Climate Change กระทบทั่วโลก ปัญหาสิ่งแวดล้อมไทยไม่ใช่มีแค่“ฝุ่น” I Green Pulse

Climate Change กระทบทั่วโลก  ปัญหาสิ่งแวดล้อมไทยไม่ใช่มีแค่“ฝุ่น” I Green Pulse

จะเห็นว่าทุกคนได้รับผลกระทบหมด ดังนั้น ต้องเริ่มต้นจากตัวเองก่อน ช่วยกันปลูกต้นไม้ ซึ่งไม่รู้จะทันหรือไม่ แต่ก็ต้องทำนอกจากนั้น ภาคธุรกิจก็ต้องช่วยกัน -รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์

เมื่อปีที่ผ่านมาเกรต้า ธันเบิร์กเด็กสาววัย 16 ปี ชาวสวีเดน ปลุกกระแสรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ในการลุกขึ้นมาหยุดเรียนนทุกวันศุกร์ เพื่อชุมนุมเรียกร้องให้ผู้นำทั่วโลกเดินหน้าแก่ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ภายใต้ ขบวนการวันศุกร์เพื่ออนาคต (Fridays for Future) หรือหยุดเรียนเพื่อสภาพภูมิอากาศ (Climate Strike)

จากการออกมาเรียกร้องในช่วงเลือกตั้งของสวีเดนเพียงคนเดียวในปี 2561 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปัจจุบัน เกรต้า ธันเบิร์ก สามารถปลุกระดมคนรุ่นใหม่ทั่วโลก ให้ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวได้มากกว่า 2 ล้านคนใน 135 ประเทศทั่วโลก

การขับเคลื่อนโดยคนรุ่นใหม่ สะท้อนให้เห็นถึงความตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมทั่วโลกที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งมีชีวิต ด้วยจุดมุ่งหมายให้เกิดแรงกระเพื่อมไปยังผู้นำองค์กรและประเทศต่างๆ ในการดำเนินการตามมาตรการให้เข้มข้นเพื่อลดผลกระทบและภัยที่เกิดขึ้น

 การขับเคลื่อนโดยคนรุ่นใหม่  เกรต้า ธันเบิร์ก ภายใต้ ขบวนการวันศุกร์เพื่ออนาคต (Fridays for Future) หรือหยุดเรียนเพื่อสภาพภูมิอากาศ (Climate Strike) สามารถปลุกระดมคนรุ่นใหม่ทั่วโลก หันมาสนใจปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้มากกว่า 2 ล้านคนใน 135 ประเทศทั่วโลก สะท้อนให้เห็นถึงความตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมทั่วโลกที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์  รองประธานกรรมการ มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ระบุว่า ปัจจุบันจะเห็นว่าอุณภูมิโลกเพิ่มขึ้นอย่างน่ากลัว ทุกคนได้รับผลกระทบโดยเฉพาะลูก หลาน เหลน ในอนาคต คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change) หรือ IPCC ซึ่งมีหน้าที่ในการประเมินผลกระทบในด้านต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ระบุว่า โลกเปลี่ยนเร็วมาก ทุกๆ อุณภูมิ 1 องศาเซลเซียสที่เพิ่มขึ้น จะมีปริมาณไอน้ำเพิ่มในชั้นบรรยากาศ 7% เกิดเป็นก๊าซเรือนกระจกส่งผลทำให้โลกร้อนขึ้น

ในอนาคตข้างหน้า ภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่สำหรับประเทศไทย เกิดขึ้นแน่นอน และทุกคนได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ การประชุม World Economic Forum เมื่อ2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้นำจากทั่วโลกลงความเห็นว่า สิ่งที่เป็นภัยคุกคามทั่วโลกในปี 2020 มี 3 เรื่องหลัก คือ Extreme Weather เช่น ไฟไหม้ที่ประเทศออสเตรเลีย สัตว์ป่าตายแล้วเกือบ 500 ล้านตัว หรือเหตุการณ์น้ำท่วมยุโรป และการที่ประเทศไทยเจอภัยแล้ง ถัดมา คือ Climate Action Failure ปฏิบัติการเคลื่อนไหวด้านสภาวะอากาศ ที่ล้มเหลว และ Major natural Disasters ภัยธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องตระหนัก

