พื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ, จิตวิญญาณสู่การจัดการป่าไม้ยั่งยืน?

พื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ, จิตวิญญาณสู่การจัดการป่าไม้ยั่งยืน?

ถุงพลาสติกในมือของพือ(ปู่)ยุดอย แหล่ริ ผู้เฒ่าชาวกะเหรี่ยงวัย 75 ปี นอกจากจะมีเศษเหรียญและธนบัตรต่างๆแล้ว ยังมีเมล็ดพันธุ์นับสิบชนิดที่พือยุดอยเก็บมาจากไร่ของตนจากฤดูกาลที่ผ่านมาเพื่อเตรียมเอาไว้เป็นเมล็ดพันธุ์สำหรับฤดูเพาะปลูกที่กำลังจะมาถึง

หากวันนี้ พือยุดอย ได้แบ่งมันมาส่วนหนึ่งใส่ในถุงพลาสติกที่ยับยู่ยี่ยัดใส่ชะลอมไม้ไผ่ใบเล็กๆ ก่อนจะโปรยมันลงไปพร้อมกับเศษเหรียญและธนบัตรลงในหมุดทรงห้าเหลี่ยมหน้าทางเข้าหมู่บ้านที่สร้างขึ้นโดยกลุ่มเยาวชนของหมู่บ้าน “ต่าหลู่เก่อชอ” หรือ ดอยช้างป่าแป๋ อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน เพื่อประกาศ “พื้นที่ทางจิตวิญญาณ” ของชุมชนของเขาให้เป็นที่รับรู้โดยทั่วกัน

ปลายอาทิตย์ที่ผ่านมา พือยุดอย ได้ร่วมกับคนในหมู่บ้านที่มีอยู่ราวร้อยกว่าคน 70 กว่าหลังคาเรือน และเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง และองค์กรสนุบสนุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสหพันธุ์เกษตรกรภาคเหนือ, P-Move, มูลนิธิชุมชนไท, และศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร “สถาปนา” พื้นที่ “เขตวัฒนธรรมพิเศษ”ครอบคลุมพื้นที่อยู่อาศัย ทำกิน และพื้นที่ป่า ที่พวกเขาถือว่าเป็น “พื้นที่ทางจิตวิญญาณ” ราวสองหมื่นไร่ของชุมชนกะเหรี่ยงบ้านดอยช้างป่าแป๋ขึ้น โดยมีการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อและศาสนาทั้งศาสนาพุทธและคริสต์ที่นับถือโดยชาวบ้านที่นั่น

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน)ในฐานะองค์กรสนับสนุนหลัก ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดพิธีสถาปนาพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษของชุมชนกะเหรี่ยงบ้านดอยช้างป่าแป๋ว่า เพื่อผลักดันสร้างพื้นที่รูปธรรมในการขับเคลื่อนแนวคิดพื้นที่ “เขตวัฒนธรรมพิเศษ” และ “ต้นแบบ” การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของคนกับป่าที่มีมาในอดีต ตามกรอบแนวคิดตามมติคณะรัฐมนตรี ปี 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นหนึ่งในสองกลุ่มชาติพันธุ์นอกเหนือจากกลุ่มชาวเล ที่มีมติ ครม.กำหนดแนวทางการฟื้นฟูวิถีชีวิต

แม้จะเคยมีการสถาปนา พื้นที่ “เขตวัฒนธรรมพิเศษ”ในหลายๆ ชุมชนกะเหรี่ยงก่อนหน้านี้ ในช่วงระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมานับแต่ครม.ได้มีมติดังกล่าว หากแต่อภินันท์ ธรรมเสนา หัวหน้ากลุ่มงานสื่อสารความรู้และเครือข่ายสัมพันธ์ ของศูนย์ฯ ได้กล่าวว่า พื้นที่ “เขตวัฒนธรรมพิเศษ” ที่ได้ประกาศที่หมู่บ้านดอยช้างป่าแป๋นี้ นับเป็นครั้งแรกที่เป็นความร่วมมือระหว่างชุมชนกับรัฐ ที่หลายๆ ฝ่ายคาดว่า จะนำไปสู่แนวทางแก้ไขปัญหาคนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

มติ ครม. ปี 2553 ถือเป็นนวตกรรมที่สำคัญที่สุดทางนโยบายของประเทศนี้ในการจัดการกลุ่มคนที่เรียกว่า “ชายขอบ” ที่อยู่ห่างไกลจากอำนาจรัฐ

