ฟาร์มไก่ ปารีณา สู่ความเท่าเทียมในการบังคับใช้กม.ที่ดินป่าไม้?

ฟาร์มไก่ ปารีณา สู่ความเท่าเทียมในการบังคับใช้กม.ที่ดินป่าไม้?

ผู้เชี่ยวชาญด้านป่าไม้ แนะฝ่ายนโยบายกำหนดนโยบายการดำเนินคดีการบุกรุกป่าและที่ดิน ส.ป.ก.ให้ชัด, ชี้ ตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องมีความชัดเจนอยู่แล้ว แทบไม่จำเป็นต้องส่งกฤษฎีกาตีความ

หลังจากที่กรมป่าไม้และสำนักงานปฎิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้ดำเนินการตรวจสอบที่ดินของ ส.ส. ปารีณา ไกรคุปต์ พรรคพลังประชารัฐ ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี เมื่อปลายปีที่ผ่านมา และพบความผิดปกติ จนนำไปสู่การดำเนินคดีและการส่งตีความข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นของพื้นที่ทับซ้อนทางอำนาจรับผิดชอบระหว่างกรมป่าไม้และ ส.ป.ก. ที่ถูกครอบครองทำเป็นฟาร์มไก่และปศุสัตว์ของ ส.ส.คนดังกล่าว กว่า 700 กว่าไร่ นั้น
ทางด้าน ผศ.ดร. ขวัญชัย ดวงสถาพร กรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหัวหน้าภาควิชาการจัดการป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  กล่าวว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎหมายป่าไม้ ปี 2484 ได้เขียนไว้ชัดเจนถึงพื้นที่ที่มีพระราชกำหนด กำหนดเขตปฏิรูปฯ ที่ยังไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของ ส.ป.ก. ว่ายังคงเป็นพื้นที่ป่าไม้ตามกฎหมาย และหากมีการบุกรุกทำลาย จึงมีความผิดตามมาตรา 54 ว่าด้วยการบุกรุกแผ้วถางและครอบครองป่าโดยมิชอบ
158305282519
ซึ่งในประเด็นนี้ ทาง สคก. ได้ตีความเอาไว้ในข้อคำถามที่ 6 ในประเด็นคำถามรวม 6 ประเด็นที่กรมป่าไม้ได้ยื่นส่งไปเมื่อกลางเดือนธันวาคมปลายปีที่ผ่านมา และได้รับการตอบรับจากทาง สคก. เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้
โดย สคก.ได้ตีความว่า พื้นที่ลักษณะดังกล่าว ไม่มีการประกาศในพระราชกิจจานุเบกษายกเว้นให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม และยกเว้นมาตรา 54 แต่อย่างใด
นอกจากนั้น สคก. ยังได้ตีความสถานะของพื้นที่เพิ่มเติมในประเด็นที่ 2 ว่าด้วยสถานะที่ทับซ้อนของพื้นท่าสงวนและ ส.ป.ก โดยตีความว่า หากพื้นที่ป่าสงวนที่ทางกรมป่าไม้ได้ส่งมอบให้แก่ ส.ป.ก แม้ว่าจะมีพระราชกำหนดประกาศเขตปฏิรูปที่ดินฯ แล้ว หาก ส.ป.ก ยังไม่ได้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีแผนงานและงบประมาณอนุมัติ ให้ถือว่า พื้นที่ลักษณะดังกล่าว ยังเป็นป่าสงวนฯ และกรมป่าไม้มีอำนาจในการดำเนินคดีตามกฎหมายป่าไม้ได้หากมีการทำผิดกฎหมาย และในส่วนของ ส.ป.ก. สามารถเข้าแจ้งความในฐานะผู้เสียหายตามกฎหมาย ส.ป.ก. ได้ ซึ่งประเด็นนี้ เป็นที่มาของการส่งยื่น สคก.ตีความ เนื่องจากมีบทลงโทษที่รุนแรงต่างกัน โดยกฎหมายป่าไม้จะมีบทลงโทษที่รุนแรงกว่า
“ในความคิดของผม สถานะของพื้นที่ลักษณะดังกล่าวมันเคลียร์ตั้งนานแล้ว ไม่ใช่เราเพิ่งมีเคสนี้เป็นเคสแรก ก่อนหน้านี้เป็นหลายปีเราก็เคยมีคดีคล้ายๆอย่างนี้มาแล้ว ซึ่งไม่ว่าจะตีความกฎหมายไหน มันก็เท่ากับมีความผิดในกฎหมายที่ว่านี้ แล้วยังมีกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (ห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐ)” ผศ.ดร. ขวัญชัยกล่าว
ผศ.ดร. ขวัญชัย กล่าวว่า จึงไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะไม่ดำเนินคดีในกรณีที่ดินของ ส.ส. ปารีณา และยิ่งไปกว่านั้น สังคมกำลังจับตาว่า หน่วยงานจะดำเนินการอย่างไรกับที่ดินในลักษณะดังกล่าวทั่วประเทศเพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เพราะหลังการตีความ กฎหมายยิ่งมีความชัดเจน หากทำอะไรไม่ได้ เท่ากับ กระบวนการยุติธรรมในการดำเนินคดีด้านที่ดินป่าล้มเหลว