“ผมคิดว่าประเทศไทยถูกประเมินว่าเป็นประเทศหนึ่ง ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ สูงติด Top 10 ของโลก ขณะเดียวกัน IPCC ไม่ได้มองว่าเรื่อง PM2.5 เป็นปัญหาของประเทศไทย เพราะหากมองไปปี 2030 และในปีต่อๆ ไป การดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ของสหประชาชาติ ทั้งการเข้าช่วยธุรกิจขนาดเล็กในเรื่องการเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรสันดาป และเรื่องรถยนต์ที่จะมุ่งไปสู่รถไฟฟ้า ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทรานฟอร์มเทคโนโลยี เพราะฉะนั้น เรื่อง PM2.5 จึงยังไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของไทย ในทางกลับกัน เรื่อง “ภัยแล้ง” กลับอยู่ในระดับที่รุนแรงมาก หากมองภาพทั่วประเทศ เปรียบเหมือนมะเร็งระยะที่ 3-4 เพราะยังไม่ถึงเดือนมีนาคม เมษายน กลับเจอภัยแล้งแล้วในตอนนี้"

ภัยแล้งกระทบศก.1.9หมื่นล้าน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีการประเมินว่า สถานการณ์ภัยแล้งในฤดูกาลปี 2563 (มกราคม-เมษายน 2563) ซึ่งเกิดขึ้นเร็วกว่าปีก่อน และส่อเค้าความรุนแรง ยาวนานมากขึ้น จาก ปริมาณน้ำในเขื่อนที่ลดลงร้อยละ 33.1 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการลดลงในแทบทุกภาคของประเทศ และยังเป็นระดับน้ำที่วิกฤติกว่าปี 2558 ที่เกิดภัยแล้งรุนแรงอีกด้วย

ทั้งนี้ ข้าว มันสำปะหลัง และอ้อย เป็นพืชฤดูแล้งที่ได้รับผลกระทบจากผลผลิตเสียหายหนักที่สุด ซึ่งอาจช่วยผลักดันราคาพืชฤดูแล้งกลุ่มนี้ให้ปรับตัวขึ้นได้ในระยะสั้น แต่ด้วยแรงฉุดด้านผลผลิตที่ลดลง จะเป็นปัจจัยฉุดรายได้เกษตรกรในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2563 ให้หดตัวอยู่ในกรอบร้อยละ 0.5-1.0 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากภัยแล้งจะกระทบต่อภาคการผลิตในประเทศแล้ว ยังส่งผลต่อเนื่องถึงภาคการส่งออกที่อาจขาดแคลนผลผลิตเพื่อการส่งออก ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่ความต้องการในตลาดโลกชะลอตัวลง

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังระบุว่า ผลกระทบในเบื้องต้นของสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2563 อาจทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจราว 17,000-19,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นราวร้อยละ 0.10-0.11 ของ GDP ทั้งนี้ ยังต้องติดตามระดับความรุนแรงของภัยแล้ง โดยเฉพาะในเดือนมีนาคม-เมษายน และระยะเวลาการเกิดภัยแล้งที่อาจลากยาวไปในช่วงแล้งนอกฤดูกาล จนไปกระทบต่อภาพรวมความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งปีนี้ให้อยู่ในภาวะวิกฤติมากขึ้น

รศ.ดร.เสรี กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในช่วงต้นฝน หากฝนไม่มา หากคนไม่มีน้ำกินน้ำใช้ ในช่วงกลางปี ภาคเหนือ อีสาน ส่วนภาคกลางและภาคใต้ อาจจะน้ำท่วมได้ นี่คือคำคาดการณ์ ต้องรู้ตัวเองไว้ก่อน เพราะการประปาส่วนภูมิภาค ตอนนี้เริ่มเหนื่อยแล้ว

“จะเห็นว่าทุกคนได้รับผลกระทบหมด ดังนั้น ต้องเริ่มต้นจากตัวเองก่อน ช่วยกันปลูกต้นไม้ ซึ่งไม่รู้จะทันหรือไม่ แต่ก็ต้องทำ นอกจากนั้น ภาคธุรกิจก็ต้องช่วยกัน แม้เราจะไม่ได้รับผลกระทบ แต่หากภัยมาเราก็ช่วยเพื่อนบ้าน และช่วยกันเอง สิ่งสำคัญ คือ ต้องเริ่มจากตัวเอง” รศ.ดร.เสรี กล่าวทิ้งท้าย