีพื้นที่ส่วนที่เหลือใน ต.ยะลา อีกกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนพื้นที่ โดยส่วนที่พบภาพเขียนสี อยู่ในเขตพื้นที่ ต.ลิดล อ.เมืองยะลา จ.ยะลา

ชาวบ้าน ยังกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมานั้น มีทั้งผู้นำหน่วยงานหลายหน่วยงานพื้นที่ พากันวิ่งเข้ามาในตำบลยะลา เพื่อหวังที่จะให้ชาวบ้านยินยอมในการทำอุตสาหกรรมหิน ซึ่งชาวบ้านเองก็มองว่า การประกาศของกรมศิลปากรดังกล่าวที่ออกมานั้น เป็นการเอื้อต่อธุรกิจอุตสาหกรรมหินของกลุ่มนายทุนในพื้นที่