แฉจีนใช้แรงงานอุยกูร์ ทำสินค้าป้อนแบรนด์ดัง 

แฉจีนใช้แรงงานอุยกูร์ ทำสินค้าป้อนแบรนด์ดัง 

กลุ่มคลังสมองออสเตรเลียเผย จีนย้ายชาวอุยกูร์หลายหมื่นคนจากค่ายฝึกอาชีพ บังคับทำงานโรงงานป้อนแบรนด์ดังระดับโลก

สำนักข่าวเอฟเอฟีรายงานว่า แบรนด์ดังอย่างแอ๊ปเปิ้ล บีเอ็มดับเบิลยู และโซนี่ ถูกกล่าวหามานานแล้วว่า ใช้ซัพพลายจากโรงงานที่บังคับใช้แรงงาน

ล่าสุดสถาบันนโยบายยุทธศาสตร์ออสเตรเลีย เผยวานนี้ (2 มี.ค.) ว่า รัฐบาลจีนขนย้ายชาวอุยกูร์ไม่น้อยกว่า 80,000 คนจากค่ายฝึกอาชีพในซินเจียง ไปทำงานในโรงงานทั่วประเทศ เป็นโรงงานผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ดังด้านเทคโนโลยี เสื้อผ้า และรถยนต์อย่างน้อย 83 แบรนด์ เช่น แอ๊ปเปิ้ล บีเอ็มดับเบิลยู แก็ป หัวเว่ย ไนกี้ ซัมซุง โซนี่ และโฟล์กสวาเกน 

“การที่โรงงานบางแห่งทั่วประเทศจีนบังคับใช้แรงงานชาวอุยกูร์ ตามโครงการเคลื่อนย้ายแรงงานที่รัฐบาลสนับสนุน เป็นการสร้างมลทินให้กับห่วงโซ่อุปทานโลก บริษัทที่ใช้แรงงานชาวอุยกูร์ผู้ถูกบังคับในห่วงโซ่อุปทาน กำลังละเมิดกฎหมายห้ามนำเข้าสินค้าที่ผลิตโดยแรงงานถูกบังคับ จึงต้องเปิดเผยความเสี่ยงการใช้แรงงานถูกบังคับในห่วงโซ่อุปทาน บริษัทที่มีชื่อในบัญชีของรายงานฉบับนี้จะต้องวิเคราะห์สถานะสิทธิมนุษยชนในโรงงานของตนที่ประเทศจีนทันที รวมถึงส่งเสริมให้มีการตรวจสอบทางสังคมอย่างอิสระ"

รายงานระบุด้วยว่า นี่เป็นการปรับทัศนคติชาวอุยกูร์เฟสใหม่ ตามโครงการช่วยเหลือซินเจียงของรัฐบาลปักกิ่ง  ซึ่งยากที่ชาวอุยกูร์จะหลบเลี่ยงการถูกส่งไปทำงานได้ ใครฝ่าฝืนมีโทษถูกคุมขัง

ทั้งนี้ ประเมินกันว่า ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมจำนวน 1 ล้านคนถูกควบคุมตัวอยู่ในค่ายฝึกอาชีพในซินเจียง ที่ตอนแรกรัฐบาลปักกิ่งปฏิเสธว่าไม่มีจริง แต่ตอนหลังยอมรับว่าเป็นศูนย์ฝึกอาชีพ นักศึกษาที่นี่ได้เรียนภาษาจีนกลางและทักษะการทำงาน จะได้ไม่ต้องหมกมุ่นกับแนวคิดสุดโต่งทางศาสนา ลัทธิก่อการร้ายและการแบ่งแยกดินแดน

แต่กลุ่มสิทธิมนุษยชนและผู้เห็นเหตุการณ์หลายรายกล่าวว่า จีนใช้กำลังบังคับให้ชาวอุยกูร์หันเหจากขนบธรรมเนียมอิสลาม กลืนพวกเขาเข้าสู่วัฒนธรรมชาวฮั่นที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

เรื่องการย้ายแรงงานนี้ รัฐบาลปักกิ่งชี้แจงอย่างเป็นทางการว่า เป็นการขนย้ายแรงงานส่วนเกินในซินเจียงไปยังภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศเพื่อแก้ปัญหาความยากจน

สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานว่า แรงงานกว่า 25,000 คนจากซินเจียงเริ่มถูกย้ายเข้าไปในจีนตอนในปี 2562

ด้านกระทรวงการต่างประเทศจีนและรัฐบาลซินเจียงยังไม่ให้ความเห็นกับเอเอฟพีต่อรายงานฉบับนี้