"เมื่อก่อน รัฐจะออกกฎหมายแล้วเข้าไปจัดการชุมชน แต่มติครม. นี้จะให้ความสนใจ “เสียง” ของชุมชน แล้วเอาปัญหาของเขาขึ้นมาจัดการ ที่เราต้องการใช้แก้ไขปัญหา คือต้นทุนทางวัฒนธรรม ซึ่งถือว่าเป็นทุนที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งในสังคม ซึ่งว่าด้วยเรื่องความรู้ ภูมิปัญญาที่มีอยู่ในชุมชน เข้ามาช่วยจัดการแก้ไขปัญหาของเขาเอง การฟื้นฟูวิถีชีวิต ก็เพื่อให้เขาจัดการตัวเอง แก้ปัญหาของตัวเอง (ด้วยความรู้ภูมิปัญญาที่เขามี) อาทิเช่นการรื้อฟื้นและปกป้องการทำไร่หมุนเวียน และการผลักดันแนวคิดพื้นที่ “เขตวัฒนธรรมพิเศษ” นี้

ถามว่า ทำไมต้องประกาศ? เพราะกลุ่มคนเหล่านี้เป็นกลุ่มคนที่เปราะบาง เสี่ยงต่อการสูญเสียอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมสูง ถ้าเราไม่สามารถสร้างพื้นที่ให้เขาและให้มีโอกาสในการจัดการตัวเอง เขาเหล่านี้มีโอกาสที่จะสูญเสียมันไปเลย” อภินันท์กล่าวในระหว่างการแลกเปลี่ยนในหัวข้อเสวนาที่จัดขึ้นที่หมู่บ้านดอยช้างป่าแป๋

158314954085

มติ ครม. 2553

ในการจัดทำแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งมีศูนย์ฯ เป็นฝ่ายเลขาฯ ในขณะนั้น ได้ผลักดัน แนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนชายขอบที่เปราะบางสองกลุ่มชาติพันธุ์ คือชาวเล และกะเหรี่ยง โดย วธ. ได้รายงานคณะรัฐมนตรีถึงสภาพปัญหาในเวลานั้นว่า ชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ของประเทศไทย ตั้งแต่จังหวัดแม่ฮ่องสอนลงมาถึงจังหวัดราชบุรีต่างได้รับความเดือดร้อนในปัญหาต่างๆ ที่สะสมมายาวนานเกี่ยวกับความไม่เข้าใจในวิถีชีวิตแบบกะเหรี่ยง ซึ่งครอบคลุมถึงการจัดการทรัพยากรแบบธรรมชาติด้วยการทำไร่หมุนเวียน การผลิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง กาให้คุณค่ากับป่า วิธีคิดในเรื่องสิทธิ (ที่มิใช่เป็นกรรมสิทธิ์) และการที่รัฐไทยยังไม่เห็นความสำคัญของวัฒนธรรมและภาษาของชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงกะเหรี่ยงที่มีอยู่ในประเทศ

วธ. ยังระบุอีกต่อไปว่า ในการจัดการระบบการศึกษาของท้องถิ่นต่าง ๆ รวมทั้งการพัฒนาประเทศในแบบทุนนิยมที่เน้นการเกษตรสมัยใหม่ซึ่งลงทุนสูง และเน้นพืชพาณิชย์เชิงเดี่ยว กีดกันทางเลือกอื่น ๆ เช่น การทำไร่หมุนเวียน ที่ผ่านมา กะเหรี่ยงบางส่วนจำต้องยอมรับวิถีชีวิตแบบใหม่ ในขณะที่อีกหลายส่วนยังเห็นว่า “อยู่อย่างกะเหรี่ยงมีคุณค่า ต่อชีวิตมากกว่า”

ด้วยเหตุดังกล่าว วธ. จึงได้ดำเนินการขับเคลื่อนการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงให้ยั่งยืน ด้วยการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ชุมชนและรากฐานทางวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยงมีความเข้มแข็ง ทั้งในการดำรงชีวิตและการรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิม เพื่อให้เกิดแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง โดยมี รมว.วธ.เป็นประธาน และผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาฯ เป็นกรรมการและเลขานุการ

