คนเอเชีย 'กลัวขาดรายได้' มากกว่าโควิด-19

คนเอเชีย 'กลัวขาดรายได้' มากกว่าโควิด-19

ผลสำรวจล่าสุดของบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลกชี้ว่า แม้คนเอเชียกลัวไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือโรคโควิด-19 แต่จริง ๆ แล้ว กลัวเรื่องขาดแคลนรายได้มากกว่า

กันตาร์ บริษัทที่ปรึกษาและจัดเก็บข้อมูลเชิงลึกชั้น นำระดับโลกเผยคนเอเชีย 60% กังวลเกี่ยวกับผลกระทบของโรคโควิด-19 ที่มีต่อความมั่นคงทางการเงินของตนเองคนเอเชีย ขณะที่ 48% “กังวลอย่างมาก” เกี่ยวกับผลกระทบของโรค ขณะที่ผู้บริโภคในเอเชียหันไปซื้อของออนไลน์มากขึ้น และหลีกเลี่ยงการเดินทางเพื่อลดความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด

ขณะที่ตลาดการเงินทั่วโลกดิ่งลงอย่างหนักที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินโลก คนเอเชีย 60% กลับรู้สึกกังวลเรื่องความมั่นคงทางการเงิน รองลงมา 46% กังวลเรื่องการติดไวรัส โดยความกลัวว่าจะติดไวรัสมีระดับสูงสุดในญี่ปุ่น (68%) ขณะที่คนเอเชียกว่า 1 ใน 3 (34%) กลัวว่าโรคโควิด-19 อาจฉุดเศรษฐกิจเข้าใกล้ภาวะถดถอย โดยชาวเกาหลีใต้ กังวลมากที่สุดเรื่องสุขภาพทางการเงินของตนเอง (77%) และ 61% กังวลเกี่ยวกับเรื่องการตกงาน

ผู้บริโภคชาวเอเชียเกือบครึ่งหนึ่ง (48%) “กังวลอย่างมาก” เกี่ยวกับผลกระทบของโรคโควิด-19 ในชีวิตประจำวัน และประชาชนที่อาศัยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสมากที่สุดย่อมรู้สึกกังวลมากที่สุด โดยชาวเกาหลีใต้ 75% และชาวญี่ปุ่น 60% มีความวิตกกังวลและรู้สึกว่าชีวิตได้รับผลกระทบ

ส่วนความไว้วางใจในวิธีการที่รัฐบาลใช้รับมือกับวิกฤติอยู่ในระดับต่ำมากในเกาหลีใต้ (39%) และญี่ปุ่น (9%) ในทางตรงกันข้าม สิงคโปร์มีผู้ที่วิตกกังวลเพียง 33% และชาวสิงคโปร์ 78% ไว้วางใจวิธีการที่รัฐบาลใช้รับมือกับวิกฤติ

การศึกษาครั้งนี้ใช้ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถาม 3,000 คนในอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย รวมถึงข้อมูลพาเนล ดาต้าและการวิเคราะห์โซเชียลมีเดียในเชิงลึก เพื่อทำความเข้าใจผลกระทบของไวรัสที่มีต่อทัศนคติและพฤติกรรมของคนทั่วเอเชีย

นอกจากนี้ การศึกษายังเผยให้เห็นว่า คนเอเชียกำลังปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อลดความเสี่ยงจากโรคโควิด-19 สำหรับอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือการท่องเที่ยว โดยคนเอเชีย 59% ตัดสินใจเดินทางให้น้อยลงเพื่อความปลอดภัย ตามมาด้วย 52% ที่ออกไปกินอาหารนอกบ้านน้อยลง และ 52% ที่หลีกเลี่ยงการเข้าสังคมนอกบ้าน นั่นหมายความว่าคนส่วนใหญ่เลือกที่จะอยู่บ้านมากขึ้น โดย 42% สตรีมคอนเทนต์ออนไลน์มากขึ้น ขณะที่ 33% นัดสังสรรค์กันที่บ้าน และ 30% สั่งอาหารมากินที่บ้าน

พฤติกรรมการจับจ่ายของผู้คนในเอเชียก็เปลี่ยนไปเพราะภัยคุกคามที่สูงขึ้นจากไวรัส โดยพฤติกรรมที่เด่นชัดที่สุดคือ “การซื้อด้วยความตื่นตระหนก” ในหลายประเทศ โดยเกือบ 1 ใน 3 (30%) กังวลว่าจะขาดแคลนข้าวของจำเป็น จึงซื้อของมากกว่าปกติ ส่งผลให้ของหลายอย่างขายหมดเกลี้ยง สถานการณ์นี้รุนแรงที่สุดในญี่ปุ่น โดยชาวญี่ปุ่น 64% ยอมรับว่ามีพฤติกรรมดังกล่าว

