นายกฯ ถก ครม.เศรษฐกิจ 6 มี.ค. รับมือ 'โควิด' ฟื้นเชื่อมั่นตลาดทุน-ท่องเที่ยว

นายกฯ ถก ครม.เศรษฐกิจ 6 มี.ค. รับมือ 'โควิด' ฟื้นเชื่อมั่นตลาดทุน-ท่องเที่ยว

“ประยุทธ์”นัดถก ครม.เศรษฐกิจนัดพิเศษศุกร์นี้ รับมือผลกระทบโควิด-19 “คลัง-ท่องเที่ยว” เร่งทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมสร้างความเชื่อมั่นตลาดทุน ขอความร่วมมือเอกชนงดคอนเสิร์ต-กีฬา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการเกี่ยวกับมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งส่วนหนึ่งสั่งการให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หามาตรการลดผลกระทบและกระตุ้นเศรษฐกิจเสนอคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ)

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า วันที่ 6 มี.ค.นี้ นายกรัฐมนตรีเรียกประชุม ครม.เศรษฐกิจนัดพิเศษ เพื่อรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งมีหน่วยงานเศรษฐกิจมาเสนอมาตรการช่วยเหลือ เยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเข้าร่วมประชุมด้วยเพื่อรายงานสถานการณ์ให้หน่วยงานเศรษฐกิจรับทราบ เพื่อประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและออกมาตรการช่วยเหลือ

“สศช.ต้องดูข้อมูลและทำการบ้านว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างไร ในกรณีที่การระบาดนานกว่าที่ประเมินไว้ว่าสิ้นสุดไตรมาส 1 นี้ ขณะที่หน่วยงานอื่นจะเสนอมาตรการว่าเพียงพอหรือไม่ก่อนที่จะเสนอ ครม.พิจารณา”

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.วานนี้ (3 มี.ค.) รับทราบข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีเรื่องมาตรการระยะเร่งด่วนสำหรับการแก้ไขปัญหาจากโรคโควิด-19 โดยครอบคลุมถึงมาตรการบรรเทาผลกระทบและกระตุ้นเศรษฐกิจจากการระบาด ที่จะหารือใน ครม.เศรษฐกิจก่อนเสนอ ครม. เช่น มาตรการทางภาษี สินเชื่อและพักชำระหนี้ ด้านงบประมาณ การสร้างความเชื่อมั่นตลาดทุน การจ้างงานและพัฒนาทักษะ ด้านสินค้าเกษตรและสินค้าชุมชน

ส่วนมาตรการเร่งด่วนด้านสุขภาพและการป้องกันโรคจำนวน 14 มาตรการตามคำสั่งการของนายกรัฐมนตรี ได้แก่ 1.ส่วนราชการดำเนินการตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุข 2.ส่วนราชการระงับ-เลื่อนเดินทางไปประเทศที่มีการระบาดและประเทศเฝ้าระวัง

3.เจ้าหน้าที่รัฐที่กลับจาก หรือเดินทางผ่าน หรือมีเส้นทางแวะผ่านประเทศเสี่ยงแพร่ระบาด ต้องพักสังเกตอาการ 14 วัน 4.ตั้งศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคโควิด-19 ที่ทำเนียบรัฐบาล 5.กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม จัดหาสินค้าให้เพียงพอ เช่น หน้ากากอนามัย เจลฆ่าเชื้อ

6.กระทรวงพาณิชย์ ป้องกันการกักตุนสินค้า เช่น หน้ากากอนามัย เจลฆ่าเชื้อ 7.กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย มีมาตรการคัดกรองผู้โดยสาร เช่น สนามบิน สถานีรถไฟฟ้า สถานีรถไฟ 8.กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน ติดตามดูแลคนไทย

9.กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม เตรียมสถานที่สังเกตอาการให้ผู้สงสัยว่าเป็นโรค 10.กรณีจำเป็นต้องจัดหาเวชภัณฑ์และอุปกรณ์เพิ่มเติม ให้ประสานสำนักงบประมาณ 11.ประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ สม่ำเสมอ

12.กระทรวงสาธารณสุข ดูแลบุคลากรทางการแพทย์ให้เหมาะสม 13.กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทยบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ 14.ขอความร่วมมือเอกชนงดกิจกรรมที่มีการรวมตัวจำนวนมาก เช่น กีฬา คอนเสิร์ต