จากนั้น คณะกรรมการอำนวยการฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงาน จำนวน 2 คณะ คือ คณะอนุกรรมการฝ่ายการศึกษาและวัฒนธรรมเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง และคณะอนุกรรมการฝ่ายทรัพยากรและสิทธิเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง

วธ. ได้รายงานคณะรัฐมนตรีในเวลานั้นว่า คณะอนุกรรมการทั้ง 2 คณะ ได้ดำเนินการรวบรวมปัญหาข้อเท็จจริง และจัดทำแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง และได้เสนอมาตรการต่างๆ โดยคณะกรรมการอำนวยการฯ ในเดือนมีนาคม 2553 ได้พิจารณาร่างแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ซึ่งมีแนวนโยบายนำเสนอในการสนับสนุนฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงทั้งในระยะสั้นภายใน 1 ปี และระยะยาวภายใน 3 ปี ในประเด็นปัญหา 5 ประการ คือ อัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ และวัฒนธรรม, การจัดการทรัพยากร, สิทธิในสัญชาติ, การสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม, และการศึกษา ก่อนนำเสนอให้ ครม. ให้ความเห็นชอบ ในวันที่ 3 สิงหาคม 2553

การกำหนดพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ ถูกกำหนดให้เป็นหนึ่งในมาตรการในประเด็นการสืบทอดทางวัฒนธรรมในระยะยาว โดยมีพื้นที่นำร่องที่ได้ระบุไว้ อาทิ บ้านห้วยหินลาดใน อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย บ้านเลตองคุ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในการแก้ไขปัญหาระยะยาวด้านการจัดการทรัพยากร มีข้อเรียกร้องให้มีการส่งเสริมและยอมรับการทำไร่หมุนเวียนให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม รวมไปถึงการเพิกถอนพื้นที่ที่รัฐประกาศเป็นพื้นที่ป่าไม้ซึ่งทับซ้อนกับที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่พิสูจน์เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าได้อยู่อาศัย ดำเนินชีวิตและใช้ประโยชน์ในที่ดังกล่าวมาก่อนที่รัฐจะประกาศพื้นที่ป่าทับซ้อนพื้นที่ดังกล่าว, หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ยังเป็นข้อโต้แย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และไม่สามารถทำให้ประเด็นดังกล่าวได้รับการผลักดันให้มีความก้าวหน้าเท่าที่ควรในระยะเวลาที่ผ่านมา

158314965877

พื้นที่ “เขตวัฒนธรรมพิเศษ”

จากที่มาดังกล่าว ความพยายามแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งได้นำไปสู่พัฒนาการของพื้นที่ “เขตวัฒนธรรมพิเศษ” ที่มีความหมายมากไปกว่า "พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์” ที่มักเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อศรัทธาของกลุ่มชาติพันธุ์ หากยังรวมถึงพื้นที่ทำกิน อยู่อาศัยที่ปะปนกับความเชื่อความศรัทธาในความหมายของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่ควรได้รับการปกป้องคุ้มครองภายใต้ มติ ครม. ดังกล่าว แม้จะยังไม่มีข้อยุติว่ามันหมายถึงการปกป้องคุ้มครองในระดับใด

อภินันท์ ได้อธิบายในเวทีเสวนาว่า การกำหนดพื้นที่ “เขตวัฒนธรรมพิเศษ” ที่กำลังถูกให้ความหมายโดยกลุ่มชาติพันธุ์และเครือข่ายฯ ในเวลานี้ว่า ไม่ได้หมายถึงการให้สิทธิพิเศษแก่กลุ่มชาติพันธุ์ หากแต่เป็นสิทธิทาง “วัฒนธรรม” ที่จะมาพร้อมกับหน้าที่ที่จะคอยกำกับไว้ด้วย โดยพื้นที่ทางวัฒนธรรมดังกล่าว แม้จะเป็นความพยายามกันไว้เพื่อให้กลุ่มชาติพันธุ์ได้ใช้วิถีชีวิตดั้งเดิม หากแต่พวกเขาต้องมีส่วนช่วยในการอนุรักษ์ด้วย ซึ่งนั่นเท่ากับ การมีสิทธิร่วมกัน แต่ไม่ใช่ “กรรมสิทธิ์” อภินันท์กล่าว

อย่างที่ป่าแป๋ก็ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าเขาสามารถจัดการได้ ช่วยดูแลป่าสองหมื่นกว่าไร่ (ที่ประกาศเป็นพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ)ได้
“… วันนี้จึงเป็นการทำให้เห็นเป็นรูปธรรม และถ้าจะมีการผลักดันมติ ครม. ไปสู่ร่างกฎหมายคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ เราก็สามารถบอกได้ว่า มีให้เห็นจากตรงนี้” อภินันท์กล่าว พร้อมทั้งย้ำว่า ทางศูนย์ฯ ยังคงเดินหน้าผลักดันร่างกฎหมาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิรูปประเทศทางด้านวัฒนธรรม และจะพยายามทำให้สำเร็จในปี 2565

ความท้าทาย

แม้มติ ครม. 2553 ว่าด้วยแนวทางการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงจะได้รับความเห็นชอบขากรัฐมานานกว่าสิบปี แต่ยังไม่มีผลผูกพันทางด้านกฎหมาย ซึ่งกลายมาเป็นประเด็นที่แหลมคม เมื่อมีประเด็นด้านการจัดการทรัพยากรของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง

ประยงค์ ดอกลำไย ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ กป.อพช. และแกนนำ P-Move กล่าวว่า แม้มติ ครม. ว่าด้วยแนทางการฟื้นฟูวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ จะมีอายุราว 10 ปี, แต่สำหรับตนแล้ว อาจเรียกได้ว่า มติ ครม. ดังกล่าว มีอายุจริงๆ เพียงสองสามปีแรก เพราะหลังจากได้รับความเห็นชอบจาก ครม., มติฯ ดังกล่าวแทบจะไม่สามารถขับเคลื่อนได้อีกเลย เนื่องจากนโยบายรัฐที่ทำให้เกิดสภาพเสมือนการ “ถูกแช่แข็ง” จนมาถึง “การเข้าสู่ความมืด” หลังรัฐประหารในปี 2557 อันเนื่องมาจากนโยบายการปราบปรามการบุกรุกป่า ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ทำให้เกิดการจับกุมคนที่อยู่ในป่าแม้จะได้รับการยกเว้นจากบางคำสั่งของ คสช. อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งประยงค์กล่าวว่า นี่คือ “ความย้อนแย้งเชิงนโยบาย” และ “ความไม่เป็นธรรมทางนโยบาย”

กับความพยายามประกาศพื้นที่ “เขตวัฒนธรรมพิเศษ” ในห้วงเวลาที่รัฐมีการปรับเปลี่ยนนโยบายเปิดกว้างให้คนได้อาศัยอยู่กับป่าได้ผ่านเงื่อนไขตามกฎหมายป่าไม้ที่ได้รับการแก้ไขและประกาศใช้ในปีที่แล้วนั้น, ประยงค์มองว่า อาจทำให้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีความหวังมากขึ้น แม้จะยังหาข้อยุติร่วมกันไม่ได้ว่า จะสามารถให้สิทธิกับชุมชนในป่าดั้งเดิมได้ในระดับใด

ประยงค์กล่าวว่า อาจไม่ใช่เรื่องที่จำเป็นที่จะต้องมีการเพิกถอนพื้นที่ป่าสำหรับการสถาปนาพื้นที่ “เขตวัฒนธรรมพิเศษ” หรือแม้กระทั่งการออกกฎหมายรองรับมติ ครม. ปี 2553 หากรัฐยอมรับได้กับขอบเขตและสิทธิการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวของกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยกฎหมายที่มีอยู่

เขาเอง ในฐานะของผู้ที่ต่อสู้กับปัญหาที่ดินป่าไม้มาช้านาน มองว่า กฎหมายป่าไม้ที่ได้รับการแก้ไขไปแล้วนั้น ยังมีรายละเอียดที่เป็นปัญหาอุปสรรคในการรองรับแนวคิดพื้นที่ทางจิตวิญญาณดังกล่าว อาทิ ระบบการให้อนุญาต มากกว่าการรับรองสิทธิ, เงื่อนไขเวลาการใช้ประโยชน์, และอื่นๆ

ต้องเข้าใจว่าอย่างไร่หมุนเวียนนี่ มันไม่มีเจ้าของ (ที่จะไปใช้พิสูจน์แจ้งครอบครองกับรัฐ) แล้วมันก็มีเรื่องของความฝันที่เป็นเรื่องของจิตใต้สำนึกลึกๆเข้ามาเกี่ยวข้อง อาทิ ฝันว่าไฟไหม้ไร่ เพราะเราไปรีบถางไร่เมื่อยังพักดินไม่พอ เป็นต้น หรือเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ในไร่ ก็เป็นเรื่องของการสะสมมายาวนาน อันนี้คือความวิเศษของไร่หมุนเวียน ทำไมเราไม่รักษามันไว้ เลยเป็นเหตุผลว่าต้องเป็นเขตฯ พิเศษไง

