‘นิด้าโพล’ เผยแฟลชม็อบเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามกฎหมาย

‘นิด้าโพล’ เผยแฟลชม็อบเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามกฎหมาย

“นิด้าโพล” เผยคนส่วนใหญ่มองแฟลชม็อบนิสิต นักศึกษา ติดแฮชแท็กต่อต้านรัฐบาล หลังยุบพรรคอนาคตใหม่ ชี้ชุมนุม แฟลชม็อบ เป็นสิทธิเสรีภาพตามกฎหมาย

เมื่อวันที่ 1 มี.ค.63 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจ “เรื่องของอนาคตใหม่” จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,260 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับคำตัดสินให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ และตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคฯ 10 ปี และการจัดกิจกรรมแฟลชม็อบ ติดแฮชแท็กเพื่อต่อต้านรัฐบาล ของนิสิตนักศึกษา หลังจากผลการตัดสินวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ โดยเมื่อถามถึงสิ่งที่แกนนำอดีตพรรคอนาคตใหม่ ควรทำหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินให้ยุบพรรคฯ และตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคฯ 10 ปี พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 33.41 ระบุว่า ยอมรับคำตัดสินของศาลฯ รองลงมา ร้อยละ 25.32 ระบุว่า ใช้สิทธิ์วิจารณ์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญโดยสุจริต

ขณะที่ร้อยละ 11.35 ระบุว่า แกนนำอดีตพรรคฯ ควรรณรงค์ทางการเมือง ทั่วประเทศ และให้ ส.ส.ที่เหลืออยู่ของอดีตพรรคฯ แสดงบทบาททางการเมืองแทน ในสัดส่วนที่เท่ากัน ร้อยละ 8.65 ระบุว่า ให้ ส.ส.ที่เหลืออยู่ ของอดีตพรรคฯ มีอิสระย้ายไปสังกัดพรรคไหนก็ได้ ร้อยละ 8.33 ระบุว่า แกนนำอดีตพรรคฯ ควรหยุดบทบาททางการเมือง ร้อยละ 5.71 ระบุว่า ให้ ส.ส.ที่เหลืออยู่ของอดีตพรรคฯ ย้ายไปสังกัดพรรคใหม่ที่เตรียมไว้ ร้อยละ 4.29 ระบุว่า แกนนำอดีตพรรคฯ ควรเป็นผู้นำชุมนุมทางการเมืองบนถนน และร้อยละ 10.71 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการจัดกิจกรรมแฟลชม็อบ ติดแฮชแท็กเพื่อต่อต้านรัฐบาลของนิสิต นักศึกษา หลังจากผลการตัดสินวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.03 ระบุว่า เป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามกฎหมาย รองลงมา ร้อยละ 21.11 ระบุว่า เป็นสัญญาณว่าสังคมไทยจะเผชิญกับความแตกแยกทางการเมืองอีกครั้ง ร้อยละ 12.70 ระบุว่า กังวลว่านิสิต นักศึกษา จะถูกใช้เป็นเครื่องมือ ทางการเมือง ร้อยละ 7.78 ระบุว่า กังวลว่าจะมีการยกระดับการชุมนุมจนกลายเป็นการจลาจลแบบในฮ่องกง ร้อยละ 6.35 ระบุว่า เป็นแค่กระแสชั่วคราว และร้อยละ 2.46 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความนิยมทางการเมืองของพรรคใหม่ที่จะเกิดขึ้นและได้รับการสนับสนุนจากแกนนำอดีตพรรคอนาคตใหม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 35.71 ระบุว่า จะได้รับความนิยมทางการเมืองมากกว่าที่พรรคอนาคตใหม่เคยได้ รองลงมา ร้อยละ 24.37 ระบุว่า ไม่แน่ใจ ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในวันข้างหน้า ร้อยละ 22.78 ระบุว่า จะได้รับความนิยมทางการเมืองเท่าๆ กับที่พรรคอนาคตใหม่ เคยได้ ร้อยละ 15.08 ระบุว่า จะได้รับความนิยมทางการเมืองน้อยกว่าที่พรรคอนาคตใหม่เคยได้ และร้อยละ 2.06 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ.

158305172351