การศึกษาครั้งนี้ยังเผยให้เห็นถึงพฤติกรรมการชอปปิงออนไลน์ในเอเชียที่เพิ่มขึ้น 32% ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากผู้บริโภคต้องการหลีกเลี่ยงฝูงชนและซื้อสินค้าที่หาไม่ได้ตามร้านค้า โดยชาวเกาหลีมีพฤติกรรมการชอปปิงออนไลน์เพิ่มขึ้นมากที่สุด (41%)

158315533871

ทั้งนี้ ร้านค้าออนไลน์และบริการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมากที่สุด ส่งผลให้ผู้ค้าจำนวนมากต้องปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือกับอุปสงค์ที่เข้ามา ในทางตรงกันข้าม การซื้อสินค้าผ่านร้านค้าปลีกลดลง 35% ในช่วงเวลาดังกล่าว

เมื่อพูดถึงการตื่นตระหนกว่าโรคนี้จะแพร่ระบาดจนเกินควบคุม สร้างความกังวลให้แก่ผู้คนในสหรัฐแห่กักตุนสินค้าจำเป็น โดยเฉพาะกระดาษชำระ โดยชาวอเมริกันจำนวนมากพากันแห่กักตุนสินค้าจำเป็น ตามห้างค้าปลีกหลายแห่งมีลูกค้าต่อแถวยาวเพื่อซื้อสินค้า โดยเฉพาะกระดาษชำระที่ขายดีเป็นพิเศษ เวลานี้ รัฐบาลกลางและทางการท้องถิ่นพยายามควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเต็มที่ ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยในสหรัฐมีผู้ติดเชื้อเกินกว่า 70 คน และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 2 คน ที่รัฐวอชิงตัน

สิ่งที่เกิดขึ้นในสหรัฐ ก็เกิดขึ้นในฮ่องกงเช่นกันในช่วงต้นเดือนก.พ. ที่ผ่านมา โดยชาวฮ่องกงจำนวนมากแห่ซื้อกักตุนกระดาษชำระและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จากซูเปอร์มาร์เก็ต เนื่องจากความหวาดกลัวว่าสินค้าดังกล่าวจะขาดตลาด จากการระบาดของเชื้อไวรัสชนิดนี้ แม้ทางการของฮ่องกงจะยืนยันว่าสินค้าเหล่านี้จะยังได้รับการจัดหาอย่างเพียงพอ

นอกจากนี้ ยังมีสินค้าอีกหลายชนิดที่ถูกกว้านซื้อจากร้านค้าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าวสารและเนื้อสัตว์ รวมถึงผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เช่น สบู่และน้ำยาทำความสะอาด ก็ถูกซื้อไปจนหมดเกลี้ยงจากร้านค้า

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกหรือแม้แต่เศรษฐกิจในกระเป๋าผู้คนทั่วโลกจะมีปัญหาอย่างที่ผลสำรวจสะท้อนออกมาจริงหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่ล่าสุด เจพีมอร์แกน ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปี 2563 ลงสู่ระดับ 5.2% จากระดับ 5.4% โดยระบุว่า เศรษฐกิจจีน มีแนวโน้มอ่อนแรงลงเนื่องจากโรงงานต่างๆในประเทศจีนกลับมาดำเนินการผลิตล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมทั้งผลกระทบจากภาวะขาดแคลนแรงงาน และการขนส่งที่หยุดชะงัก

นอกจากนี้ เจพีมอร์แกน ยังระบุในรายงานว่า เจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายของจีนกำลังเผชิญกับ 2 สถานการณ์ที่อาจจะต้องแลกกัน คือการควบคุมไวรัสและการผลักดันให้มีการดำเนินการเพื่อการผลิตอีกครั้ง รวมทั้งการฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการรักษานโยบายให้อยู่ในลักษณะผ่อนคลายอย่างรอบคอบและระมัดระวัง

สำหรับข้อมูลภาคการผลิตล่าสุดของจีนนั้น สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (เอ็นบีเอส) รายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (พีเอ็มไอ) ภาคการผลิตเดือนก.พ. อยู่ที่ระดับ 35.7 ร่วงลงจากระดับ 50 ในเดือนม.ค.

ด้านไฉซินและมาร์กิต เปิดเผยว่า ดัชนีพีเอ็มไอ ภาคการผลิตของจีน อยู่ที่ระดับ 40.3 ในเดือนก.พ. ซึ่งร่วงลงอย่างหนักจากระดับ 51.1 ในเดือนม.ค. และยังต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 46.0 โดยดัชนีที่เคลื่อนไหวสูงกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตของจีนอยู่ในภาวะขยายตัว ขณะที่ดัชนีที่เคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตหดตัวลง