ชี้โอกาสธุรกิจไทย หลัง ‘เบร็กซิท’

ชี้โอกาสธุรกิจไทย หลัง ‘เบร็กซิท’

เปิดมุมมอง หลังอังกฤษถอนตัวออกจากอียู ที่เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของธุรกิจไทยในแง่การค้าและการลงทุน

อังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป หรืออียู (เบร็กซิท) หลังร่วมเป็นสมาชิกมานาน 47 ปี ซึ่งกว่าจะสำเร็จได้ อังกฤษต้องฝ่าความวุ่นวายทางการเมืองภายในนานกว่า 3 ปี โดย นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของอังกฤษ ยกให้ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านของประเทศหลังค่ำคืนวันที่ 31 ม.ค.63 เป็น “รุ่งอรุณใหม่” ที่ทำให้อังกฤษสามารถแสดงศักยภาพแท้จริงออกมา

พิษณุ สุวรรณะชฎ เอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน กล่าวถึงโอกาสของประเทศไทยหลังเบร็กซิทว่า การที่อังกฤษถอนตัวออกจากอียู เป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย ในแง่การค้าและการลงทุน ทั้งส่วนของอังกฤษและไทยเอง โดยเฉพาะตอนนี้อังกฤษต้องการพันธมิตรเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันสิทธิพิเศษทางการค้าเดิมที่อังกฤษเคยได้รับจากอียูก็เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น ภาษีศุลากร หรือโควตาการนำเข้าสินค้าต่างๆ หากแต่สิ่งเหล่านี้กลับเป็นประโยชน์และเปิดช่องให้กับนักธุรกิจไทย สามารถส่งสินค้าไปขายยังอังกฤษได้เพิ่มขึ้น

“เบร็กซิทเป็นจุดเปลี่ยนของอังกฤษ และจะสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับไทย แม้ช่วงแรกเศรษฐกิจของอังกฤษจะชะลอตัวลงไปบ้าง แต่เชื่อว่า คงไม่นาน เพราะพื้นฐานทางเศรษฐกิจมีความเข้มแข็งมาก” เอกอัครราชทูตกล่าวพร้อมชี้ว่า

ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจของอังกฤษเกิดการชะลอตัว ก็จะมีโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับนักธุรกิจไทยหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะการขยายตลาดสินค้าที่มีศักยภาพของไทย เช่น สินค้าเกษตร อาหาร และเกษตรกรรมแปรรูป

ในรายงานสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงลอนดอน เผยแพร่งานวิจัยของ Mintal ระบุว่า ยอดขายสินค้าประเภทของกินของใช้ เช่น ข้าวสารอาหารแห้ง ของกินทั้งสดและแปรรูป รวมไปถึงข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ทางออนไลน์ในอังกฤษปีล่าสุด มีมูลค่าสูงถึง 12,300 ล้านปอนด์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 9% ถือเป็นช่องทางการจำหน่ายที่เติบโตเร็วสุดในตลาดสินค้าประเภทนี้ ซึ่งตรงกับศักยภาพสินค้าไทย เพียงแต่ผู้ประกอบการต้องปรับเปลี่ยนช่องทางการจำหน่ายให้ตรงกับไลฟ์สไตล์ของคนอังกฤษที่ใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันมากขึ้น

อังกฤษยังคงเป็นตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพ ซึ่งปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) ราว 2.323 ล้านล้านดอลลาร์ และมีรายได้ประชาชาติต่อหัวอยู่ที่ 36,700 ดอลลาร์ โดยสหรัฐเป็นคู่ค้าสำคัญรายใหญ่ รองลงมาเป็น เยอรมนี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ ไอร์แลนด์ จีน สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยียม สเปน และอิตาลี ขณะที่ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 21 ของอังกฤษ ซึ่งสินค้าส่งออกของไทยไปอังกฤษ ส่วนใหญ่เป็นรถยนต์ รถปิกอัพ ไก่แปรรูป อาหารทะเลแช่แข็ง อาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน

ขณะเดียวกัน อังกฤษเป็นคู่ค้าของไทยในยุโรป เป็นอันดับ 2 รองจากเยอรมนี ซึ่งสินค้าที่ไทยนำเข้าส่วนใหญ่เป็นเครื่องจักรอุตสาหกรรม เครื่องจักรไฟฟ้าและอุปกรณ์ เคมีภัณฑ์ น้ำแร่ วิสกี้ ยาและเวชภัณฑ์ โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2562 ตั้งแต่เดือนม.ค.-ต.ค. มีมูลค่าการค้าระหว่างกันรวมมูลค่า 6.26 พันล้านดอลลาร์

158329406128

พิษณุ เล่าว่า ปัจจุบันอังกฤษเป็นสถานที่ตั้งบริษัทจากประเทศนอกอียูมากที่สุด และเป็นประเทศที่รับการลงทุนจากสหรัฐ และญี่ปุ่นสูงสุดในยุโรป เป็นผลมาจากนโยบายภาครัฐและทัศนคติของคนในชาติที่เปิดรับชาวต่างชาติ