“ผมว่า เรายังคุยกันได้ อาจติดขัดข้อกฎหมายนโยบายบ้าง แต่พอมีความหวัง มีแสงสว่างปลายอุโมงค์” ประยงค์กล่าว

สุนทร ฉายวัฒนะ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งได้เข้าร่วมในเวทีเสวนา กล่าวว่า พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฉบับใหม่ที่เพิ่งประกาศใช้ เปิดโอกาสให้ชุมชนมีการจัดการป่าอย่างมีส่วนร่วมได้ และสิ่งที่ชุมชนต้องทำคือ การจัดทำแผนจัดการพื้นที่อย่างมีส่วนร่วม ดังนั้น เขามองว่า ข้อกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มีความขัดแย้งกับการกำหนดเขตวัฒนธรรมพิเศษ หากแต่เป็นการส่งเสริมสนับสนุนกันและกัน ซึ่งเขาเอง ไม่ได้เห็นแย้งเช่นกัน เพราะมองว่า การกำหนดพื้นที่ “เขตวัฒนธรรมพิเศษ” เป็นเรื่องของการอนุรักษ์เช่นเดียวกัน

นพดล พลเสน ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นตัวแทนของ ทส. ที่เข้าร่วมงานดังกล่าว ได้กล่าวกับชุมชนว่า การประกาศพื้นที่ “เขตวัฒนธรรมพิเศษ” ที่หมู่บ้านดอยช้างป่าแป๋ จะเป็นอีกหนึ่งต้นแบบที่จะสามารถนำไปปรับใช้กับที่อื่นๆได้ เนื่องจากยังคงมีความมั่นคงในวิถีชีวิต

นายนพดลกล่าวย้ำถึงสิทธิในที่ป่าที่เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ แต่ชุมชนสามารถมีสิทธิในการบริหารจัดการร่วมกับรัฐได้ ซึ่งในฐานะฝ่ายบริหาร จำเป็นที่จะต้องตอบโจทย์ความท้าทายสามประการ คือ การทำให้ชุมชนมีความมั่นคงในที่ดินและการดำรงชีวิต การสร้างกฎกติกาในการอยู่อาศัยร่วมกันของชุมชนหรือสิทธิในการบริหารจัดการที่ชุมชนควรจะเป็นผู้นำ และการสนับสนุนของหน่วยงานรัฐในการอำนวยความสะดวกต่างๆ

เพื่อทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรม นายนพดลกล่าวว่า จะเร่งตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่าง ทส.และตัวแทนชุมชน ในการสำรวจขอบเขตพื้นที่ ซึ่ง ณ ปัจจุบัน มีความทับซ้อนกับแนวแนวเขตป่าสงวนและเขตห้ามล่าสัตว์ป่าในพื้นที่ดอยช้างป่าแป๋ เพื่อให้มีข้อมูลตรงกัน นำไปสู่การบริหารจัดการร่วมกันในอนาคต

จากข้อมูลของ P-Move ประเทศไทยมีชุมชนกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในป่ากว่า 1,500 ชุมชน โดยกว่าครึ่งยังคงรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตดั้งเดิมเอาไว้ได้

158314971385

ล้อมกรอบ

ดร.นฤมล อรุโณทัย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงที่มาของพื้นที่ทางจิตวิญญาณที่เป็นที่มาของการกำหนดพื้นที่ “เขตวัฒนธรรมพิเศษ” ในมติ ครม. ปี 2553 ว่า พื้นที่ดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นจาก “พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์” ของชาวเล ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มแรกที่ถูกหยิบยกปัญหาขึ้นมาพูดคุยในกลุ่มนักมนุษยวิทยาและผู้เชี่ยวชาญทางด้านวัฒนธรรม หลังจากปัญหาการรื้อไล่ที่อยู่อาศัยอย่างรุนแรงในช่วงต้นทศวรรษปี 2550

