'ดร.สามารถ' ชี้ไม่เกินคาด! แจงกลางสภา ตามโผ ทอท. อุ้ม 'เทอร์มินัล 2 ตัดแปะ'

'ดร.สามารถ' ชี้ไม่เกินคาด! แจงกลางสภา ตามโผ ทอท. อุ้ม 'เทอร์มินัล 2 ตัดแปะ'

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ชี้ไม่เกินคาด! แจงกลางสภา ตามโผ ทอท. อุ้ม "เทอร์มินัล 2 ตัดแปะ"

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ก ระบุว่า ไม่เกินคาด!
แจงกลางสภา ตามโผ ทอท. อุ้ม "เทอร์มินัล 2 ตัดแปะ"

หลังจากคุณไชยา พรหมา ส.ส.จังหวัดหนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรด้วยการแฉให้เห็นถึงความไม่เหมาะสมของโครงการขยายอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 หรือเทอร์มินัล 1 ด้านทิศเหนือ (North Expansion) ในสนามบินสุวรรณภูมิ หรือที่เรียกกันว่า เทอร์มินัล 2 ตัดแปะ แทนการขยายด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 ผมก็คาดการณ์ล่วงหน้าได้ทันทีว่าผู้ที่มีหน้าที่ชี้แจงในประเด็นนี้ คงจะต้องชี้แจงต่อสภาตามแนวทางเดียวกับที่ผู้บริหารของบริษัท ท่าอากาศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ได้ตอบโต้นักวิชาการและสื่อมวลชนในประเด็นเดียวกันนี้โดยตลอดมา และใช้รูปประกอบคำชี้แจงเป็นเช่นเดียวกันอย่างแน่นอน

การคาดการณ์ของผมไม่ผิด เพราะเมื่อได้ชมและฟังคำชี้แจงของ รมว.คมนาคม ปรากฏว่ามีเนื้อหาสาระเป็นอย่างที่ผมคิดไว้จริงๆ ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

1. การก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือจะทำให้สนามบินสุวรรณภูมิรองรับผู้โดยสารได้ถึง 150 ล้านคนต่อปี

ผมขอโต้แย้งว่าเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับความเป็นจริง เพราะผลการศึกษาขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) พบว่า หากต้องการให้สนามบินสุวรรณภูมิรองรับผู้โดยสารได้ถึง 150 ล้านคนต่อปี จะต้องมีรันเวย์ไม่น้อยกว่า 6 เส้น แต่ตามแผนแม่บทสนามบินสุวรรณภูมิมีรันเวย์เพียง 4 เส้นเท่านั้น หากต้องการสร้างรันเวย์เพิ่มอีก 2 เส้น ทอท.จะต้องเวนคืนที่ดินเพิ่มอีก 9,012 ไร่ ซึ่งยากที่จะทำได้ ดังนั้น การก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือโดยไม่ก่อสร้างรันเวย์เพิ่มอีก 2 เส้น จะไม่ช่วยทำให้สนามบินสุวรรณภูมิรองรับผู้โดยสารได้ถึง 150 ล้านคนต่อปี อย่างแน่นอน

2. ส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือจะรองรับผู้โดยสารได้ถึง 45 ล้านคนต่อปี

ผมขอโต้แย้งว่า กรณีดังกล่าวเป็นไปไม่ได้ที่ส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือจะรองรับผู้โดยสารได้ถึง 45 ล้านคนต่อปี เนื่องจากมีหลุมจอดประชิดอาคารเพียง 14 หลุมเท่านั้น อีกทั้ง หลุมจอดเหล่านี้เป็นหลุมจอดเดิม ไม่ได้สร้างเพิ่มขึ้นมาใหม่ อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ทอท.เคยบอกว่าส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือจะรองรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคนต่อปี แต่ไม่มีรายการคำนวณมายืนยัน ทำให้เป็นที่สงสัยว่าจะรองรับผู้โดยสารตามที่บอกไว้ได้จริงหรือไม่ มาบัดนี้คุยว่าจะรองรับได้ถึง 45 ล้านคนต่อปี จึงทำให้น่ากังขามากยิ่งขึ้น

เมื่อเปรียบเทียบกับอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT1) ซึ่งกำลังก่อสร้างอยู่ในขณะนี้ โดยมีหลุมจอดประชิดอาคาร 28 หลุม ทอท.ระบุว่าจะรองรับผู้โดยสารได้ 15 ล้านคนต่อปี นั่นคือ 1 หลุมจอด จะรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 5 แสนคนต่อปี ดังนั้น ส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือที่มี 14 หลุมจอด จะรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 7 ล้านคนต่อปี เท่านั้น

3. การขยายด้านทิศเหนือมีข้อได้เปรียบมากกว่าการขยายด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก

ผมขอโต้แย้งว่าไม่จริง เพราะการเปรียบเทียบที่มีการแสดงในสภานั้น อาจทำให้ผู้ชมเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ เช่น

3.1 ส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือจะทำให้มีรถไฟฟ้าไร้คนขับ (APM) เพิ่มขึ้น 2 สาย แต่หากขยายด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกจะไม่มี APM เพิ่มขึ้น