“จริงๆมันก็เป็นคำถามอยู่แล้วนะกับการส่ง สคก. ตีความคราวนี้ ว่าแล้วที่ผ่านๆมา หน่วยงานปฏิบัติบนความไม่กระจ่างของกฎหมายอย่างนั้นหรือ ถ้าเป็นอย่างนั้น ทำไมเพิ่งมาทำให้ชัดเจนตอนนี้ แล้วที่ผ่านมาคืออะไร” ผศ.ดร.ขวัญชัยกล่าว
ผศ.ดร. ขวัญชัยกล่าวว่า เรื่องดังกล่าว ประชาชนสนใจเป็นจำนวนมาก และกำลังจับตาถึงความไม่เป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมาย แนวทางการบังคับใช้กฎหมายจากนี้จะเป็นที่จับตาของคนในสังคมว่าจะมีแนวทางปฏิบัติอย่างไรที่เป็นบรรทัดฐาน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ผศ.ดร.ขวัญชัยกล่าว
อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร. ขวัญชัยกล่าวว่า การดำเนินคดีและการอำนวยความยุติธรรม ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวบทกฎหมาย หรือการบังคับใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียว ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ ฝ่ายการเมืองและนโยบายที่มักส่งผลต่อการทำงานของผู้ปฏิบัติ ซึ่งเขาตั้งข้อสังเกตว่า กรณีที่ดิน ของ ส.ส. ปารีณา ยังไม่ปรากฏว่าฝ่ายนโยบายออกมาให้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนหลังข้อกฎหมายได้รับการตีความแล้วอย่างชัดเจนเช่นนี้
ผศ.ดร.ขวัญชัย กล่าวว่า การแก้ปัญหาที่ดินและป่าไม้ เป็นปัญหาใหญ่ที่ฝ่ายนโยบายจำเป็นต้องลงมาแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีดังกล่าว ได้สะท้อนปัญหาสำคัญของที่ดินของรัฐคือ อำนาจที่ทับซ้อน ไม่เป็นเอกภาพ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มากกว่าความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน
ทั้งนี้ รัฐบาลเริ่มตระหนักในประเด็นปัญหาดังกล่าว และอาจมีการหยิบยกการจัดทำแนวเขตที่ดินรัฐ หรือ One Map ขึ้นมาพูดคุยเพื่อให้เป็นแนวทางช่วยแก้ไขปัญหาด้วยอีกทางหนึ่งเร็วๆนี้ ผศ.ดร.ขวัญชัยกล่าว
การแก้ปัญหาเรื่องการบุกรุกครอบครอบที่ดินป่าไม้ ผศ.ดร. ขวัญชัยกล่าวว่า ความท้าทายที่สำคัญอยู่ที่จะทำให้มีการจัดการอย่างรับผิดชอบได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนโยบาย ฝ่ายข้าราชการ หรือแม้แต่ประชาชนเองก็ตาม
หากกรณีที่ดิน ของ ส.ส. ปารีณา ไม่สามารถนำไปสู่สิ่งดังกล่าวได้ ผศ.ดร.ขวัญชัยแนะว่า ถึงเวลาที่ต้องปฏิรูป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระบวนการยุติธรรมในการจัดการกับปัญหาบุกรุกที่ดินป่าไม้ของประเทศ
ข้อกล่าวหาการบุกรุกที่รัฐของ ส.ส.ปารีณา เกิดขึ้นเมื่อมีการตรวจสอบในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา พบว่า ฟาร์มไก่เกือบ 700 ไร่นี้ ตั้งอยู่ในเขตปฎิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ป่าฝั่งซ้ายของแม่น้ำภาชีที่กรมป่าไม้ส่งมอบให้ทาง ส.ป.ก.เอามาปฏิรูปฯ แต่กลับมีประเด็นข้อกฎหมายที่คุลมเครือไม่ชัดเจนถึงสถานะที่แท้จริงของที่ดินว่า ยังเป็นป่าหรือเป็นที่ดิน ส.ป.ก. โดยสมบูรณ์แล้ว ซึ่งจะส่งผลต่อการดำเนินคดีตามกฎหมายต่อ ส.ส. ปารีณา แตกต่างกันไป โดยกฎหมายป่าไม้จะมีความเข้มข้นกว่าพร้อมโทษจำคุก นำมาซึ่งการส่งตีความข้อกฎหมายดังกล่าว จนได้ข้อสรุปว่าเป็นป่าสงวนแห่งชาติ และกรมป่าไม้ดำเนินคดีกับ ส.ส. ปารีณา ในพื้นที่หนึ่งในสามแปลงที่ตรวจยึดล่าสุด รวมทั้งหมด 665 ไร่
นอกจากนี้ ยังมีที่ดินป่าไม้ข้างเคียงอีกกว่า 40 ไร่ ที่กรมป่าไม้ตรวจสอบและพบว่าเป็นการบุกรุกป่า จึงดำเนินคดีแยกอีกหนึ่งคดีไปแล้ว
ส.ป.ก ได้รับมอบพื้นที่จากกรมป่าไม้ในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมาไม่ต่ำกว่า 30 ล้านไร่ และยังคงทยอยปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรที่ยากไร้ โดยยังมีข่าวการครอบครองพื้นที่โดยมิชอบโดยผู้มีอำนาจและอิทธิพลในวงการต่างๆ อยู่เป็นระยะ