การให้คำนิยามของพื้นที่ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าวจึงถูกพัฒนาขึ้น เพื่อนำไปสู่มาตรการต่างๆ โดยแบ่งพื้นที่ชีวิตออกเป็นสามส่วนหลักๆคือ พื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณ หรือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์

หลังจากมีการร่างแนวทางการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลได้ราวสองเดือน แนวทางฯ ของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงจึงได้รับการจัดทำขึ้น โดยมีการขยายขอบเขตคำอธิบายพื้นที่ทางจิตวิญญาณที่หมายรวมไปถึงพื้นที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน เนื่องจากชาวกะเหรี่ยงมักมีความเชื่อความศรัทธาปะปนอยู่ในสองพื้นที่ดังกล่าวด้วย ทำให้การกำหนดพื้นที่ “เขตวัฒนธรรมพิเศษ” ของกะเหรี่ยงที่รวมพื้นที่ทางจิตวิญญาณที่รวมไปถึงพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกิน และไร่หมุนเวียน

ดร. นฤมลกล่าวว่า “จิตวิญญาณ” มีอยู่ในทุกวัฒนธรรม และมักจะโดดเด่นกับวิถีที่ยังอิงอยู่กับธรรมชาติเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์, มนุษย์กับธรรมชาติ , และมนุษย์กับสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม สภาพสังคมสมัยใหม่ได้ลดทอนคุณค่าเหล่านี้ ทำให้เกิดช่องว่างของสังคมที่มีความแตกต่าง อาทิ ข้าวของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงถูกมองว่า เป็นสิ่งที่ถูกหล่อเลี้ยงมาจากผืนดินและแม่โพสพ ในขณะที่สังคมภายนอกอาจมองเห็นเป็นเพียงผลผลิตในตลาด เป็นต้น

เรื่องจิตวิญญาณ มันเป็นเรื่องที่ลึก ที่บางทีไม่สามารถมองเห็นได้แค่ตา แต่ต้องใช้ sense สัมผัส ซึ่งการมาเยือน บางทีไม่พอที่จะมองเห็น แต่อาจต้องใช้เวลามาใช้ชีวิตร่วมกับเขาถึงจะรับรู้การมีอยู่ของมัน เป็นต้น” ดร.นฤมลกล่าว

ดร. นฤมลกล่าวว่า พื้นที่ทางจิตวิญญาณที่จะมองเห็นความเปลี่ยนแปลงสูงคือพื้นที่ทำกิน ซึ่งหากชุมชนไม่ดำรงวิถีเดิม ก็อาจทำให้จิตวิญญาณหมดไป และไม่สามารถคงสภาพความเป็นพื้นที่จิตวิญญาณต่อไปได้ 

ดังนั้น พื้นที่จิตวิญญาณ จึงไม่ได้มีสภาพคงที่ หากมีความเป็นพลวัตร (dynamics) ซึ่งการออกแบบพื้นที่ “เขตวัฒนธรรมพิเศษ” ดังกล่าวจำเป็นต้องคำนึงถึงประเด็นนี้เช่นกัน, ดร. นฤมลกล่าว

ในฐานะนักมานุษยวิทยา ดร. นฤมลมองว่า การประกาศพื้นที่ทางวัฒนธรรมเช่นนี้ เป็นการอนุรักษ์ในอีกรูปแบบหนึ่ง และสามารถไปกันได้กับกรอบกฎหมายปัจจุบันหากมีการออกแบบที่ดี

นั่นหมายถึงการให้คุณค่ากับ การเติบโตจากภายใน หรือ “endogenous development” ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เพราะเป็นการให้โอกาส “ภายใน” ได้เติบโตและดูแลตนเอง มากกว่ารับกระแสพัฒนาจากภายนอก

นอกจากนี้ ดร.นฤมล ยังมองว่า นี่จะเป็นการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่มีมาอีกด้วย

นอกจากเป็นการปกป้องคุ้มครองวัฒนธรรมที่เปราะบางแล้ว นี่ยังอาจเป็นการเปิดโอกาสให้กับแนวคิดการจัดการวิถีชีวิตและทรัพยากรใหม่ๆ อีกด้วย เพราะสิทธิเขาจะมาพร้อมกับหน้าที่เช่นที่ป่าแป๋ที่เราเห็น ใครจะรู้ ถ้าชุมชนเข้มแข็งเราอาจจะมีอุทยานฯ ชุมชนในอนาคตก็ได้” ดร. นฤมลกล่าว

158314976017