ในความเป็นจริง การมี APM เพิ่มขึ้นนั้นไม่ใช่เป็นข้อได้เปรียบแต่เป็นข้อเสียเปรียบ เพราะผู้โดยสารต้องใช้ APM หลายสาย ทำให้สับสน วุ่นวาย เสียเวลา และทำให้ ทอท.สิ้นเปลืองเงินทองในการก่อสร้างและบริหารจัดการเดินรถ APM โดยไม่จำเป็น

3.2 ส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือมีหลุมจอดประชิดอาคารเพิ่มขึ้น 14 หลุม แต่หากขยายด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกจะไม่มีหลุมจอดประชิดอาคารเพิ่มขึ้น

ข้อมูลที่ถูกต้องก็คือส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือมีหลุมจอดประชิดอาคาร 14 หลุม ซึ่งเป็นหลุมจอดเดิมที่เปลี่ยนจากหลุมจอดระยะไกลเป็นหลุมจอดประชิดอาคาร นั่นหมายความว่าในภาพรวมหลุมจอดไม่ได้เพิ่มขึ้น ในขณะที่การขยายด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกจะมีหลุมจอดประชิดอาคารเพิ่มขึ้น 28 หลุม ซึ่งกำลังก่อสร้างอยู่รอบๆ SAT1 เพื่อรองรับผู้โดยสารจากเทอร์มินัล 1 รวมทั้งส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก

3.3 ส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือจะทำให้ได้พื้นที่จอดรถและพื้นที่สำนักงานเพิ่มขึ้น ในขณะที่การขยายด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกจะไม่มีพื้นที่จอดรถและพื้นที่สำนักงานเพิ่มขึ้นเลย

กรณีนี้ก็เป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้เพราะข้อเท็จจริงก็คือการขยายด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกก็มีพื้นที่จอดรถและพื้นที่สำนักงานเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน เนื่องจากขณะนี้กำลังมีการก่อสร้างอาคารจอดรถ 6 ชั้น พื้นที่ 30,000 ตารางเมตร และอาคารสำนักงาน 6 ชั้น (รวมชั้นใต้ดิน 1 ชั้น) พื้นที่ 50,000 ตารางเมตร เพื่อรองรับการขยายด้านทิศตะวันออกอยู่แล้ว

4. การพัฒนาที่ดินแปลง 37 ในสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือให้เป็นเมืองการบิน (Airport City) ประกอบด้วยหลากหลายกิจกรรม เช่น ศูนย์การค้า โรงแรม ศูนย์การประชุม อาคารสำนักงาน ศูนย์แสดงสินค้าส่งออก และแหล่งบันเทิงครบวงจร เป็นต้น ซึ่งเป็นสาเหตุให้มีการตั้งคำถามว่า ทอท.ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อทำภารกิจการบินหรือภารกิจอะไรกันแน่นั้น เป็นไปตามแผนพัฒนาเดิม ไม่ได้คิดขึ้นมาใหม่

ผมขอโต้แย้งว่าไม่จริง เนื่องจากแผนพัฒนาเดิมของที่ดินแปลง 37 นั้น ไม่ได้ระบุว่าเป็นแหล่งพาณิชยกรรมดังกล่าว แต่เป็นพื้นที่ที่สำรองไว้สำหรับการพัฒนาที่เกี่ยวกับการบิน

ดังนั้น หากพิจารณาตามหลักวิชาการและข้อเสนอแนะของนักวิชาการและองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบด้วยใจเป็นธรรมจะพบว่า การขยายด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกมีข้อได้เปรียบมากกว่าการขยายด้านทิศเหนือ กล่าวคือ (1) ใช้เงินน้อยกว่ามากถึงประมาณ 30,000 ล้านบาท (2) ใช้เวลาน้อยกว่าประมาณ 4 ปี (3) ได้ความจุเพิ่มขึ้นแน่นอน 30 ล้านคนต่อปี และ (4) ไม่ทำให้เกิดปัญหาต่อผู้โดยสารตามมา

ถ้าผู้มีอำนาจในการพิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการนี้จะได้กลั่นกรองด้วยข้อมูลจากทุกฝ่าย ไม่รับฟังข้อมูลจาก ทอท.เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น ก็จะเห็นได้ชัดว่าการขยายด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกมีความเหมาะสมและมีประโยชน์ต่อประเทศชาติมากกว่าการขยายด้านทิศเหนืออย่างไม่ต้องสงสัย

ผมในฐานะนักวิชาการและประชาชนผู้รักชาติรักแผ่นดินที่ได้ติดตามเรื่องนี้โดยตลอดมา จึงอยากเห็นประชาชนชาวไทยได้รับประโยชน์สูงสุดจากส่วนต่อขยายเทอร์มินัล 1 โดยที่รัฐเสียงบประมาณน้อย แต่ได้ผลประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนอย่างคุ้มค่ากับภาษีของประชาชน ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านผู้มีอำนาจในเรื่องนี้จะได้พิจารณาอย่างรอบคอบบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ตรงตามหลักวิชาการที่นานาอารยประเทศถือปฏิบัติกันทั่วโลก ก่อนที่ท่านจะตัดสินใจดำเนินการในเรื่องนี้ตามข้อเสนอแนะและ/หรือ แนวทางของ ทอท. ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดข้อกังขากับนักวิชาการรวมตลอดถึงองค์กรวิชาชีพ และประชาชนที่ทักท้วงและวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้อีกต่อไป