หวั่นสายการบินโคม่า ลากยาวถึงครึ่งปีแรก

หวั่นสายการบินโคม่า ลากยาวถึงครึ่งปีแรก

จาก ‘โควิด-19’ กลายเป็น ‘โคม่า’ สำหรับภาคธุรกิจที่ได้รับผลถ้วนหน้าเพียงแต่จะกระทบทางตรงหรือทางอ้อมเท่านั้น จึงทำให้เริ่มเห็นคอร์ปอเรทออกอาการยอมรับสภาพออกมาปรับเป้าที่วางเอาไว้ตั้งแต่ปลายปีก่อนให้เห็นกันบ้างแล้ว

       โดยธุรกิจที่กระทบแรกและต้องออกมาปรับเป้าหมายคือกลุ่มท่องเที่ยว ไล่มาตั้งแต่ธุรกิจสนามบิน สายการบิน และโรงแรม ที่เห็นแล้วว่าไตรมาส 1 ปี 2563 แต่ออกมาติดลบหนัก และบางธุรกิจน่าจะเผชิญขาดทุนด้วยซ้ำ

       ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ใช้บริการสนามบินของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT รายงานเดือนก.พ.ปี 2563 ลดลงหนัก 28% จากปีก่อนเป็นการลดลงของจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศ 37% จากปีก่อนและผู้โดยสารในประเทศ ติดลบ 14% จากปีก่อน

        ส่งผลทำทำให้ 5 เดือนแรกตามปีงบประมาณ (ต.ค. 2562 -ก.พ.2563 ) จำนวนผู้โดยสารลดลง 3.9% โดยเป็นการลดลงของจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศ 2.0% และผู้โดยสารในประเทศลดลง 6.4%   ทาง AOT ได้มีการปรับตัวเลขผู้โดยสารลง 8-10 % กรณีสมมุติฐานดีที่สุดและรอสถานการณ์คลี่คลายภายใน 3 เดือนหรือไม่เกินเม.ย. ขณะที่สายการบินลดเที่ยวบินเดินทางไปประเทศกลุ่มเสี่ยง   นั้นย่อมหมายถึงรายได้ที่หายไปท่ามกลางต้นทุนที่ยังคงมีอยู่

         การช่วยเหลือกลุ่มสายการบินก่อหน้านี้มีการลดภาษีน้ำมันเครื่องบินจาก 4.726 บาทต่อลิตร เหลือ 0.20 บาทต่อลิตร จนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2563 ส่วนธุรกิจโรงแรมให้นำค่าใช้จ่ายอบรมสัมมนาภายในประเทศหรือปรับปรุงอาคารมาหักภาษีได้

           จากมาตรการดังกล่าวไม่เพียงพอกับสถานการณ์ที่ยังรุนแรงในปัจจุบัน ทำให้เริ่มมีการออกมาตรการเพิ่มเติม เช่น มาตรการลดค่าธรรมเนียมการใช้บริการภายในสนามบิน 28 แห่งที่อยู่ภายใต้การดูแลของ กรมท่าอากาศยาน ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาภายในสัปดาห์นี้ ก่อนเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)

         

158324297344

 ประกอบไปด้วย ลดราคาค่าเช่า 50% ให้กับผู้ประกอบการ ภายในอาคารที่พักผู้โดยสาร โดยต้อง ไม่ต่ำกว่าอัตราที่กรมธนารักษ์กำหนด การลดค่าธรรมเนียมการขึ้น-ลง อากาศยาน 50% รวมไปถึงลดค่าธรรมเนียมการจอดอากาศยาน 90% เพื่อบรรเทาค่าใช้จ่ายจากกรณีที่สายการบินต้องปรับลดเที่ยวบิน

         รวมไปถึงมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว และการดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในการลงทะเบียนและได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษ โดยจะเริ่มต้นให้เร็วที่สุดตั้งแต่ช่วงเดือนมี.ค.นี้ เพื่อให้คนหันมาท่องเที่ยวในประเทศ กระจายรายได้ลงไปในชุมชน ทั้งนี้ มาตรการเสริมชุดนี้จะออกมาอีกระลอก เป็นคนละชุดกับที่เสนอครม.ก่อนหน้านี้

          มาตรการดังกล่าวที่ออกมาหากเป็นไปตามที่ระบุมีผลต่อราคาหุ้นในกลุ่มได้ในระดับหนึ่ง ภายใต้ไวรัสสามารถคลี่คลายได้เร็ว เพราะจากผลการดำเนินงานที่ออกมาของหุ้นในกลุ่มท่องเที่ยวสะท้อนแนวโน้มชะลอตัวอย่างชัดเจนตั้งแต่ยังไม่มีประเด็นไวรัสเข้ามากระทบ

          ยิ่งในธุรกิจสายการบินที่เรียกได้ว่าขาดทุนแทบจะยกกลุ่มในงวดปี 2562 ซึ่งเจ้าตลาดสายการบินต้นทุนต่ำ บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ขาดทุน 473 ล้านบาท มาจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นด้านการตลาด และค่าใช้จ่ายพนักงานในการตั้งสำรองฯ ตามกฎหมาย ท่ามกลางรายได้ที่เพิ่มขึ้นและ

         หนักสุดคือ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เผชิญขาดทุน 12,042 ล้านบาท มาจากต้นทุนที่ยังสูง การแข่งขันที่รุนแรงทำให้ต้นทุนสูงจนกดดันทำมให้ขาดทุนต่อเนื่อง ด้านบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK ขาดทุน 2,051 ล้านบาท เป็นการขาดทุนที่ลดลงต้นทุนดีขึ้นแต่ธุรกิจยังเผชิญการแข่งขันที่สูง

          ส่วนบริษัท บางกอกแอร์เวย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BA มีกำไร 350 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.56 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน มาจากค่าตัดจำหน่ายเครื่องบินที่ไม่เกี่ยวกับการดำเนินงาน แต่ในส่วนของธุรกิจสายการบินมีรายได้ลดลง จากการแข่งขันที่รุนแรง

         ปี 2563 นักวิเคราะห์มองตรงกันว่ากำไรสายการบินจะอ่อนแอลงมากถึงครึ่งปีแรก 2563และการฟื้นตัวเป็นไปอย่างช้าๆในครึ่งปีหลังจากความกังวลที่จะเดินทาง ทำให้อาจจะเห็นการฟื้นตัวชัดเจนได้ในปี 2564 ทำให้ราคาหุ้นอ่อนตัวลงได้อีก