ทั้งนี้ สำนักงานการค้าและการลงทุนของอังกฤษ (ยูเคทีไอ) เป็นหน่วยงานหลักของรัฐบาลอังกฤษที่ให้ความช่วยเหลือนักธุรกิจต่างชาติเข้าไปลงทุนในอังกฤษ และนักธุรกิจอังกฤษไปลงทุนในต่างประเทศ โดยเน้นการให้คำปรึกษาตั้งแต่การจัดตั้งธุรกิจ การจับคู่ธุรกิจ และการอำนวยความสะดวกในการติดต่อหน่วยงานต่างๆ โดยนักธุรกิจไทยสามารถใช้ประโยชน์เพื่อการลงทุนได้

ขณะเดียวกัน หน่วยงานภาครัฐต่างๆ ของอังกฤษ ก็ให้สิทธิพิเศษให้แก่นักลงทุนในธุรกิจที่ดำเนินกิจกรรมด้านการวิจัยและพัฒนาเป็นหลักด้วย โดยมีรูปแบบของความช่วยเหลือที่แตกต่างกันไป ได้แก่ มาตรการเพิ่มการลดหย่อนภาษีเพื่อการลงทุน และงบประมาณโครงการเพื่องานวิจัยและพัฒนานวัตกรรม นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานชื่อ Regional Development Agencies (RDA) มีบทบาทในการส่งเสริมการลงทุนระดับท้องถิ่น ซึ่งแยกกันระหว่าง 4 แคว้น คือ อังกฤษ เวลส์ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ

สิ่งสำคัญอังกฤษจะให้การส่งเสริมกิจการเป็นพิเศษ หากเป็นนักลงทุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ กลุ่มสาขาวิศวกรขั้นสูง อาทิ ยานยนต์แห่งอนาคต เทคโนโลยีอวกาศ วัสดุคอมโพสิท กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อาทิ เกมดิจิทัล ซอฟต์แวร์และโซเชียลมีเดีย กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน อาทิ พลังงานลม พลังงานจากคลื่น พลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ และกลุ่มบริการทางการเงินกิจการประเภทวิจัยและพัฒนา

ที่ผ่านมา นักธุรกิจไทยต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน ได้แก่ 1.การตรวจสอบด้านสุขอนามัยสินค้าอาหารอย่างเข้มงวด ทำให้สินค้าไทยโดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหารทะเลมักไม่ผ่านการตรวจสอบ และถูกกีดกันหรือห้ามนำเข้า 2.การควบคุมการจำหน่ายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา 3.การที่อังกฤษทำการค้าส่วนใหญ่กับประเทศในกลุ่มอียู และได้ทำข้อตกลงเปิดเสรีทางการค้ากับประเทศที่ 3 เช่น เม็กซิโก กลุ่มเมอโคซูร์ ล้วนแต่เป็นประเทศกำลังพัฒนาและเป็นคู่แข่งขันทางการค้าที่สำคัญของไทย อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย

4.ผู้ประกอบการไทยยังขาดข้อมูลด้านกฎระเบียบการลงทุนในอังกฤษแบบเบ็ดเสร็จ และเข้าถึงแหล่งสนับสนุนทางการเงินเพื่อการลงทุน และ 5. ปัญหาการนำเข้าแรงงานไทยเพื่อเข้ามาทำงานในธุรกิจของคนไทยในอังกฤษ โดยเฉพาะร้านอาหารไทย สปา และบริการนวดแผนไทย เนื่องจากอังกฤษนำระบบการตรวจคนเข้าเมืองระบบใหม่ (Point Based System) ที่เพิ่มความเข้มงวดในการออกวีซ่าให้แก่ผู้ที่จะเข้ามาทำงานจากประเทศที่ 3 โดยนโยบายของรัฐบาลอังกฤษชุดใหม่ยังต้องการจำกัดจำนวนคนเข้าเมืองที่จะเข้ามาอยู่อาศัยและทำงานในอังกฤษในแต่ละปีด้วย

นอกจากโอกาสในแง่การค้า และการลงทุนแล้ว นักเรียนไทยก็ยังมีโอกาสทางด้านการศึกษาในอังกฤษมากขึ้น โดยหลังจากเบร็กซิทเชื่อได้ว่า จำนวนนักศึกษาจากประเทศในอียูที่เล่าเรียนในอังกฤษน่าจะลดน้อยลง จึงมีความจำเป็นที่อังกฤษต้องรักษาความเป็นเลิศของการเป็นเป้าหมายด้านการศึกษาต่อระหว่างประเทศ รวมถึงรายได้รัฐที่มาจากนักเรียนต่างชาติ คาดว่า ทางการอังกฤษคงต้องเดินกลยุทธ์บางอย่างเพื่อให้การศึกษาในอังกฤษสามารถจูงใจนักเรียนต่างชาติได้ในระยะยาว